ดีเอสไอชี้แจงเหตุผลคดีเลี่ยงภาษีปิโตรเลี่ยมเหลวของบริษัทคาลิการี่ และบริษัทปตท.สผ อินเตอร์ขาดอายุความเพราะตามตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องไม่ได้ ?!

ดีเอสไอชี้แจงเหตุผลคดีเลี่ยงภาษีปิโตรเลี่ยมเหลวของบริษัทคาลิการี่ และบริษัทปตท.สผ อินเตอร์ขาดอายุความเพราะตามตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องไม่ได้ ?!

 

  

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

ดีเอสไอชี้แจงเหตุผลคดีเลี่ยงภาษีปิโตรเลี่ยมเหลวของบริษัทคาลิการี่ และบริษัทปตท.สผ อินเตอร์ขาดอายุความเพราะตามตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องไม่ได้ ?!
 
 
 
หลังจากที่ดิฉันเขียนบทความเมื่อวันที่16พย.2564 ตั้งคำถามว่า”เหตุใดดีเอสไอยังไม่นำตัวผู้ต้องหาหลีกเลี่ยงภาษีคอนเดนเซทส่งฟ้องศาลทั้งที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องกว่า 1ปีแล้ว จะรอให้คดีขาดอายุความทั้งหมดหรืออย่างไร?!”
 
ดีเอสไอก็มีข่าวประชาสัมพันธ์ออกมาชี้แจง ปรากฎในสื่อเมื่อวันที่18พย.2564 อ้างว่า “ดีเอสไอชี้แจงดำเนินคดี บ.คู่สัญญาองค์กรร่วมไทย–มาเลเซีย สำแดงเท็จ ทำตามกฎหมาย ปรากฎตามข่าวนี้
ข้ออ้างว่าได้ทำตามกฎหมาย อัยการสูงสุดสั่งฟ้องแล้ว กำลังติดตามตัวผู้เกี่ยวข้องส่งฟ้อง และอ้างว่า “ส่วนบริษัท Carigali pttepi Operating Company Sdn Bhd (CPOC) นิติบุคคลที่จดทะเบียนที่ประเทศมาเลเซีย และผู้ต้องหาอื่นๆ ในฐานะส่วนตัว ซึ่งมีสัญชาติมาเลเซียนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ติดตามตัว โดยขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา กับสำนักงานอัยการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด” นั้น
 
ขอสอบถามดีเอสไอว่าบริษัท Carigali pttepi Operating Company Sdn Bhd (CPOC) ซึ่ง PTTEPI คือบริษัทที่เป็นปตท.สผ.อินเตอร์เนชันแนลเป็นบริษัทลูกของ บริษัทปตท.สผ. และเป็นกิจการย่อยที่ควบคุมร่วมของปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ PTTEPI มีสัดส่วนเงินลงทุนหรือร่วมทุนเกินร้อยละ 50 และเป็นบริษัทเหลนของปตท.จึงน่าจะมีตัวแทนของ บริษัทปตท.สผ.เป็นกรรมการอยู่ด้วย เมื่อ CPOC เป็นนิติบุคคลย่อมจะแสดงเจตนากระทำความผิดเองไม่ได้ จะต้องกระทำผ่านกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคล กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนจึงถือเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดทางอาญากับ CPOC ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย ทั้งในฐานะตัวการและส่วนตัว
 
ดังนั้น แม้CPOC จะจดทะเบียนที่มาเลเซีย แต่กรรมการ CPOC ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทปตท.สผ. อยู่ในประเทศไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ก็ต้องดำเนินคดีและขอออกหมายเรียกหมายจับกรรมการดังกล่าว จึงมีปัญหาว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีและขอออกหมายเรียกหมายจับกรรมการคนไทยซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์ฯหรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการ ก็อาจถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช่หรือไม่?
 
การที่มีคดีสำแดงเท็จการหลีกเลี่ยงภาษีคอนเดนเซทที่ขาดอายุความไปตามหนังสือแจ้งยุติการดำเนินคดี เมื่อ วันที่ 6 ตค.2563 นั้น ทั้งที่คดีดังกล่าวดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 51/2558 และ 52/2558 และดิฉันเขียนบทความกรณีนี้เมื่อ17 ตุลาคม 2560 ปรากฎตามข่าว
 
ข่าวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ คดีพิเศษ ที่51/2558 ส่งหนังสือแจ้งยุติการดำเนินคดีเพราะคดีขาดอายุความถึงผู้ต้องหารายหนึ่งเมื่อวันที่ 6 ตค.2563 แสดงว่าคดีพิเศษนี้ใช้เวลาสืบสวนสอบสวนถึง 5ปีแล้วปล่อยให้คดีขาดอายุความ เป็นการจงใจช่วยเหลือกันหรือไม่ ? คดีสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงภาษีน้ำมันปิโตรเลี่ยมเหลว หรือคอนเดนเสทจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นคดีภาษีอากรที่สามารถปรับผู้หลีกเลี่ยงการเสียภาษี เหตุใดปล่อยให้หมดอายุความ !? และดีเอสไอจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ?!
 
ดีเอสไอกล่าวในเอกสารว่า “กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างติดตามตัวโดยขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา กับสำนักงานอัยการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำตัวมาฟ้องโดยเร็วต่อไป
หมายเหตุ อายุความดำเนินคดีของคดีพิเศษทั้งสองปัจจุบัน ยังไม่ขาดอายุความ ซึ่งจะเริ่มขาดอายุความกรรมแรกในเดือนธันวาคม 2568 เป็นต้นไป”
 
 
 
คดีความที่เหลือยังมีอายุความเหลืออยู่ 4ปี และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องแล้วตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 เพียงแค่นำตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องเพื่ออายุความหยุดอยู่ ก็ยังชักช้าร่ำไร และเท่าที่ทราบยังมีความพยายามขอความเป็นธรรมยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ แบบเดียวกับคดีนายบอส กระทิงแดงอยู่ ใช่หรือไม่
 
อย่าลืมว่าหลักกฏหมายที่ใช้ในการจัดเก็บภาษีจากพื้นที่ JDA ตามข้อตกลงไทย-มาเลเซีย “ข้อ16.ข(2)ให้ราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเรียกเก็บอากรและภาษีของตนที่เรียกเก็บได้ตามกฏหมายของตน แต่ให้ลดอัตราอากรที่นำมาใช้เรียกเก็บลงร้อยละห้าสิบ” หมายความว่าการเรียกเก็บภาษีในส่วนของไทยก็ใช้กฏหมายไทย (พรก.พิกัดอัตราศุลกากร) ส่วนของมาเลเซียก็ใช้กฎหมายของมาเลเซีย ถ้ามาเลเซียยกเว้นภาษีหรือเรียกเก็บไม่ได้ ก็ไม่ผูกพันหรือเกี่ยวข้องกับไทยซึ่งต้องพิจารณาตามกฏหมายไทย
 
หากไม่มีการจับตาติดตามคดีนี้ คดีที่เหลืออาจหมดอายุความตามคดีแรก ใช่หรือไม่ เพราะคดีสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงการเสียภาษี มีเวลา 5ปี ยังทำจนหมดอายุความได้เลย
 
ขอตั้งข้อสังเกตว่าในการแถลงข่าวดีเอสไอ ก็ไม่ได้บอกเลยว่าจะสามารถนำผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งฟ้องศาลได้เมื่อใด แต่โยนเรื่องกลับไปที่สำนักงานอัยการคดีต่างประเทศ แล้วเช่นนี้เมื่อใดจะได้ตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าคดีหมดอายุความอีก ไหนๆดีเอสไอก็อุตส่าห์มาตอบมาแล้ว ก็ช่วยตอบประเด็นนี้ด้วย ว่าจะจับตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องได้ภายในเมื่อใด หรือจะรอส่งฟ้องก่อนคดีหมดอายุความสัก 2อาทิตย์ ดังที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ใช่หรือไม่
 
รัฐบาลถังแตก รีดเป็นแต่ภาษีประชาชน แต่ปล่อยข้าราชการไทยที่ดูแลกระเป๋าสตางค์ของแผ่นดินช่วยกันเจาะรูรั่วเพื่อช่วยเอกชนรายใหญ่ๆ ใช่หรือไม่ ขอถามดังๆถึงคนที่เกี่ยวข้อง !!!
รสนา โตสิตระกูล
21 พย. 2564