เรียนรู้แนวพระราชดำริป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

เรียนรู้แนวพระราชดำริป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

 

 

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

เรียนรู้แนวพระราชดำริป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล
 
 
พายุเตี้ยนหมู่ แม้จะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นพัดเข้าประเทศไทย แต่ก็ทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสานเกือบ40 จังหวัดน้ำท่วมขังทำบ้านเรือน และพืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก น่าเห็นใจพี่น้องไทยทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม เป็นคราวเคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤตจากโควิดยังดำรงอยู่ จู่ๆน้ำท่วมจากพายุเตี้ยนหมู่ก็เข้ามาซ้ำเติมอีก
 
ขณะนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนได้รับมวลน้ำปริมาณมหาศาลที่ไหลทะลักจากภาคเหนือลงสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ซึ่งมีเขื่อนเจ้าพระยาเป็นปราการแบ่งน้ำไปฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออก ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยากำลังเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งหลายจังหวัด ได้แก่ ชัยนาทสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี
นนทบุรี และกรุงเทพมหานครตอนนี้ทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมเต็มอัตราศึก ทำให้นึกถึงน้ำท่วมใหญ่ กทม.ปี2554 ซึ่งปีนี้ครบ10ปีพอดี แม้ว่าสถานการณ์จะต่างกันเพราะเมื่อปี2554 พายุเข้ามาถึง 5 ระลอกทำให้น้ำล้นเขื่อนทางภาคเหนือ จนต้องปล่อยน้ำทิ้งป้องกันเขื่อนแตก ทำให้หลีกเลี่ยงน้ำท่วมใหญ่ไม่ได้ แต่ปีนี้เขื่อนยังรับน้ำได้อยู่ ทำให้เมืองปลายน้ำ
 
อย่างกทม.ไม่ตกอกตกใจอย่าง10ปีที่แล้วก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่ควรประมาทเพราะน้ำท่วมปี 2554 เกิดปลายเดือนตุลาคม ถ้าปีนี้มีพายุตามมาอีกสัก2-3ลูก กรุงเทพฯก็จะมีลุ้นว่าน้ำจะท่วมระดับน้องๆ ปี2554หรือไม่
 
โดยเฉพาะขณะนี้น้ำจากพื้นที่รอบๆ กทม.ก็มาจ่อคอหอยอยู่แล้ว และน้ำต้องหาทางไปทะเล หากเราไม่ได้เตรียมเส้นทางให้น้ำไหลไปทะเลให้เร็วที่สุด น้ำก็จะท่วมขังใน กทม. และปริมณฑล ยิ่งถ้าเกิดฝนตกหนักซ้ำเข้าอีกหลายชั่วโมง หลายวันติดต่อกันทำให้น้ำไหลไม่ทัน ประกอบกับเจอน้ำทะเลหนุน กทม. หลายพื้นที่ก็อาจจะจมน้ำได้เช่นกัน
 
ดิฉันทราบจากเพื่อนรุ่นน้องในกรมอู่ทหารเรือ ที่เมื่อ10ปีที่แล้วเราเคยร่วมมือปฏิบัติการผลักดันน้ำในพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯด้วยกันมาก่อน ทราบว่าในปีนี้ทหารเรือก็ได้รับการร้องขอเรือผลักดันน้ำไปวางทั้งในจังหวัดลพบุรี และจังหวัดสมุทรปราการเพื่อเร่งน้ำให้ไหลเร็วขึ้นโดยกองทัพเรือได้ส่งเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำท่วมขังตามแนวคันก้ันน้ำฝั่งตะวันออก(King Dike)อันเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมสูงในพื้นที่สำคัญฝั่งตะวันออก และแนวพระราชดำรินี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ป้องกันน้ำท่วมในทุกพื้นที่ทุกจังหวัดด้วย
ดิฉันนึกถึงประสบการณ์เมื่อ10ปีก่อน ช่วงที่น้ำท่วมกรุงเทพฯในปี2554 ขณะนั้นดิฉันยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาของกทม.อยู่ ดิฉันเป็นคนฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ที่ รัฐบาลสมัยนั้นตัดสินใจปล่อยให้น้ำท่วม เพราะนักวิชาการทุกคนบอกว่าเมื่อน้ำข้ามทางรถไฟสายใต้แถวศาลายาแล้ว น้ำต้องท่วมแน่นอนฝั่งตะวันตกรัฐบาลตัดสินใจทิ้งถนนพระราม2 ที่เป็นเส้นทางคมนาคมเศรษฐกิจสายสำคัญที่ลงใต้ โดยรัฐบาลจะไปกู้ถนนสาย340 หรือถนนสายบางบัวทอง-ชัยนาท เพื่อเป็นเส้นทางอ้อมลงภาคใต้แทนซึ่งมีระยะทางไกลขึ้นเป็นร้อยกิโลเมตร
 
สมัยนั้นผู้บริหารกทม.มุ่งไปเซฟ กทม.ฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯตามคำสั่งรัฐบาล ดิฉันสนิทกับคุณหมอมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่ากทม. พอดิฉันมาขออนุญาตท่านว่าจะทำเรื่องเรือผลักดันน้ำในคลองแนวดิ่ง ท่านอนุญาตและให้สำนักระบายน้ำมาช่วยดูแล อำนวยความสะดวกให้อีกด้วย
 
ครั้งนั้นดิฉันเชิญชาวบ้านริมคลองฝั่งธนบุรีมาหารือว่าเราจะทำอะไรกันได้บ้าง ที่ไม่ต้องเป็นเหยื่อน้ำท่วมเฉยๆโดยไม่ทำอะไร สิ่งที่ชาวบ้านแนะนำนั้นน่าสนใจ เขาบอกว่าเสด็จพ่อ ร.9ทรงมีแนวพระราชดำริป้องกันน้ำท่วมทางฝั่งธนบุรีไว้ ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี2526 โดยอาศัยคลองแนวดิ่งหลายคลองเป็นเส้นทางระบายน้ำเช่น คลองพระยาราชมนตรี ซึ่งสุดทางคลองพระยาราชมนตรีมีเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่หลายสิบเครื่องที่สูบน้ำออกไปยังพื้นที่แก้มลิงและลงสู่ทะเล แต่เมื่อลงไปสำรวจเกือบทุกคลองตื้นเขิน มีขยะทับถม บางทีก็มีโซฟา หรือฟูกขนาดใหญ่ลอยขวางในคลอง ในขณะที่ถนนทุกสายทั้งบรมราชชนนี ถนนเพชรเกษมน้ำท่วมขังแต่ในคลองแห้ง ไม่มีน้ำที่จะไหลไปให้เครื่องสูบน้ำสูบออกทะเล
 
จากคำแนะนำของชาวบ้านและเราได้ทดลองทำเครื่องผลักดันน้ำแบบเอาถังน้ำมันมาต่อกันและใช้เครื่องเรือหางยาวปั่นให้น้ำไหลเร็วขึ้น ดิฉันได้อาศัยที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐมนตรีธีระ วงศ์สมุทรขอยืมเรือผลักดันน้ำของกรมชลประทาน และขอความช่วยเหลือไปทางกรมอู่ทหารเรือ และอาศัยรุ่นพี่ที่เป็นส.วสายทหารขอกำลังทหารช่างมาช่วยลอกคลองเอาพวกพืชน้ำที่ทับถมและเสาต่อม่อเก่าออก เพื่อเคลียร์สิ่งกีดขวางทางน้ำ
 
 
 
 
 
 
จากความร่วมมือกันหลายฝ่ายทั้งหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และประชาคมคนริมคลองฝั่งธนบุรีในการช่วยผลักดันน้ำในครั้งนั้น เราได้สร้างปาฏิหารย์ทำให้น้ำไม่ท่วมถนนพระราม2 ด้วยหลักการที่ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงวางแนวทางไว้แล้วก็คือมีพื้นที่รับน้ำโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่ทะเลและจากการประสานหลายหน่วยงานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในคลองต่างๆที่ตัดผ่านถนนพระราม2เร่งระบายน้ำเข้าสู่ พื้นที่แก้มลิงทำให้ระดับน้ำลดลงไม่ท่วมถนนพระราม2
 
เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2564 ข่าวสื่อมวลชนรายงานว่า “น.อ.อัศมัย นรินรัตน์ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำของกองทัพเรือ พร้อมกำลังพลสังกัดกรมอู่ทหารเรือ พระจุลจอมเกล้า ได้นำเรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำเข้าประจำการตามคลองต่าง ๆ จุดระบายน้ำที่สำคัญรวม 5 จุด ได้แก่ คลอง 4 ต.บางปลา , คลองสุวรรณภูมิ หน้าสนามบินสุวรรณภูมิ ต.บางโฉลง , คลองกิ่งแก้ว คลองขุด ต.บางพลีใหญ่ และ คลองสำโรง โดยจะทำการผลักดันน้ำวันละ 16-20 ชั่วโมงต่อวัน รองรับปริมาณน้ำที่จะระบายลงมาจากหลายจังหวัด ทั้ง อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งภารกิจผลักดันน้ำจะสามารถเพิ่มการไหลเวียนของมวลน้ำไปยังประตูระบายน้ำได้เร็วขึ้น โดยเรือผลักดันน้ำจะทำงาน 16-20 ชั่วโมงต่อวัน “
 
ดิฉันเห็นว่ากทม. ซึ่งเป็นจังหวัดปลายทางน้ำก่อนน้ำไหลลงทะเล ต้องประสานร่วมมือกับจังหวัดอื่นที่เป็นทางผ่านของน้ำ ด้วยการเตรียมเส้นทางให้น้ำไหลลงทะเลให้สะดวกที่สุด เร็วที่สุดคือระบายน้ำผ่านคลองแนวดิ่งจำนวนมากในฝั่งตะวันตก และผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งตะวันออก ถ้าทำได้เร็ว น้ำจะไม่ท่วมขังพี่น้องในแต่ละจังหวัดนานเกินไป และถ้าน้ำต้องผ่านกทมฯเพื่ออกทะเล เราต้องอำนวยความสะดวกให้น้ำผ่านไปเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังในกทม.เป็นเวลานานจนก่อความเดือดร้อน และความเสียหายทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกทม.
รสนา โตสิตระกูล
28 กันยายน 2564