สตง.-คลังเห็นพ้องให้ ปตท.คืนท่อก๊าซ เปลี่ยนเป็นเช่า ยุติคดี “รสนา” โวย

สตง.-คลังเห็นพ้องให้ ปตท.คืนท่อก๊าซ เปลี่ยนเป็นเช่า ยุติคดี “รสนา” โวย

 

 

 

              

สตง.-คลังเห็นพ้องให้ ปตท.คืนท่อก๊าซ เปลี่ยนเป็นเช่า ยุติคดี “รสนา” โวยอุ้มกลุ่มทุนรัฐเสียประโยนช์แสนล้าน ขู่เจอ ม.157

 

 

สตง.-คลัง สรุปให้ ปตท.คืนท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้าน เปลี่ยนตัวเลขบัญชีเป็นทรัพย์สินประเภทเช่า เชื่อไม่กระทบฐานะการเงิน-หุ้น คาดรัฐได้ประโยชน์คืนพันล้าน ชง ครม.เห็นชอบ ก่อนแถลงยุติคดีที่ค้างในศาลปกครอง “รสนา” งง สตง.พอใจรัฐได้เพิ่มพันล้าน แต่ ปตท.ได้ประโยชน์กว่า 3 แสนล้าน เตรียมดำเนินคดี ม.157 ต่อผู้ว่าฯ สตง.ฐานอุ้มกลุ่มทุน ยันต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติบริหารท่อ-แก้ผูกขาด
       
       วันนี้ (25 ม.ค.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รมว.พลังงาน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ดำเนินการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติที่ยังส่งคืนไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ว่าได้มีการหารือระหว่างกระทรวงการคลังกับทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ได้ข้อสรุปว่าจะมีการรายงานข้อมูลให้ ครม.พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบในการแจ้งให้ ปตท.ปรับแก้บัญชีทรัพย์สนให้ถูกต้องตามตัวเลขของ สตง. และต้องเสียค่าเช่าท่อย้อนหลังให้แก่กรมธนารักษ์เพิ่มเติม โดยในอนาคตต้องชำระค่าท่อเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการคืนท่อด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินหรือหุ้นของ ปตท.
       
       “ตอนนี้อยู่ในกระบวนการที่ สตง.ได้เสนอไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อรอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป ซึ่ง สตง.จะติดตามผลในเรื่องนี้ หาก ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอนี้ สิ่งที่รัฐจะได้กลับคืนมาคือ ตัวเลขทางบัญชีที่จะต้องคำนวณค่าเช่าเพิ่มขึ้นย้อนกลับไปอดีตและในอนาคตเป็นเงินนับพันล้านบาท ส่วนมูลค่าท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นตัวเลขทางบัญชีที่ไม่กระทบ ปตท. เพราะเพียงแค่แปลงในส่วนที่บันทึกทรัพย์สินมาเป็นประเภทเช่าเท่านั้น ตัวเลขจึงเท่าเดิมไม่กระทบต่อตัวงบ กรมธนารักษ์ก็ไปเพิ่มทรัพย์สินของแผ่นดินเพิ่มขึ้นและคิดค่าเช่าเพิ่มด้วย ถ้าตกลงกันได้ก็ไปแถลงต่อศาลปกครองในคดีที่ค้างอยู่ เมื่อคู่กรณีตกลงกันได้ศาลคงไม่มีความเห็นอย่างอื่น เพราะไม่ได้เป็นเรื่องขัดคำสั่งศาลใดๆ เนื่องจากศาลก็อยากให้ตกลงเจรจา ก็เท่ากับว่าจะยุติคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องไปก่อนหน้านี้ด้วย เป็นข้อดีทำให้ไม่ต้องเสียเวลา” นายพิศิษฐ์กล่าว
       


       ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องนี้ต่อ สตง. กล่าวว่า สตง.มีหน้าที่ให้กระทรวงการคลังทวงท่อก๊าซในทะเลที่ไม่ได้คืนให้แก่รัฐ แต่การตกลงว่าให้เปลี่ยนรูปแบบเป็นการเช่าแค่ตัวเลขทางบัญชีนั้น สตง.น่าจะออฟไซด์ไป อยากให้กลับไปดูที่ ปตท.คืนท่อก๊าซครั้งแรกปี 2551 มีการคืนท่อก๊าซมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท จ่ายเค่าเช่าย้อนหลังให้คลังประมาณ 1.5-1.6 พันล้านบาท แต่หลังการแปรรูปจนถึงวันที่คืนท่อก๊าซนั้น ปตท.ได้เงินค่าผ่านท่อประมาณ 1.16 แสนล้านบาท เมื่อ คตง.ตรวจสอบแล้วพบว่าท่อก่อนการแปรรูต้องคืนเพิ่มยอด 3.2 หมื่นล้านบาท สตง.ก็ต้องทวงเงินช่วงต้นที่ ปตท.ได้ไป 1.16 แสนล้านบาทคืนด้วย เพราะท่อทั้งหมดเป็นของรัฐ
       
       “หลังจากมีการคืนท่อส่วน 1.6 หมื่นล้านบาท กรมธนารักษ์ไปทำเอ็มโอยูให้ ปตท.เช่าโดยบอกว่าเป็นการแบ่งผลประโยชน์ทำเป็นขั้นบันได จาก 440 ล้านบาทถึง 550 ล้านบาทต่อปี เมื่อดูตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึง 31 ธ.ค. 2558 ปตท.จ่ายเงินค่าเช่าให้กรมธนารักษ์ทั้งหมด 7,837 ล้านบาท แต่ ปตท.เก็บค่าเช่าผ่านท่อในช่วงเวลาเดียวกันเป็นเงิน 356,108 ล้านบาท เท่ากับว่า ปตท.สร้างกำไรจากท่อที่เช่าจากรัฐถึง 40 เท่าจากที่ให้ประโยชน์คืนมาให้รัฐ ทำให้เห็นว่าการแบ่งปันผลประโยชน์ไม่แฟร์ เพราะค่าผ่านท่อคือภาระของประชาชนจากราคาแก๊สที่คนไทยต้องจ่าย”
       
       น.ส.รสนากล่าวต่อว่า เมื่อ ปตท.แปรรูปแล้วก็เป็นเพียงรายหนึ่งที่มีสิทธิเช่า ไม่ใช่มาเช่าแล้วไปให้คนอื่นเช่าต่อ การที่ สตง.กับคลังให้ทำสัญญาเช่าแบบนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นธรรมต่อประชาชนหรือเปล่า เพราะจ่ายเงินให้รัฐปีละประมาณพันล้านบาท แต่มีรายได้จากการบริหารจัดการท่อสูงกว่าที่รัฐได้ 40 เท่า เป็นเรื่องที่ชอบธรรมแล้วหรือ สตง.มีหน้าที่รับรองว่าคืนทรัพย์สินครบหรือไม่ ไม่ได้มีหน้าที่ไปแนะนำแบบนี้ ถ้าทำเช่นนี้ก็กลายเป็นว่าบ้านเมืองนี้ผู้มีอำนาจทางการเงินจะมีคนช่วยเพื่อไม่ให้หุ้นได้รับการกระทบ กระเทือน โดยให้แค่จ่ายค่าเช่าย้อนหลัง ทั้งๆ ที่ต้องทวงของเก่าที่ ปตท.ไม่ควรได้กลับคืนมาเป็นของรัฐด้วย และเมื่อคืนท่อก๊าซแล้วรัฐต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบทรัพย์สินทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องท่อก๊าซ โดย ปตท.เป็นแค่รายหนึ่งที่มีสิทธิเช่าท่อก๊าซเท่านั้น จึงจะเป็นการแก้ปัญหาผูกขาดที่ต้นเหตุและตรงตามเจตนารมณ์ของมติครม.เดิมก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท.
       
       “เราจะหาช่องทางทักท้วงว่าทำไม่ถูก ที่บอกว่าไปแถลงยุติคดีต่อศาล ต้องถามว่าจบจริงหรือไม่ ผู้ว่าฯ สตง.ทำแบบนี้อาจเจอมาตรา 157 ที่จะให้แปลงทรัพย์สินของรัฐเป็นประเภทเช่าแล้วจ่ายย้อนหลัง ทุกอย่างง่ายอย่างนี้หรือ สตง.ต้องทวงเงินก่อนหน้านี้ด้วยเพราะ ปตท.ใช้ประโยชน์จากท่อของรัฐ รายได้ที่เขาเคยได้จึงไม่ใช่รายได้ที่ควรได้มาตั้งแต่ต้น ต้องคืนรัฐ เจอกันแน่นอน สตง.ก็ สตง.เถอะ ถามว่าบ้านเมืองจะอยู่อย่างไรเพราะเป็นการสมคบกันโดยรัฐกับเอกชนให้ ปตท.ได้รับประโยชน์ต่อโดยไม่ได้รับผลกระทบ ถามว่ามีใครรับผิดชอบทางกฎหมายจากการกระทำผิดที่ผ่านมาบ้าง หรือว่าเกี้ยเซี้ยเรียบร้อยแล้ว” น.ส.รสนากล่าว