รสนาร้องคตง.เตือนรัฐบาลอาจต้องคดีแบบจำนำข้าวหากไม่ดำเนินการนำท่อก๊าซคืนให้ครบถ้วน

รสนาร้องคตง.เตือนรัฐบาลอาจต้องคดีแบบจำนำข้าวหากไม่ดำเนินการนำท่อก๊าซคืนให้ครบถ้วน

 

 

 

 

รสนาร้องคตง.เตือนรัฐบาลอาจต้องคดีแบบจำนำข้าวหากไม่ดำเนินการนำท่อก๊าซคืนให้ครบถ้วน

 

 

 

วันนี้(3 ก.พ 2560) ดิฉันได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปถึงประธานและกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินเรื่องการเรียกคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้ถูกต้องตามรายละเอียดดังนี้

 

ตามที่มีข่าวว่าผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังเรื่องการคืนท่อก๊าซตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมูลค่าประมาณ ๓.๒ หมื่นล้านบาทนั้น ผู้ว่าสตง. เสนอทางออกให้เป็นการคืนตัวเลขทางบัญชี โดยแสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า "เพราะท่อก๊าซที่ยังคืนไม่ครบนั้น เพียงแต่เปลี่ยนแปลงทรัพย์สินทางบัญชีก็สามารถกระทำได้ โดยบริษัท ปตท. มิได้มีความเสียหายในเรื่องทรัพย์สินแต่อย่างใด หากจะมีก็เป็นเพียงค่าเช่า ซึ่งบริษัท ปตท. ก็สามารถรับได้อยู่แล้ว มิได้กระเทือนถึงฐานะทางการเงินทั้งสิ้น"

ข้าพเจ้าในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวของผู้ว่าสตง. และขอกราบเรียนมายังท่านประธานและคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินขอให้โปรดพิจารณายับยั้งการดำเนินการดังกล่าวของผู้ว่าสตง.และดำเนินการให้มีการคืนท่อก๊าซอย่างถูกต้อง โดยข้าพเจ้าขอเสนอเหตุผลต่อท่านประธานและคณะกรรมการคตง. ดังต่อไปนี้

 

1) การที่ผู้ว่าสตง. เสนอให้ปตท.คืนท่อก๊าซมูลค่า ๓.๒ หมื่นล้านบาท โดยเปลี่ยนตัวเลขทางบัญชีเป็นสิทธิการเช่าเหมือนที่เคยทำเมื่อปี ๒๕๕๑ นั้น น่าจะเป็นวิธีการลงบัญชีที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ปี ๒๕๕๑มาแล้ว เพราะเมื่อบมจ.ปตท. ต้องคืนทรัพย์สินคือท่อส่งก๊าซที่ไม่ใช่ของตนเองแล้ว ตามหลักบัญชี ก็ต้องตัดมูลค่าทรัพย์สินนั้นออกไปจากส่วนของทุนด้วย หากจะให้บมจ.ปตท. นำสิทธิการเช่าไปลงบัญชีในส่วนของทุนในมูลค่า ๓.๒ หมื่นล้านบาท ปตท.ก็ต้องจ่ายเงินให้กับกระทรวงการคลังในจำนวน ๓.๒ หมื่นล้านบาทด้วย ปตท.จึงจะสามารถลงบัญชีสิทธิการเช่า ๓.๒ หมื่นล้านบาทไว้ในส่วนของทุนได้ต่อไป แต่บมจ.ปตท. ไม่สามารถเปลี่ยนทรัพย์สินมูลค่า ๓.๒ หมื่นล้านบาท ไปเป็นทรัพย์สินที่เป็นสิทธิการเช่าโดยอัตโนมัติ โดยไม่มีการจ่ายเงินจริงให้กับกระทรวงการคลัง

2) อัตราค่าเช่าที่บมจ.ปตท. จ่ายให้กับกระทรวงการคลังควรเป็นเท่าไหร่ และการคิดค่าเช่าจากประชาชนและเอกชนรายอื่นควรเป็นเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับการเป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 

ภายหลังจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ที่สั่งให้รัฐบาลและพวก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑-๔) แบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติและท่อก๊าซธรรมชาติทั้งระบบคืนแก่กระทรวงการคลัง ต่อมาในปีพ.ศ.๒๕๕๑ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้โอนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบางส่วนบนบกคืนให้แก่กรมธนารักษ์มูลค่า ๑๖,๑๗๖.๒๒ ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ชำระค่าเช่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ย้อนหลังให้กรมธนารักษ์ระหว่าง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นเงิน ๑,๓๓๐ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จำนวนเงินอีก ๒๖๖ ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ ๑,๕๙๖ ล้านบาท

แต่ปรากฏข้อมูลที่คำนวณได้ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ จากประชาชน ภาคเอกชน และจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ เป็นเงินประมาณ ๑๑๖,๗๖๘ ล้านบาท แต่จ่ายค่าเช่าย้อนหลังให้กรมธนารักษ์ เพียงประมาณ ๑,๕๙๖ ล้านบาท

 

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ กรมธนารักษ์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง ได้ลงนามสัญญาให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เช่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่โอนในปีพ.ศ.๒๕๕๑ เป็นเวลา ๓๐ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๘๐ โดยให้ปตท. จ่ายค่าเช่าท่อส่งก๊าซตามอัตราขั้นบันไดของรายได้ โดยกำหนดอัตราสูงสุดไม่เกินปีละ ๕๕๐ ล้านบาท ซึ่งกรมธนารักษ์ให้เหตุผลว่าไม่ควรเก็บค่าเช่าสูงเกินไปเพื่อไม่เป็นภาระแก่ประชาชน เพราะเป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 

เมื่อคำนวณรายได้จากค่าผ่านท่อสำหรับช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เรียกเก็บค่าใช้ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ จากประชาชน ภาคเอกชนและจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นเงินสูงมากถึงประมาณ ๓๕๖,๐๐๐ ล้านบาท ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จ่ายค่าเช่าให้กับกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งคำนวณตามสูตรการแบ่งผลประโยชน์เป็นเงินเพียงประมาณ ๕,๙๙๖ ล้านบาท

 

รายได้จากกิจการค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียวตลอดระยะเวลา ๑๔ ปี ประมาณ ๓๕๖,๐๐๐ ล้านบาท บมจ.ปตท. มีกำไรขั้นต้นถึงประมาณ ๓๕๐,๐๐๐ ล้านบาท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า รายได้จากค่าผ่านท่อที่คิดจากเอกชนและประชาชน จำนวน ๑๐๐ บาท บมจ.ปตท. จะได้กำไรขั้นต้นถึงประมาณ ๙๘.๓๒ บาท โดยมีต้นทุนที่จ่ายให้กรมธนารักษ์เพียงประมาณไม่ถึง ๒ บาทเท่านั้น ถือเป็นการเอากำไรเกินสมควรจากเอกชนและประชาชน ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม ผู้ใช้รถยนต์หรือรถขนส่งที่ใช้พลังงานจากก๊าซหรือไม่ และการได้กำไรเกินสมควรขนาดนี้จะยังถือว่าเป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานได้หรือไม่

 

 

3) โดยที่กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน ท่อส่งก๊าซมีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติ ที่ไม่สมควรให้เอกชนรายใดรายหนึ่งผูกขาดกิจการไว้แต่เพียงผู้เดียว เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดให้ธุรกิจเอกชนนั้น เพราะเหตุผลดังกล่าว ครม.สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัยเมื่อปี ๒๕๔๐ ที่มีนายศุภชัย พานิชภักดิ์เป็นรองนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานจัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลกนั้น ในแผนแม่บทสำหรับพัฒนากิจการก๊าซธรรมชาติระยะยาว จึงมีมติให้แยกกิจการท่อก๊าซออกจากกิจการการจัดหาและจัดจำหน่าย ซึ่งครม. มีมติเห็นชอบตามแผนแม่บทดังกล่าวเมื่อ ๑ กันยายน ๒๕๔๑

 

 และต่อมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ ๑/๒๕๔๒ (ครั้งที่ ๖๗) เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ มีมติให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แยกกิจการก๊าซออกจากกิจการจัดหาและจัดจำหน่าย และให้ปตท. ซึ่งคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถือไว้ ๑๐๐% ก่อนที่จะมีการแปรรูป และกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒

 

ในแผนแม่บทการพัฒนากิจการก๊าซธรรมชาติ กำหนดให้มีการแยกกิจกรรมการจัดส่ง และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ออกจากกัน เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ โดยให้แยกกิจกรรมด้านท่อส่งก๊าซออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทต่างหาก เพื่อเปิดให้บุคคลที่สามสามารถเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซ โดยแผนแม่บทดังกล่าวระบุว่า :


“๑. การแยกการจัดส่งและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติของปตท. ออกจากกัน
การแยกกิจกรรมการจัดส่ง และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ออกจากกัน เป็นเงื่อนไขแรกในการที่จะส่งเสริม ให้มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนของข้อมูล และการกำกับดูแล ควรมีการแยกกิจกรรม ด้านท่อส่งก๊าซออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทต่างหาก

 

๒. การให้บุคคลที่สามสามารถเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซ
การส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพิ่มประโยชน์ให้กับผู้บริโภคในรูปของราคาที่ต่ำลง พร้อมกับคุณภาพของสินค้าและบริการที่ดีขึ้น ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถเข้าสู่ระบบท่อก๊าซ ได้อย่างเท่าเทียมกัน”

 

แต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรเมื่อจะแปรรูปการปิโตรเลียมฯ ในปี ๒๕๔๔ มีมติไม่แยกท่อก๊าซออกมาก่อนการแปรรูป ทำให้ท่อก๊าซตกเป็นสมบัติของ บมจ.ปตท. ซึ่งนำมาสู่การผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบ นำมาสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด จนมีคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๐ ที่ศาลมีคำสั่งให้แยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนกระทรวงการคลัง ได้แก่ท่อส่งก๊าซทั้งระบบและท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น แต่ก็มีการยื้อที่จะไม่คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา  การไม่แยกระบบท่อส่งก๊าซออกไปก่อนที่จะมีการแปรรูป ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นภาคเอกชน ๔๘% ในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างมาก ทั้งที่จ่ายเม็ดเงินซื้อหุ้นจำนวน ๔๘% เพียงประมาณ ๒๘,๒๗๗ ล้านบาท

 

สาเหตุที่ไม่แยกท่อก๊าซออกก่อนการแปรรูปนั้น อาจมีสาเหตุจากมูลค่ากิจการก๊าซที่มีสูงมากในมูลค่าหุ้น ดังที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพปตท. ครั้งที่ ๓/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๔ ที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินราคาหุ้นไว้ว่ามูลค่าที่เกิดจากธุรกิจก๊าซในมูลค่าหุ้นขั้นต่ำนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ ๗๘.๖๔ และคิดเป็นร้อยละ ๘๑.๓๑ ของมูลค่าหุ้นขั้นสูง จึงอาจกล่าวได้หรือไม่ว่า การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยของกลุ่มการเมืองและวาณิชธนกิจในครั้งนั้นโดยไม่แยกท่อส่งก๊าซออกก่อนการแปรรูป และก่อนการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตามมติกพช. และมติครม. นายชวน หลีกภัย คือการฉกฉวยเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีลักษณะผูกขาดไปเป็นสมบัติของเอกชนในการหาประโยชน์อันมิควรได้เข้าตัวเอง

 

นอกจากนี้ บมจ.ปตท. ยังได้ใช้สิทธิที่เคยกำหนดไว้ให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในการปรับมูลค่าทรัพย์สิน (Revalue) เมื่อมีการตัดค่าเสื่อมทางบัญชีของท่อก๊าซหมดไปแล้ว เพื่อให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยสามารถมีรายได้จากการปรับมูลค่าทรัพย์สินเพื่อใช้ในการก่อสร้างท่อก๊าซเส้นใหม่ โดยไม่เป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดิน

 

แต่สิทธินี้ตกไปเป็นของบมจ.ปตท. โดยบมจ.ปตท. ขออนุมัติการปรับมูลค่าทรัพย์สิน (Revalue) ระบบท่อก๊าซที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในปี ๒๕๕๐ โดยจ้างบริษัทเอกชน ๒ รายมาศึกษามูลค่าท่อใหม่เชิงเศรษฐศาสตร์ (Economic value) ซึ่งคำนวณจากอายุท่อที่เพิ่มขึ้น และได้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐๕,๐๐๐-๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท จากอายุการใช้งานของท่อก๊าซธรรมชาติที่เดิมเคยกำหนดอายุใช้งานไว้ ๒๕ ปี พบว่ามีอายุใช้งานได้ ๔๐-๔๕ ปี ทำให้บมจ.ปตท.ใช้มูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นไปขออนุมัติขึ้นค่าผ่านท่อจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และได้รับอนุมัติให้เพิ่มค่าผ่านท่อในปี ๒๕๕๒ อีกหน่วยละ (ล้านบีทียู) ประมาณ ๒ บาท ทำให้บมจ.ปตท. ได้กำไรเพิ่มขึ้นต่อปีประมาณปีละ ๒,๐๐๐ ล้านบาททันที หลังจากจ่ายเงินค่าเช่าย้อนหลัง ๖ ปีให้กระทรวงการคลัง เพียงประมาณ ๑,๕๙๖ ล้านบาท

 

4) ในรัฐบาลปัจจุบันก็เคยมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่๑/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั่งเป็นประธาน และที่ประชุมกพช. มีมติเห็นชอบให้มีการแยกท่อส่งก๊าซออกจากกิจการของบมจ.ปตท. มาตั้งเป็นบริษัทลูก ด้วยเหตุผลเพื่อให้ธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติมีการแข่งขันที่เป็นธรรมในอนาคต และให้บุคคลที่ ๓ (Third Party Access / TPA) สามารถเข้ามาใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้โดยในมติระบุว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทได้ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ โดยให้บมจ.ปตท. ถือหุ้นในบริษัทท่อก๊าซ ๑๐๐% และหลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะถือหุ้นในบริษัทนี้เหลือเพียง ๒๕%

 

แต่เมื่อมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซทั้งระบบเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งบมจ.ปตท. ต้องคืนท่อส่งก๊าซทั้งระบบให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๓๕/๒๕๕๐ ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซโดยกำหนดให้บมจ.ปตท. เป็นเจ้าของบริษัทลูกนี้ ๑๐๐% และให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของในสัดส่วนเพียง ๒๕% นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะท่อส่งก๊าซทั้งระบบเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่รัฐต้องเป็นเจ้าของทั้ง ๑๐๐%

 

จึงสมควรที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตั้งหน่วยงานที่เป็นของรัฐมารับคืนระบบท่อส่งก๊าซทั้งระบบ และดำเนินตามแผนที่จะลดการผูกขาด เปิดโอกาสให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อและจ่ายค่าผ่านท่อในอัตราเดียวกันให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติกพช. ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ต้องการให้แยกกิจการท่อส่งก๊าซออกจากบมจ.ปตท. อยู่แล้ว เพื่อให้บริการแบบ TPA และเป็นไปตามแผนแม่บทในการพัฒนากิจการก๊าซธรรมชาติระยะยาวที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

5) ขอให้ประธานและกรรมการคตง. โปรดกำชับผู้ว่าสตง. ว่า สตง. จะรับรองงบดุลของบมจ.ปตท. ที่ยังคงสินทรัพย์ท่อก๊าซธรรมชาติมูลค่า ๓.๒ หมื่นล้านบาทในงบดุลปีปัจจุบันของบมจ.ปตท. อีกไม่ได้ เพราะทรัพย์สินดังกล่าวมิใช่สมบัติของบมจ.ปตท. อีกต่อไปตามมติของคตง. เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙

 

จากสภาพของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านประธานและกรรมการคตง. ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ดูแลตรวจสอบการบริหารทรัพย์สินของแผ่นดินตามกฎหมาย และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ได้โปรดพิจารณาให้คำแนะนำต่อผู้ว่าสตง. และรัฐบาลว่าสมควรที่จะให้มีการคืนท่อก๊าซทั้งระบบอย่างถูกต้อง ซึ่งมิใช่การคืนแค่ตัวเลขทางบัญชี และรัฐบาลสมควรตั้งหน่วยงานของรัฐ อาจเป็น องค์การก๊าซแห่งชาติ ที่สามารถจัดตั้งขึ้นก่อนโดยพระราชกฤษฎีกาดังที่เคยจัดตั้งมาแล้วในอดีต


สมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อรับคืนท่อก๊าซทั้งระบบ และจัดการให้เป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาระบบก๊าซธรรมชาติระยะยาว ที่มุ่งหมายให้เกิดการแข่งขัน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันโดยจ่ายค่าผ่านท่อให้รัฐ เพื่อให้มีการเเข่งขัน ที่นำมาสู่การลดต้นทุนราคาพลังงานด้วยประสิทธิภาพของการแข่งขันอย่างยุติธรรมตามหลักการแข่งขันเสรี ไม่ใช่การผูกขาดที่ไร้ประสิทธิภาพ และขาดความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชน และเอกชนรายอื่น

 

หากนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท. ไม่ดำเนินการให้มีการส่งคืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งระบบโดยครบถ้วน ก็ขอให้คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลข้างต้นในฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังกรณีเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีและพวกที่ต้องคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากคดีรับจำนำข้าว ซึ่งสตง. เคยเตือนไปหลายครั้ง แต่รัฐบาลนั้นเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจนเกิดความเสียหายต่องบประมาณของแผ่นดิน

 

เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีและพวกดังกล่าวทั้งในคดีอาญา และคดีละเมิดที่ต้องชดใช้เงินที่ทำให้รัฐเสียหายเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาทแล้ว หากรัฐบาลคสช. ละเลยการเรียกคืนทรัพย์สินของแผ่นดินให้ถูกต้องตามการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทั้งที่มีการเตือนจากคตง. และสตง. แล้ว ท่านนายกรัฐมนตรีและพวกในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะหลีกหนีชะตากรรมเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีและพวกในคดีรับจำนำข้าวได้อย่างไร?

ข้าพเจ้าจึงขอนำเรียนส่งข้อมูลมาเพื่อโปรดพิจารณาโดยเร่งด่วนว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรฐานทางบัญชี และเป็นการรักษาประโยชน์แห่งรัฐ ตลอดจนหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

น.ส รสนา โตสิตระกูล
3 กุมภาพันธ์ 2560