โฆษก ก.พลังงานปฏิเสธเวที ”คุยให้รู้เรื่อง”ช่อง11 เรื่องน้ำมันแพงร่วมกับรสนา เพราะเหตุใด!?
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
โฆษก ก.พลังงานปฏิเสธเวที ”คุยให้รู้เรื่อง”ช่อง11 เรื่องน้ำมันแพงร่วมกับรสนา เพราะเหตุใด!?
ดิฉันได้รับการติดต่อจาก “รายการคุยให้รู้เรื่อง” ของNBT หรือช่อง11 มาพูดคุยเรื่องราคาน้ำมันแพง ในวันจันทร์ที่11 ตุลาคม 2564 เวลา 21.30น. แต่วันนี้เจ้าหน้าที่ที่ติดต่อดิฉัน บอกขออภัยที่ต้องยกเลิกรายการนี้ไปก่อน เพราะโฆษกกระทรวงพลังงานไม่พร้อมออกรายการกับดิฉัน กำลังหาวิทยากรรายอื่นที่โฆษกกระทรวงพลังงานจะยอมพูดด้วย ดิฉันรู้สึกแปลกใจมากที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานไม่พร้อมพูดคุยกับดิฉันเพื่อตอบคำถามให้ประชาชนคนดูได้เข้าใจเหตุผลของราคาน้ำมันแพงเพราะอะไร !? ทั้งที่ดิฉันเองมีสถานะเคยเป็นรองประธานในคณะกรรมาธิการพลังงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
เมื่อไม่มีโอกาสนำข้อเสนอต่อท่านโฆษกของกระทรวงพลังงานผ่านไปถึงผู้บริหารและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ดิฉันก็ขอใช้เฟซบุ๊ค และเพจ นำเสนอข้อคิดเห็นในการลดราคาน้ำมัน ที่ให้ความเป็นธรรมต่อประชาชน ไม่ใช่อุ้มแต่ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเท่านั้น
วันนี้เป็นวันแรกของการปรับลดสูตรผสมจาก B7 และ B10 เหลือเป็น B6 ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานประกาศทดลองใช้ในระยะสั้น ตั้งแต่11-31 ตุลาคม น่าจะเรียกว่ามาตรการลดกระแสความไม่พอใจสังคม แต่ไม่มีอะไรยั่งยืน และวันนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) ก็ประกาศลดราคาน้ำมันดีเซล B7 และ B10 ลง2บาท/ลิตร โดยเอากองทุนน้ำมันจากกระเป๋าคนใช้เบนซินมาชดเชยให้คนใช้ดีเซลเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลคุมราคาดีเซลไม่เกิน 30บาทได้สำเร็จ
มาตรการลดราคาเพิ่มราคาน้ำมัน อย่างการจัดการให้ดีเซลให้มีราคาไม่เกิน30บาท ครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่เป็นประจักษ์พยานว่าราคาน้ำมันของประเทศไทยไม่ใช่กลไกตลาดเสรีอย่างที่กล่าวอ้างกันอยู่เสมอ แต่เป็นกลไกการจัดการเล่นกลด้านราคาที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนพลังงานเป็นหลัก เป็นกลไกราคาที่เกิดจากการคิดคำนวณ บวก ลบ คูณ หาร แต่เป็นการคิดบวกลบคูณหารที่เอาจากกระเป๋าประชาชนให้มากที่สุด ใช่หรือไม่ !?
กองทุนน้ำมันที่เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นกองทุนรักษาระดับกำไรของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งเคยเป็นกองทุนที่ผิดกฎหมาย ที่เก็บเงินคนใช้น้ำมันโดยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้เก็บ ในที่สุดเมื่อประชาชนตรวจสอบและผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือไปถึงพล.อประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี แจ้งว่าตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกองทุนที่ไม่มีอำนาจเก็บเงินจากคนใช้น้ำมัน ทำให้เกิดการยกร่างและผ่านเป็นกฎหมายพรบ.กองทุนน้ำมัน2562 ขึ้นมาเพื่อเก็บเงินประชาชนต่อ แต่ในกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่าให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯเมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหมายถึงการนำเงินที่เก็บสะสมจากผู้ใช้น้ำมันไปใช้เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้นจนเกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และกำหนดในบทเฉพาะกาลบัญญัติว่าการชดเชยน้ำมันชีวภาพในช่วงเปลี่ยนผ่านให้ทำได้3ปี (ถ้าจำเป็นให้ต่อได้อีก2ครั้ง ครั้งละ2ปี) และต้องลดการชดเชยลงไปทุกปี ซึ่งนอกจากไม่มีการปฏิบัติแล้ว ยังล้วงเงินกองทุนน้ำมันชดเชยไม่มากขึ้นอย่างไม่บันยะบันยัง เรียกว่าดูดเงินจากกองทุนน้ำมันมาอุ้มโรงกลั่นและผู้ประกอบการด้านแก๊สแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้มเต็มที่ ภ้าเงินในกองทุนฯไม่พอก็เตรียมกู้เพิ่ม เป็นการดูดซับเงินประชาชนเต็มที่ก่อนที่จะหมดอายุตามกฎหมายกองทุนน้ำมันฯ ใช่หรือไม่?!
ในยุคของพล.อประยุทธ์ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกถูกมากจนไม่ต้องชดเชยราคาน้ำมันให้ประชาขน แต่ก็เป็นโอกาสให้รัฐบาลได้ถอนขนห่านทองคำ เก็บเป็นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ก็ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสใช้น้ำมันราคาถูกในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง และเอากองทุนน้ำมันไปชดเชยน้ำมันชีวภาพที่ราคาแพงกว่าน้ำมันหลักคือเบนซินกับดีเซล และยังแพงกว่าน้ำมันชีวภาพในตลาดโลก เรียกว่ายิ่งผสมก็ยิ่งแพง ปี2563 ที่เกิดสถานการณโควิด ราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซลเหลือลิตรละ5บาท แต่เอาเอทานอลราคา20กว่าบาทมาผสมเบนซิน เอาบี100ราคา 30กว่าบาทมาผสมดีเซล และล้วงเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชย จนไม่เหลือสำรองไว้ชดเชยให้น้ำมันดีเซลจากตลาดโลกในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกขาขึ้น มีความเป็นธรรมกับประชาชนแล้วหรือ!?
การลดราคาB7และ B10 ลงลิตรละ2บาท โดยดึงเงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปชดเชยน้ำมันดีเซลผสม เป็นกลไกตลาดเสรีหรือไม่!?
การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาน้ำมัน B100 ที่มีราคาอ้างอิงสูงถึง42.87บาท/ลิตร ทั้งที่กบง.รู้ดีว่าโรงกลั่นซื้อบี100โดยการประมูลที่ราคาต่ำสุด แต่ให้เบิกชดเชยเต็มที่ตามราคาอ้างอิง เคยตรวจสอบไหมว่าส่วนต่างตกอยู่ในกระเป๋าใคร ?!
กลไกหลอกลวงประชาชนด้วยการล้วงกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินของประชาชนมาชดเชยดีเซล 2บาทต่อลิตร เป็นการชดเชยทั้งน้ำมันชีวภาพ 42.87 บาทและชดเชยเนื้อน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นที่บวกต้นทุนเทียมเอาไว้ 70สต.-1 บาทต่อลิตร เรียกว่าเป็นการผ่องถ่ายเงินประชาชนอุ้มโรงกลั่น ใช่หรือไม่
ค่าการตลาดดีเซลที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ 1.40บาท ก็สามารถยักย้ายขึ้นลงได้ตามใจเพื่อกำหนดราคาปลายทางที่หน้าปั๊ม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าค่าการตลาดของดีเซล ลิตรละ50สต.ก็อยู่ได้แล้ว หรืออีกทางหนึ่งก็แสดงว่าจะเอาไว้โยกย้ายราคาเนื้อน้ำมันมาใส่ในค่าการตลาดได้ทันที ถ้าไม่ต้องการลดราคาที่หน้าปั๊ม ใช่หรือไม่?
สิ่งที่ดิฉันขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคือ โปรดพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างราคาน้ำมัน และการใช้กองทุนน้ำมันให้เป็นธรรมต่อประชาชน ดังนี้
1)ขอให้การลดราคาดีเซล2 บาทวันนี้ ลดด้วยการลดเก็บสรรพสามิตน้ำมันลง2บาท แทนที่จะล้วงเงินกองทุนน้ำมันที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปชดเชย
การที่รัฐบาลสนับสนุนน้ำมันชีวภาพด้วยนโยบายเพื่อช่วยเกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม รัฐบาลและกระทรวงพลังงานจึงควรใช้ภาษีสรรพสามิตในการกำหนดราคาน้ำมันผสมให้ต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน ดีเซลที่ไม่ผสมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนใช้ โดยควรตรวจสอบราคาที่โรงกลั่นซื้อจริง และกำหนดราคาน้ำมันกลุ่มผสมน้ำมันชีวภาพ ด้วยมาตรการภาษีของรัฐบาลเอง โดยไม่ใช้กองทุนน้ำมันไปชดเชยอีก
ปัจจุบันมีการเก็บภาษีสรรพสามิตในกลุ่มดีเซลผสมน้ำมันชีวภาพสูงมาก ดีเซลB7ลิตรละ 5.99บาท B10 ลิตรละ5.80 บาทและB20 ลิตรละ 5.15บาท ถ้าลดลงลิตรละ2บาท รัฐบาลยังได้ภาษีลิตรละ 3 บาทกว่า รัฐบาลยังได้ภาษีปีละกว่าแสนล้านบาท นี่เป็นภาษีเฉพาะน้ำมันดีเซลสูตรผสมยังไม่ได้รวมภาษีของเบนซิน บางรัฐบาลช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกสูง รัฐบาลเคยเก็บภาษีสรรพสามิตของดีเซลได้แค่ลิตรละ 1สต.เท่านั้นเอง การเอาเงินคนใช้น้ำมันประเภทหนึ่งมาลดราคาน้ำมันอีกประเภทหนึ่ง จึงไม่เป็นธรรมและแสดงว่าไม่มีการลดราคาจริง สิ่งนี้ควรเรียกว่ากลไกเสรี หรือกลไกตบตาชาวบ้านกันแน่ !?
ในพรบ.กองทุนน้ำมัน 2562 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน3ปี 2562-2565 ต้องลดการชดเชยน้ำมันชีวภาพลงไปจนไม่ต้องเอากองทุนน้ำมันไปชดเชย ที่ผ่านมามีแต่แผนยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีการปฏิบัติ รมว.พลังงานและรมว.คลังที่รักษาการ พรบ.กองทุนฯ ฉบับนี้ จึงควรเริ่มทำตั้งแต่บัดนี้ด้วยการใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตในการจูงใจคนใช้น้ำมันสูตรน้ำมันผสมที่มีราคาถูกเพระรัฐบาลลดภาษีให้ เพื่อลดภาระการเอากองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยอุ้มโรงกลั่น ซึ่งก็คือลดภาระบนหลังของประชาชนไปด้วยในตัว
2)ควรยกเลิกน้ำมันE 85 ซึ่งล้วงเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึงลิตรละ 7.13บาท แต่ลดราคาเนื้อน้ำมันผสมได้แค่ 27สต.ต่อลิตรเท่านั้นเมื่อเทียบกับราคาเนื้อน้ำมันผสมที่หน้าโรงกลั่น กับราคาขายปลีกหน้าปั๊ม เงินส่วนใหญ่ชดเชยเป็นภาษีของรัฐบาล 2.70บาท/ลิตร และค่าการตลาดของโรงกลั่นและปั๊ม 4.15บาทต่อลิตร
3)สมควรยกเลิกต้นทุนเทียมในราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลิตรละ 70สต.-1บาทต่อลิตร ที่มาจากตัวเลขสมมติ กล่าวคือ น้ำมันสำเร็จรูปของไทยกลั่นในประเทศไทย แต่กลับสมมติว่ากลั่นที่สิงคโปร์และนำเข้าจากสิงคโปร์ ที่มีต้น
ทุนเทียมที่เป็นค่าขนส่ง บวกค่าประกันภัย บวกค่าน้ำมันหกหล่นระหว่างทางเอาไว้ด้วย
รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานควรปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อให้ประชาชนได้จดจำว่ายังมีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอยู่ ในเมื่อรัฐมนตรีกระทรงการคลังไม่ยอมลดภาษีสรรพสามิต 5บาทช่วยประชาชนระหว่างวิกฤตการณ์โควิด และวิกฤตการณ์น้ำท่วม ก็ไม่ควรใช้เงินประชาชนมาอุ้มโรงกลั่น อุ้มน้ำมันชีวภาพราคาแพง อุ้มต้นทุนเทียมในเนื้อน้ำมันจึงจะเป็นธรรม ใช่หรือไม่??
รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีพลังงานเป็นผู้รักษาการ พรบ.กองทุนน้ำมัน 2562 จึงควรปฏิบัติตามกฎหมายในการแก้ไขโครงสร้างราคาน้ำมันที่บิดเบี้ยว ที่มาเป็นภาระกองทุนน้ำมันให้เสร็จสิ้นก่อนบทเฉพาะกาลบัญญัติให้ยุติการเอาเงินกองทุนฯไปชดเชยน้ำมันชีวภาพจะถึงกำหนดในปี2565 และไม่ควรต่ออายุการใช้กองทุนน้ำมันฯมาชดเชยน้ำมันชีวภาพราคาแพงหลังปี2565อีกต่อไป ขอให้การชดเชยน้ำมันชีวภาพราคาแพงเป็นการชดเชยโดยใช้มาตราการภาษีสรรพสามิตน้ำมันของรัฐบาลเอง จึงจะเป็นธรรมต่อประชาชนที่ใช้น้ำมันและไม่เป็นภาระที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
รสนา โตสิตระกูล
11 ตุลาคม 25