"ความเหลื่อมล้ำของประเทศแก้ไม่ได้ด้วยลมปากและเสียงเพลง"

"ความเหลื่อมล้ำของประเทศแก้ไม่ได้ด้วยลมปากและเสียงเพลง"

 

 

 
 
"ความเหลื่อมล้ำของประเทศแก้ไม่ได้ด้วยลมปากและเสียงเพลง"
 


บทความของ "ลมเปลี่ยนทิศ" ในไทยรัฐ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ได้เขียนถึงการจัดอันดับความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่น่าสนใจ โดยอ้างอิงข้อมูลของสภาพัฒน์เปรียบเทียบกับรายงานของเครดิตสวิส โกลบอล เวลธ์ รีพอร์ตปี 2560 (2016) ว่าสภาพัฒน์ฯเคยแถลงเมื่อสิ้นปี2558 เรื่องความยากจนและ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ว่ายังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างฐานะของคนรวยกับคนจนถึง 22 เท่า กล่าวคือคนรวยเพียง 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากร ทั้งประเทศ 65 ล้านคน มีเงินฝากธนาคารเท่ากับ 49.2% ของเงินฝาก ทั้งหมด (11.2 ล้านล้านบาท ข้อมูล วารสาร “การเงินธนาคาร” เล่มล่าสุด) หรือ 5.51 ล้านล้านบาท ขณะที่ประชาชนอีก 64.93 ล้านคน มีเงินฝาก รวมกันเท่ากับ 5.69 ล้านล้านบาท

ในขณะที่เครดิตสวิส โกลบอล เวลธ์ รีพอร์ต รายงานเมือเดือนพฤศจิกายน 2559(2016) ก็มีรายงานถึง ความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆในโลก โดยวัดจากสัดส่วนความมั่งคั่งของคนรวย และประเทศไทยติดอันดับ 3 ของโลกที่คนรวยเพียง 1% ครองความมั่งคั่ง ในประเทศสูงถึง 58.0%

บทความตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขของ เครดิตสวิส สูงกว่าตัวเลขของ สภาพัฒนฯ 8% กว่า ไม่รู้เพราะมีการนับความมั่งคั่งของเศรษฐีไทยที่เอาทรัพย์สินไปเก็บซ่อนไว้ที่สวิตฯและยุโรปด้วยหรือเปล่า

http://www.thairath.co.th/content/802316

นับตั้งแต่รัฐประหารมา รัฐบาลคสช.ได้ประกาศว่าจะปฏิรูปตามคำเรียกร้องของประชาชน แต่ผ่านมาเกือบ3ปีแล้ว ยังไม่มีผลปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจลดลง การปฏิรูปของนายกฯพลเอกประยุทธ์ จึงควรมองมาที่ประเด็นการแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ดิฉันขอให้ท่านนายกฯกรุณามอบของขวัญให้คนไทยในปีใหม่2560 นี้ นอกจากแต่งเพลง"สะพาน"บอกความในใจที่ปรารถนาให้คนไทยได้เข้าสู่สังคมร่มเย็นสดใส ซึ่งจะเป็นจริงได้ต้องทำให้คนรวย 0.1% ลงจากหลังของประชาชนก่อนเป็นอันดับแรกแล้วลงมาเดินเคียงข้างประชาชนอย่างเกื้อกูลกัน

ธุรกิจพลังงานเป็นตัวดูดเงินจากกระเป๋าประชาชนโดยไม่มีความเป็นธรรม และทิศทางนโยบายของรัฐบาลคสช.ไม่มีอะไรแตกต่างทิศทางนโยบายของรัฐบาลนักเลือกตั้ง และอาจจะเอื้อกลุ่มทุนพลังงานหนักหน่วงยิ่งกว่า รวดเร็วยิ่งกว่าหรือไม่?

การปฏิรูปพลังงานน่าจะเป็นประเด็นสำคัญด้านหนึ่งที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะน้ำมันและก๊าซเป็นต้นทุนทางตรงของภาคการผลิตที่แท้จริง (real sector) และยังเป็นต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลต่อค่าครองชีพโดยตรงของคนในสังคม พลังงานจึงไม่ควรเป็นสินค้าที่หากำไรตั้งแต่ต้นทาง แต่สินค้าพลังงานต้องเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีราคาต่ำจากประสิทธิภาพ และการแข่งขัน ไม่ใช่จากการชดเชยดังที่เป็นอยู่

มีคำกล่าวว่า "สังคมเลวไม่ได้เกิดจากคนชั่ว แต่สังคมเลวเกิดจากคนดีเพิกเฉยต่อการกระทำของคนชั่ว" ฉันใดก็ฉันนั้น"ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศดำรงอยู่ ไม่ใช่เพราะคนรวยเอาเปรียบคนจนเท่านั้น แต่เป็นเพราะรัฐบาลปล่อยปละละเลยให้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำอันทุจริตผิดกฎหมายนั้นดำรงอยู่ต่อไป" ดังที่รัฐบาลเพิกเฉยปล่อยให้กองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมาย ยังคงเก็บเงินจากประชาชนต่อไป ทั้งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบและแจ้งให้รัฐบาลทราบตั้งแต่ ปี2557 แล้วว่ากองทุนน้ำมันเป็นกองทุนที่ผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลเพิกเฉยโดยไม่ใส่ใจว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักการพื้นฐานของประเทศที่อ้างว่าเป็นนิติรัฐอย่างที่อ้างอยู่ แต่ปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมายอย่างโจ๋งครึ่มต่อไป

ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างไม่อาจแก้ด้วยลมปากและเสียงเพลง แต่ต้องลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

รสนา โตสิตระกูล
8 มกราคม 2560