" ก.ม ปิโตรฯ ควรถามสำนึกสนช.หรือสำนึกสื่อบางสำนักกันแน่? "

" ก.ม ปิโตรฯ ควรถามสำนึกสนช.หรือสำนึกสื่อบางสำนักกันแน่? "

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล
 
 
" ก.ม ปิโตรฯ ควรถามสำนึกสนช.หรือสำนึกสื่อบางสำนักกันแน่? "
 


ช่วงนี้มีคอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์หลายฉบับพาเหรดเขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นด้านพลังงานโดยมุ่งโจมตีมาที่กลุ่มเอ็นจีโอที่ตรวจสอบ
ธรรมาภิบาลเรื่องพลังงาน ทั้งในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม และการแยกบริษัทโดยลดทอนหุ้นส่วนของรัฐ คอลัมนิสต์บางท่านถึงกับดิสเครดิตด้วยข่าวโคมลอยเป็นตุเป็นตะว่าเอ็นจีโอรับเงินจากทุนต่างชาติมาทำลายบริษัทพลังงานในประเทศไทย

คอลัมน์เดินหน้าชนในนสพ.มติชน 17 มกราคม 2560 เขียนบทความ "ก.ม ปิโตร-สำนึก'สนช' " โดยมุ่งประเด็นโจมตีว่าการที่สนช.ต้องยื้อการผ่าน กฎหมาย ปิโตรเลียมมิใช่เพื่อความรอบคอบ แต่เพราะเกรงกลัวกลุ่มเอ็นจีโอที่ผลักดันให้บรรจุ "บรรษัทพลังงานแห่งชาติ" แต่ไม่สมหวังเลยกดดันให้สนช.ต้องเลื่อนการพิจารณาหรือถอนร่างออกไป

ขอถามหน่อยว่ากลุ่มเอ็นจีโอมีอำนาจอะไรที่ทำให้สนช.ต้องเกรงกลัว ?หากไม่ใช่เพราะสนช.มีสำนึกทางจริยธรรมของตัวเองหากต้องผ่านกฎหมายที่ขัดกับผลการศึกษาของตนเอง

ลมเปลี่ยนทิศ นสพ.ไทยรัฐ 16 ม.ค 2560 เขียนบทความ "ยื้อประมูลก๊าซอ่าวไทย" ตั้งคำถามว่า สนช.ที่ยื้อร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม 2514 และกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ไม่รู้ว่ามีเหตุผลลึกลับซับซ้อนอะไร เพราะกฎหมาย2ฉบับนี้ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน

ทั้ง2บทความมีเนื้อหาและเหตุผลที่มาจากชุดข้อมูลเดียวกับที่กลุ่มทุนพลังงานใช้เผยแพร่มาตลอด เพื่อเร่งให้มีต่อสัมปทานแหล่งบงกชและเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า

สิ่งที่น่าเสียดายคือสื่อควรเป็นผู้ใช้ความจริงนำสติปัญญาของสังคม แต่กลับกลายเป็นใช้สำนวนโวหารแบบโฆษณาชวนเชื่อ ตามโพยโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูล หรือทำข่าวแบบสืบสวนข้อมูลอย่างเจาะลึก (investigative jounalism)

ก่อนจะเขียนข่าวเชียร์ให้รีบต่อสัมปทานแปลงเอราวัณ และบงกช อ้างว่าถ้าไม่รีบต่อจะทำให้ประเทศเสียหาย กระทบความมั่นคงด้านพลังงาน สื่อควรรู้ว่าก.ม ปิโตรเลียม 2514 ระบุชัดเจนว่าเมื่อต่อสัมปทานครบ2ครั้งแล้ว ไม่ให้มีการต่อสัมปทานอีก ซึ่งแปลงเอราวัณและบงกช ได้ต่อสัมปทานครบ2ครั้งแล้ว จึงไม่สามารถต่อสัมปทานให้รายเดิมอีก รัฐบาลต้องแก้ไขก.มให้มีระบบใหม่ คือระบบการจ้างผลิต หรือระบบแบ่งปันผลผลิต มาใช้แทนระบบสัมปทาน

ระบบใหม่นี้จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่เป็นของรัฐ100% ซึ่งอาจเรียกว่าบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมาบริหารแปลงปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานตามระบบใหม่ที่กฎหมายบัญญัติขึ้นและยังต้องเป็นผู้รับมอบอุปกรณ์ทรัพย์สินในการผลิตปิโตรเลียมที่เอกชนต้องส่งมอบคืนให้เป็นของรัฐเมื่อหมดอายุสัมปทาน

ทราบกันหรือไม่ว่าหลังจากการสิ้นอายุสัมปทานของแหล่งเอราวัณและบงกชแล้ว จะมีแปลงสัมปทานอื่นๆทะยอยหมดอายุ และกลับมาเป็นของประเทศ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำมาบริหารให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน

ความล่าช้าในการผ่านร่างแก้ไขก.ม ปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับมาจากการที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่างแก้ไขก.มปิโตรเลียมตามความต้องการกระทรวงพลังงาน ทั้งที่ไม่แก้ไขตามผลการศึกษาของสนช.(ตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรีพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ให้แก้ไขข้อเสียเปรียบในกฎหมายและจุดรั่วไหลของภาษีในก.ม ปิโตรเลียมที่เราใช้มานาน 45-46 ปีแล้ว

ร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานที่อยู่ในการพิจารณาของสนช.เสนอระบบแบ่งปันผลผลิตที่ไม่ใช่มาตรฐานสากล แต่เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลอ หรือเป็นสัมปทานจำแลง เพื่อไว้อำพรางว่ามีการเปลี่ยนระบบแล้วแต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของก.มฉบับใหม่

สื่อรู้หรือไม่ว่าร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานยังแก้ไขการให้สัมปทานเอกชนเป็นรวดเดียว39ปี และผูกมัดประเทศว่าหากจะเพิกถอนสัมปทาน รัฐต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลา
การ ที่อาจต้องมีตุลาการจากสหพันธ
รัฐสวิส หรือผู้อำนวยการใหญ่ธนาคาร
โลกมาร่วมเป็นอนุญาโตตุลาการในการตัดสิน

ประเทศไทยควรยอมรับการเสียสิทธิอธิปไตยของศาลไทยต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งคงไม่ต่างจากการเสียสิทธิสภาพนอก
อาณาเขตในอดีต

กลุ่มทุนพลังงานกลัวระบบแบ่งปันผลผลิตและบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เพราะกลุ่มทุนเหล่านี้จะไม่สามารถผูกขาดกิจการพลังงานของประเทศได้อย่างที่เคยทำมา

การยกตัวอย่างความล้มเหลวของเวเนซูเอล่ามาเพื่อโจมตีระบบแบ่งปันผลผลิตและบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เป็นการตีขลุมแบบมั่วนิ่ม ความล้มเหลวของเวเนซูเอล่าไม่ใช่มาจากระบบแบ่งปันผลิตหรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่เกิดจากการที่รัฐบาลนำเงินที่ได้จากระบบแบ่งปันผลผลิตไปทำประชานิยมมากเกินไป เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดต่ำลง เวเนซูเอล่าไม่มีแหล่งรายได้อื่นนอกจากทรัพยากรน้ำมันจึงทำให้ประเทศของเขาประสบภาวะวิกฤติ

กลุ่มทุนพลังงานมักจะยกความล้มเหลวของเวเนซูเอล่ามาโจมตีระบบแบ่งปันผลผลิตและบรรษัทพลังงานแห่งชาติ อ้างเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ราวกับระบบสัมปทานเท่านั้นที่ดีที่สุด สะอาดและปราศจากการคอรัปชั่น ซึ่งไม่ป็นความจริง ทุกระบบหากไม่มีการออกแบบการตรวจสอบที่ดี ก็มีโอกาสจะทุจริตได้ ต้องถามว่าระบบสัมปทาน ดีที่สุดสำหรับกลุ่มทุนเอกชน ใช่หรือไม่

แต่กลุ่มทุนพลังงานไม่เคยยกตัวอย่าง
บริษัทปิโตรนัสของมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จในการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาอ้างอิง ทั้งที่มาเลเซียอยู่ติดกับประเทศของเราแท้ๆ เพราะอะไร ?
เพราะปิโตรนัสเป็นกรณีที่ประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำด้วยระบบแบ่งปันผลผลิตและในฐานะบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ปิโตรนัสสามารถส่งเงินรายได้ให้รัฐบาลถึง40%ของงบประมาณแผ่นดิน และราคาน้ำมันของมาเลเซียยังถูกกว่าบ้านเราครึ่งต่อครึ่ง ใช่หรือไม่

ทั้งรัฐบาลและสื่อฟังคำพูดกรอกหู ทั้งจากข้าราชการที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มทุนพลังงาน และกลุ่มทุนพลังงานเองว่าแหล่งปิโตรเลียมของเราเป็นกะเปาะเล็ก สำรองก็มีน้อย รัฐลงทุนไปก็ไม่คุ้มค่า ควรให้สัมปทานต่อไปดีกว่าจะเปลี่ยนระบบ แต่ไม่ว่าแหล่งปิโตรเลียมของเราจะมีมากหรือน้อย ก็มีมูลค่าถึงปีละ 4-5 แสนล้านบาท

นายกฯมักจะอ้างยุทธศาสตร์ 4.0
และศาสตร์พระราชามาสั่งสอนประชาชน
ให้หัดจับปลาเอง แทนที่จะรอรับปลาที่เขานำมาให้

ดังนั้น รัฐบาลจึงควรจะปฏิบัติเป็นแบบอย่างก่อนใช่หรือไม่

การยื้อกฎหมายในขณะนี้ควรเรียกว่าเป็นสงครามแย่งชิงการกำหนดกติกาเพื่อช่วงชิงการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมมูลค่าปีละ 4-5 แสนล้านบาท จะเหมาะสมกว่า

การใช้วิชาแพะโยนความผิดเรื่องกฎหมายล่าช้าว่ามาจากกลุ่มเอ็นจีโอ มีความเป็นธรรมแล้วหรือ?

หากมีการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามรายงานผลการศึกษาของสนช.ตั้งแต่แรก กฎหมายน่าจะเสร็จไปแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายยื้อให้ล่าช้า ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายซื้อเวลาและเอาข้ออ้างความมั่นคงด้านพลังงานมาเป็นตัวหลอกเพื่อโยนความผิดให้ประชาชนที่กำลังตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ขาดหลัก
ธรรมาภิบาลของนักกินรวบทั้งหลาย

การที่สนช.ยังขอขยายเวลาในการปรับแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพราะร่างดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามผลการศึกษาของสนช.จึงควรเห็นว่าสนช.ยังมีสำนึกรับผิดชอบในผลการศึกษาของสนช.เอง

แต่สิ่งที่ประชาชนกำลังถามหาในเวลานี้คือสำนึกทางจริยธรรมของสื่อบางสำนักมากกว่า หากเสนอความเห็นในลักษณะที่เป็นหน้าโฆษณาแฝงในรูปของบทความ ใช่หรือไม่?

รสนา โตสิตระกูล
18 มกราคม 2560