"ราคาน้ำมันไทยแพง เพราะนโยบายเตี้ยอุ้มค่อมของรัฐบาล"

"ราคาน้ำมันไทยแพง เพราะนโยบายเตี้ยอุ้มค่อมของรัฐบาล"

 

 CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล


"ราคาน้ำมันไทยแพง เพราะนโยบายเตี้ยอุ้มค่อมของรัฐบาล"

วันนี้ (5ม.ค 2560) น้ำมันทุกชนิดปรับราคาขึ้นอีก 60 สตางค์/ลิตร ยกเว้นE85 ปรับขึ้นลิตรละ40สตางค์ หลายคนถามทำไมน้ำมันไทยแพงกว่าพม่าทั้งที่พม่าไม่มีโรงกลั่นของตัวเอง 

เบนซิน95ของไทยแพงกว่าพม่าลิตรกว่า 15บาท ดีเซลของไทยก็แพงกว่าพม่าลิตรกว่า8บาท 

สาเหตุที่ราคาน้ำมันไทยแพงและไม่เป็นไปตามกลไกตลาดโลก กลุ่มทุนพลังงานมักอ้างว่าแพงเพราะภาษี แต่สิ่งกลุ่มทุนไม่เคยพูดถึงคือราคาน้ำมันไทยแพงเพราะอยู่ภายใต้กลไกเตี้ยอุ้มค่อม กลไกราคาน้ำมันแพงเกิดจากการจัดการด้วยสูตรราคาเพื่ออุ้มชูกลุ่มทุนพลังงานของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ใช่หรือไม่?

ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดต่ำลงมากว่า2ปีแล้ว แต่กลุ่มทุนพลังงานและข้าราชการที่รัฐบาลเชื่อถือยังอ้างว่าต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันต่อไปเพื่อความมั่นคงในอนาคตของคนไทย จะได้เอากองทุนน้ำมันมาชดเชยตอนราคาน้ำมันแพง แต่แท้จริงแล้ว การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเป็นกระบวนการยักย้ายเงินจากกระเป๋าของประชาชนเข้ากลุ่มทุนพลังงาน ด้วยกลไกการชดเชยน้ำมันเบนซินผสมเอทานอล ใช่หรือไม่?

ลองดูโครงสร้างราคาน้ำมันวันที่ 5 มกราคม 2560 จะเห็นว่าปัจจุบันมีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาจ่ายชดเชยให้กับน้ำมันเพียง2ชนิด คือ

E 85 ชดเชยลิตรละ 9.35 บาท 

E20 ชดเชยลิตรละ 3 บาท

ส่วนน้ำมันชนิดอื่นจะถูกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมากบ้างน้อยบ้าง โดยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากเบนซิน95 สูงที่สุดคือ ลิตรละ 6.31 บาท 

และเก็บภาษีสรรพสามิตจากเบนซิน95สูงสุดอีกเช่นกันคือลิตรละ 6.50บาท และเก็บค่าการตลาดเกินกว่า1.50 บาท/ลิตรซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยด้วยข้ออ้างขายน้อยเลยมีค่าการตลาดสูง

ราคาน้ำมันของไทยจึงไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกอย่างที่ชอบอ้างกัน แต่เป็นไปตามกลไกการจัดการผ่านกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นกองทุนที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ทุกรัฐบาลไม่ยอมยกเลิก 

กระบวนการล้วงกระเป๋าประชาชนเริ่มด้วยการถ่างราคาเบนซิน95 ให้สูงขึ้น จากเนื้อน้ำมันลิตรละ16.8977บาท มีการบวกค่าอะไรต่อมิอะไรเข้าไปอีก18.16 บาท ทำให้ราคาขายปลีกเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 35.06 บาท เพื่อจะได้กำหนดช่วงห่างราคาของน้ำมันชนิดอื่นๆ ให้ดูสมเหตุสมผล ราคาน้ำมันที่ขายในประเทศจึงไม่ได้เป็นไปตามกลไกการแข่งขันแต่อย่างไร แต่เป็นไปตามกำไรที่ต้องการ ผ่านกระบวนการชดเชยราคาน้ำมันที่ผสมเอทานอลสูงๆจากกองทุนน้ำมัน ใช่หรือไม่?

การผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่9 เพื่อช่วยเหลือให้คนไทยได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในราคาต่ำลง โดยพระองค์ท่านทรงมีดำริว่าการเติมเอทานอลลงไปสัก 10% ก็จะช่วยลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างน้อยลิตรละสัก50สตางค์(โดยไม่ต้องมีกองทุนชดเชยแต่อย่างใด)

แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่ายิ่งเติมเอทานอลลงในน้ำมันเบนซินมากเท่าไหร่ ราคากลับแพงมากขึ้นกว่าเบนซินล้วนๆ นี่เป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชประสงค์เริ่มแรกของในหลวงรัชกาลที่9 ใช่หรือไม่?

ดังจะเห็นได้ว่า ราคาเนื้อเบนซิน95 มีราคา16.8977บาท/ลิตร แต่เอทานอลไทยราคาลิตรละ 23.07บาท ราคาเอทานอลสหรัฐ วันที่3 มค.2560 ราคา 1.61 $/1แกลลอน ( 3.785 ลิตร) เท่ากับราคา 15.34 บาท/ลิตร ซึ่งถูกกว่าราคาเอทานอลไทยถึงลิตรละ 7.73 บาท

น้ำมัน E85 ที่มีเบนซินเพียง15% มี
เอทานอล 85% แต่กลับมีราคาลิตรละ 21.5269บาท ซึ่งแพงกว่าน้ำมันเบนซิน95 ถึงลิตรละ4.63บาท เมื่อบวกค่าการตลาดซึ่งสูงถึง 5.4632บาท/ลิตร และภาษี และกองทุนอนุรักษ์พลังงานจึงทำให้ราคาน้ำมัน E 85 มีราคาสูงมากถึงลิตรละ 29.64 บาท 

ราคาน้ำมัน E85 ถ้าเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ย่อมไม่มีคนใช้อย่างแน่นอน จึงต้องใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยถึงลิตรละ 9.35บาท เพื่อลวงตาผู้บริโภคว่ามีราคาถูกเพียงลิตรละ 20.29บาทเท่านั้น

การบริหารราคาน้ำมันแบบนี้ จึงไม่มีทางที่จะยกเลิกกองทุนน้ำมันได้ และข้ออ้างว่าต้องรักษากองทุนน้ำมันไว้เพื่ออนาคตของคนไทย จึงเป็นคำลวงโลก ใช่หรือไม่?

สถานะกองทุนน้ำมันสิ้นสุดณ.1 มค.2560 มีเงินเหลืออยู่ถึง 41,136 ล้านบาท เป็นยอดเงินที่มากเกินไป จึงทำให้ต้องรีบละลายกองทุนให้มากที่สุดด้วยการทั้งขึ้นราคา และนำกองทุนมาชดเชยให้มากที่สุด ใช่หรือไม่?

การกล่าวอ้างว่าต้องชดเชยเอทานอลเพื่อช่วยชาวไร่มันสำปะหลัง ก็เป็นอีกเรื่องที่เอาชาวไร่มันมาบังหน้า ใช่หรือไม่? เพราะเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังมีสัดส่วนประมาณ30% เอทานอลส่วนใหญ่มาจากกากน้ำตาลของธุรกิจโรงงานน้ำตาล ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีมูลค่าราคา แต่เอามาอิงราคากับมันสำปะหลังจึงทำให้กากน้ำตาลเกิดมูลค่าและมีราคาแพงเกินจริง ใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือให้อุตสาหกรรม
เอทานอลยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และแข่งขันได้ ต้องไม่ใช่ใช้วิธีผูกขาด และบอนไซอุตสาหกรรมเอทานอลแบบนี้ อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลมาผสมน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี2544 และขายกันจริงจังปี2547 ผ่านมาแล้ว12 ปี อุตสาหกรรมเอทานอลยังช่วยตัวเองไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลควรพิจารณาว่ามีความผิดปกติเพราะอะไรไม่ควรตะบี้ตะบันช่วยกันต่อไปแบบหลับหู หลับตา

เพราะแต่ก่อนเคยอ้างว่าต้องเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาเพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้ม กลุ่มทุนพลังงานออกมาโจมตีว่าไม่เป็นธรรมต่อคนใช้น้ำมันที่ต้องมาอุ้มคนใช้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และผลักดันให้รัฐบาลลอยตัวก๊าซหุงต้ม เวลานี้รัฐบาลก็ปล่อยให้ราคาลอยตัวตามความต้องการของกลุ่มทุนแล้ว ซึ่งราคาก๊าซหุงต้มในประเทศก็แพงกว่ากลไกตลาดโลก
แต่ไม่ยอมยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายรองรับเสียที

การช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมเอทานอลยืนได้ควรเป็นการช่วยในระยะเริ่มแรกเหมือนช่วยให้เด็กตั้งไข่ ให้ยืน เดิน และวิ่งได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ช่วยกันแบบเตี้ยอุ้มค่อม คือให้ประชาชนที่ต่ำเตี้ยทางเศรษฐกิจ และผอมแห้งแรงน้อยต้องมาอุ้มมาแบกคนค่อมแต่อ้วนพีคือธุรกิจโรงกลั่น และธุรกิจโรงงานน้ำตาลกันตลอดกาลนานใช่หรือไม่?

ต้องถามรัฐบาลและนายกฯที่อุตส่าห์แต่งเพลงสะพาน บอกว่าจะยอมตัวเป็นสะพานให้คนไทยเดินบนหลังไปสู่สังคมร่มเย็นในอีกไม่นานนั้น สังคมจะร่มเย็นทันที ด้วยสิ่งแรกที่จะขอจากนายกฯในปีใหม่นี้คือ ช่วยเอาคนค่อมแต่ตัวหนักอ้วนพีลงจากหลังของประชาชนคนไทยเสียก่อน ไม่งั้นหลังของท่านนายกฯอาจจะหักได้ ถ้าประชาชนทั้งชาติต้องแบกอุ้มคนค่อมอ้วนๆ(ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นทุกวัน)เดินบนสะพานของท่านนายกฯนะคะ

รสนา โตสิตระกูล
5 มกราคม 2560