คุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ศากยธิดาผู้ฉลาดในทาง และมิใช่ทาง ผู้รังสรรค์ให้ โลกสวยด้วยพระธรรม
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
คุณแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
ศากยธิดาผู้ฉลาดในทาง และมิใช่ทาง ผู้รังสรรค์ให้ โลกสวยด้วยพระธรรม
ดิฉันรู้สึกใจหายวูบหนึ่ง เมื่อทราบข่าวการกลับคืนสู่ธรรมชาติของคุณแม่ชีศันสนีย์ ผู้เป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมมายาวนานตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งเสถียรธรรมสถานใหม่ๆ และดิฉันได้รับเมตตานุเคราะห์จากท่านเป็นครั้งคราวเสมอมา เมื่อมีกิจกรรมสำคัญ ณ เสถียรธรรมสถาน ดิฉันมักจะได้รับเกียรติให้เข้าร่วม อาทิเช่น ในคราวประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงวาระที่สมัชชาสหประชาชาติ ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล และในคราวสมโภชพระมหาเจดีย์พระอารยตารา มหาโพธิสัตว์ เป็นต้น เมื่อดิฉันทำโครงการนวดสัมผัสเด็กอ่อน ท่านก็เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายทำวีดิทัศน์สาธิตการนวดเพื่อเป็นสื่อเผยแพร่ หรือเมื่อดิฉันต้องการพักใจ ก็ได้กิจกรรมเรียนปิดทองที่เสถียรธรรมสถาน เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้จิตมีสมาธิและมีความสุขกับปัจจุบันขณะ และเป็นความสำเร็จเล็กๆที่ชุบชูใจให้ชุ่มชื่นในท่ามกลางเส้นทางงานกิจกรรมสาธารณะที่ความสำเร็จยังอยู่ยาวไกล งานปิดทองพระพุทธรูป จึงเป็นงานศิลป์ปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งของดิฉันมาจนถึงทุกวันนี้
ดิฉันเลื่อมใสท่านในฐานะนักบวชสตรีผู้มุ่งมั่นปฏิบัติธรรม ไปพร้อมกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในทางธรรมทุกลมหายใจเข้าออก ดังวลีทองของท่านที่กล่าวแก่พวกเราเสมอว่า “มีลมหายใจเข้าที่สงบเย็น มีลมหายใจออกที่เป็นประโยชน์” ที่สำคัญคือ คำสอนของท่านเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าใจชีวิต เข้าใจธรรมด้วยการปฏิบัติที่เรียบง่าย งดงาม โดยใช้ปัญญาหรือสัมมาทิฏฐินำในการดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนจาก ”การเป็นทุกข์ สู่การเห็นทุกข์” ดังนั้นเมื่อกล่าวถึง ”ไตรสิกขา” อันเป็นหลักปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา ท่านจึงลำดับตามความเข้าใจของท่านว่า
”ปัญญา ศีล สมาธิ” ทั้งนี้น่าจะมาจากอิทธิพลของหลวงพ่อพระครูภาวนาพิธาน
(เส็ง ยสินฺธโร) พระอุปัชฌาย์ผู้ให้อนุสาส์นแก่ชีลูกศิษย์ว่า
“ถ้ามีปัญญาสมบัติ ก็ไม่เป็นทุกข์”
แน่นอน การใช้ปัญญานำการปฏิบัติธรรมของท่านแก่กล้าขึ้นโดยลำดับเมื่อรับคำสอนในสายสวนโมกข์ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุและหลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ รวมทั้งอุบาสิกาคุณแม่รัญจวน อินทรกำแหง นอกจากนี้ท่านยังเปิดรับแนวการภาวนาสากลในสายของท่านติช นัท ฮันห์และวัชรยานขององค์ทะไลลามะ ซึ่งท่านได้นำแนวธรรมะสากลมาผสมผสานเป็นแนว”โลกสวยด้วยธรรมะ”อันเป็นแนวธรรมเฉพาะตัวของท่าน
ดิฉันยังรู้สึกเป็นเกียรติมาจนกระทั่งทุกวันนี้ที่คุณแม่ชีศันสนีย์ได้ใช้หนังสือ ”เดินวิถีแห่งสติ” ซึ่งดิฉันแปลจาก “Walking Meditation” ของท่านติช นัท ฮันห์ เป็นบทอ่านภาวนาขณะเดินจงกรมร่วมกันในเสถียรธรรมสถาน ท่านไม่เพียงเชื่อมั่นในปัญญาของตัวท่านเองเท่านั้น แต่ยังเชื่อมั่นในปัญญาของสตรีเพศทั้งหลายว่าสามารถเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า
จนถึงขั้นพ้นทุกข์ได้ จึงไม่แปลกที่เสถียรธรรมสถาน เชิดชูพระพุทธดำรัสที่ตรัสยกย่องนักบวชสตรีในพุทธศาสนาว่า “ธิดาของเราเป็นผู้มีปัญญามาก ฉลาดในทางและไม่ใช่ทาง” ชาวพุทธย่อมทราบดีว่าพุทธพจน์บทนี้ตรัสรับรองพระมหาสาวิกาเขมาเถรี ภิกษุณีผู้มีปัญญามาก ซึ่งน่าจะสะท้อนความเป็นจริงของสตรีทั้งหลายในโลกสมัยใหม่ที่กำลังเดินอยู่ท่ามกลางทางที่สับสน ไม่รู้ว่าทางที่ถูกและทางที่ผิดแยกแยะอย่างไร การจะพ้นจากความทุกข์ได้จึงต้องรู้จักทั้งทางที่ถูกและทางที่ผิดด้วย พร้อมกับความไม่สิ้นหวังว่า หากรู้ตัวว่ากำลังเดินทางผิด ย่อมไม่สายเกินไปที่จะเปลี่ยนไปเดินทางที่ถูก
คุณแม่ชีศันสนีย์จึงเปรียบเสมือนศากยธิดารุ่นพี่คนหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์ผ่านเส้นทางอันซับซ้อนมาก่อน ย่อมสามารถเป็นกัลยาณมิตรพี่เลี้ยงให้กับบรรดาศากยธิดารุ่นน้องทั้งที่สูงวัยและเยาว์วัย โดยเฉพาะโครงการ”สาวิกาสิกขาลัย” และโครงการบวชพุทธสาวิกา ศีล 10 ให้แก่แม่ชีน้อย แม่ชีใหญ่วัยตั้งแต่ 5 ขวบ ถึง 65 ขวบปี นับว่าเป็นการยกระดับสิทธิสภาพของนักบวชสตรีไทยในปัจจุบันให้สูงขึ้นโดยได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้มิใช่เพื่ออะไรอื่น แต่เพื่อดำเนินรอยตามเหล่าศากยธิดาผู้ก้าวย่างในมรรคาแห่งการพ้นทุกข์ ไปก่อนแล้วในสมัยพุทธกาล ด้วยความเชื่อมั่นในพุทธบิดรที่ตรัสยืนยันไว้ในอัจฉราสูตร(พระสูตรว่าด้วยนางอัปสร) ว่า
“-ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย
-รถนั้นชื่อว่าไร้เสียงประกอบด้วยล้อคือ ธรรม
-หิริ(ความละอายที่จะทำความชั่ว)เป็นฝาประทุนของรถนั้น
-สติเป็นเกราะป้องกันของรถนั้น
-เรากล่าวธรรม มี”สัมมาทิฏฐิ”นำหน้าว่าเป็นนายสารถี
-ยานชนิดนี้มีอยู่แก่ผู้ใด จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม
-ผู้นั้นย่อมไปใกล้นิพพานด้วยยานนี้แล “
เสถียรธรรมสถาน จึงเป็นฐานที่มั่นในทางธรรม เป็นยานธรรมที่ช่วยบรรทุกผู้โดยสารโดยเฉพาะบรรดาสตรี ทุกวัย
ทุกวุฒิ ไม่ว่ามั่งมีหรือยากไร้ ให้แล่นไปบนเส้นทางตรง ตามทิศทางที่ปลอดภัย สู่จุดหมายปลายทางแห่งการพ้นทุกข์ ตามศักยภาพของแต่ละคน
บัดนี้คุณแม่ชีศันสนีย์ได้ละสังขารคืนสู่ธรรมชาติแล้ว ดิฉันเชื่อว่า เสถียรธรรมสถาน ยังคงเป็นฐานที่มั่น เป็นที่พักพิงในทางธรรม สมชื่อนามบัญญัติ เพื่อสืบสานปณิธานของคุณแม่ชีศันสนีย์ที่ปรารถนาให้เสถียรธรรมสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ปฏิบัติธรรมของเหล่าศากยธิดาให้เป็นผู้ฉลาดในทาง และมิใช่ทาง ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยมายากิเลสเย้ายวน ทั้งนี้เพื่อบรรลุประโยชน์สุขที่แท้จริงในชีวิตของตน หากรักษา
ปณิธานนี้ไว้ได้ ก็เท่ากับว่า คุณแม่ชีศันสนีย์ยังอยู่กับพวกเราที่เสถียรธรรมสถานตลอดไป
ด้วยจิตคารวะและธรรมาลัย
รสนา โตสิตระกูล
9 ธันวาคม 2564