กรณีโรงไฟฟ้าขยะ อ่อนนุช: สื่อมวลชนเลือกข้างในการเสนอข่าวผู้สมัครผู้ว่า กทม.หรือไม่!?

กรณีโรงไฟฟ้าขยะ อ่อนนุช: สื่อมวลชนเลือกข้างในการเสนอข่าวผู้สมัครผู้ว่า กทม.หรือไม่!?

 

 

 

กรณีโรงไฟฟ้าขยะ อ่อนนุช:
สื่อมวลชนเลือกข้างในการเสนอข่าวผู้สมัครผู้ว่า กทม.หรือไม่!?
 
 
โรงขยะอ่อนนุชเพื่อผลิตไฟฟ้าจากขยะ800ตัน/วันของบริษัทกรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของ กทม. ที่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในบริเวณอ่อนนุชหลายหมู่บ้าน ไปไกลถึงศรีนครินทร์ ราม2 มอเตอร์เวย์และสมุทรปราการ เป็นจุดเจ็บปวดหรือ เพนพอยท์ (painpoint) ของคนย่านนี้ที่ผู้สมัครผู้ว่าฟอร์มใหญ่พาสื่อลงมาทำข่าวเมื่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)สั่งพักใบอนุญาตโรงงานไฟฟ้าจากขยะ
 
 


 
 
ชาวบ้านได้ติดต่อดิฉันและสภาองค์ของของผู้บริโภคช่วงเดือนมกราคมให้ไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจากโรงงานไฟฟ้าขยะของกทม.มาตั้งแต่ปี2563 พวกเราลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ดิฉันในฐานะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ลงมาตรวจสอบพร้อมกับทีมงานของมูลนิธิบูรณะนิเวศน์ผู้เชี่ยวชาญด้านสารพิษจากขยะ และต่อมาได้ชวนคุณดาหวันอดีตแกนนำกรณีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ ซึ่งเคยพาชุมชนต่อสู้จนชนะมาช่วยให้คำแนะนำชาวบ้านด้วยพวกเราได้ร่วมกันลงพื้นที่เดือดร้อนจากโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช ก่อนที่ดิฉันจะมาลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
 
คนทำงานภาคสังคมอย่างพวกเรา ได้ลงรายละเอียดการตรวจสอบสารพิษและมุ่งหยุดยั้งการดำเนินการของโรงไฟฟ้าขยะไปที่ กกพ.ที่ต้องกำกับให้บริษัทกรุงเทพธนาคมทำตามข้อกำหนดในเรื่องมาตราฐานการปฏิบัติของ กกพ.(Code of Practice : CoP) การที่พวกเราแนะนำชาวบ้านให้ร้องตรงไปที่ กกพ.จึงนำมาซึ่งการออกคำสั่งพักใบอนุญาตในการผลิตไฟฟ้าของกรุงเทพธนาคม เมื่อดิฉันได้รับสำเนาเอกสารพักใบอนุญาต ดิฉันจึงส่งให้ชาวบ้านในไลน์กลุ่ม เมื่อมาเห็นว่าคุณวิโรจน์เอาเอกสารนี้มาลงในเฟซบุ๊ค เป็นการบอกเนียนๆว่าเป็นผลงานของพรรคก้าวไกล การพักใบอนุญาตของกกพ.จึงทำให้คุณชัชชาติก็พาสื่อหลายสำนักมาลงพื้นที่ด้วย ใช่หรือไม่?
 
 

 
 
 
สื่อมวลชนไม่ได้ให้ความสนใจว่าเป็นผลงานของคนทำงานทางสังคมด้านผู้บริโภค และด้านสารพิษ แต่จะให้ความสนใจผู้สมัครผู้ว่ากทม.ฟอร์มใหญ่มากกว่าทั้งที่ไม่ได้มีส่วนในการทำให้กกพ.สั่งพักใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าขยะอ่อนนุชซึ่งเป็นผลงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคและภาคประชาสังคมล้วนๆ จึงเห็นได้ว่าสื่อหลายสำนักลงพื้นที่และทำข่าวให้คุณวิโรจน์และคุณชัชชาติ แต่ไม่มาทำข่าวของดิฉันที่ลงพื้นที่ในวันที่ 12 เมษายน แม้แต่ช่อง 5 ที่ลงมาทำข่าวสัมภาษณ์ดิฉันและชาวบ้านในหมู่บ้านอิมพีเรียลปาร์คเสียดิบดี แต่กลับไม่ได้ลงข่าวเลยในวันนั้น !!??
 
คนของพรรคก้าวไกลยังเขียนระบุชื่อดิฉันที่พูดถึงการแย่งซีนกันหน้าตาเฉย ว่าให้ดิฉันไปดูไทม์ไลน์ของพรรคว่าทำอะไรมาบ้างทำนองยืนยันว่าเป็นผลงานของพรรค นอกจากนี้ติ่งของพรรคยังมาวิจารณ์กล่าวร้ายในเฟซบุ๊คดิฉันว่าไปลอกงานพรรคก้าวไกลอีกด้วย
 
เมื่อชาวบ้านรับทราบเรื่องนี้จึงเข้าไปชี้แจงว่า
“เรื่อง กกพ.ระงับการผลิตไฟฟ้า เป็นผลงานของทางคุณรสนา เพราะมีการนำเอกสารของทางกกพ.มาพินิจพิเคราะห์หาช่องทางทางกฏหมายร่วมกับพวกผมตั้งแต่ต้นและในที่สุดทางคุณรสนา ก็สามารถดำเนินการ เรื่อง กกพ.สำเร็จ สำเนาเอกสารของกกพ.ทางหมู่บ้านอิมพีเรียลได้จัดส่งให้ทางคุณณัฐพล(พรรคก้าวไกล) เองครับ ผมยืนยันครับ เรื่อง กกพ.เป็นผลงานคุณรสนาครับ”
 
เมื่อคนของพรรคก้าวไกลยอมรับในบทบาทของดิฉันและเครือข่ายในการปิดโรงไฟฟ้าขยะที่ส่งกลิ่นทำลายสุขภาพของชุมชนมาเกือบ 2 ปี ดิฉันก็ไม่ถือสา เพราะการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านจากหลากหลายกลุ่มเป็นเรื่องดี เพราะทุกฝ่ายก็หวังให้ผลดีตกกับชาวบ้าน เเต่ควรให้เครดิตกัน ก็เป็นเรื่องยอมรับกันได้ ดิฉันเองเคยทำงานในฐานะประธานกรรมาธิการมาก่อน ทราบดีว่าภารกิจของกรรมาธิการนั้นมีความสำคัญหากทำในสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า Hit to the pain point ตีตรงจุดที่เป็นประเด็นปัญหาจริงๆ
 
ดังนั้นสิ่งที่ดิฉันขอให้ทางพรรคก้าวไกลแถลงต่อประชาชนคือ ผลงานของกรรมาธิการที่พรรคก้าวไกลกำลังดำเนินการอยู่นั้นมีผลในการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรให้ชัดเจน รวมทั้งฝ่ายคุณชัชชาติด้วยช่วยแถลงให้ชัดๆว่าท่านได้เคยลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากเมกะโปรเจคโรงไฟฟ้าขยะที่อ่อนนุชอย่างไร หรือว่าเพิ่งลงไปเมื่อตอนที่กกพ.สั่งปิดโรงไฟฟ้าขยะแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนของชุมชน กทม.อันเนื่องจากโรงไฟฟ้าขยะนั้น ยังจะเป็นมหากาพย์ในภาคต่อไป ตราบใดที่บริษัทกรุงเทพธนาคม(ที่มีผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวแทนถือหุ้นในนาม
 
 
กทม.ถีง 99.98% )ยังไม่สั่งยุติหรือรื้อโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะทั้ง 10 แห่งในกรุงเทพฯ ขึ้นมาทบทวนใหม่ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี (Good Governances) ซึ่งขณะนี้โรงไฟฟ้าขยะได้สร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง มีมูลค่าราวหมื่นล้านบาทคือ โรงไฟฟ้าขยะ 800 ตันที่อ่อนนุชและโรงไฟฟ้าขยะ 500 ตันที่หนองแขม
 
 


 
ประเด็นเร่งด่วนประการหนึ่งซึ่งผู้ว่าฯกทม.จากการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องพิจารณา คือเรื่องผลประโยชน์ของผู้รับจ้างเหมาผลิตไฟฟ้าจากขยะที่ กทม. ขนส่งให้ฟรี ราว 800 ตันต่อวันนอกจากผู้รับจ้างเหมาจะได้รายได้ทั้งหมดจากการขายไฟให้การไฟฟ้านครหลวง รวมทั้งการขายแก๊สและเชื้อเพลิงจากขยะ(RDF)แล้ว ผู้ว่าฯคนใหม่จะต้องตรวจดูสัญญาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับจ้างเหมาเขายังจะได้รับเงินอุดหนุนชดเชยจากกทม.ในกรณีที่เขาไม่ได้รับรายได้จาก การฃายไฟฟ้าและแก๊สตามที่ตกลงไว้ในสัญญาหรือไม่?ในกรณีของโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชนั้น เมื่อกกพ.สั่งห้ามโรงงานผลิตไฟฟ้าขาย เขาก็ยังสามารถหมักขยะผลิตแก๊สเพื่อขายได้อีกต่อไปหรือไม่ และหากยังมีการหมักแก๊สได้อีก จะมีกระบวนการกำจัดกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียอย่างไร ?
 
นอกจากสื่อเนชั่นที่เต้าข่าวเท็จเพื่อจงใจด้อยค่าว่าดิฉันเคยสอบตกสมัครผู้ว่ากทม.มาแล้วโดยไม่กล่าวว่าดิฉันเคยได้รับการเลือกตั้งส.ว กทม.ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศต่างหาก เมื่อทีมงานดิฉันมอนิเตอร์สื่อต่างๆ แม้บางสื่อจะไม่ได้ออกมาด้อยค่าดิฉันแบบเนชั่น แต่ก็ให้พื้นที่ข่าวดิฉันน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้สมัครอื่น แม้แต่ไทยพีบีเอสซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ ก็ให้พื้นที่ข่าวนับเป็นจำนวนนาทีมากที่สุดกับคุณชัชชาติ คุณสุชัชชวีร์ คุณวิโรจน์ และคุณอัศวินมากกว่าดิฉันที่ได้เวลาในข่าวนับเป็นวินาทีน้อยที่สุด และบางครั้งในข่าวที่ไปแสดงวิสัยทัศน์เวทีเดียวกับผู้สมัครอื่นก็ไม่มีข่าวดิฉันเลย หรือสื่อสิ่งพิมพ์เช่น The Matter เวลาให้เครดิตตำแหน่งผู้สมัครฯในพื้นที่ข่าวเดียวกัน คุณชัชชาติจะได้รับการระบุว่าเคยเป็นอดีตรมต. คุณวิโรจน์เคยเป็นอดีตส.ส คุณศิธา ทิวารี อดีตส.ส คุณอัศวิน อดีตผู้ว่ากทม. คุณสกลธี อดีตรองผู้ว่ากทม.แต่พอถึงรสนา ไม่ระบุว่าเคยเป็นอดีต ส.ว กทม. กลับระบุว่าเป็นเอ็นจีโอ ดิฉันไม่ได้รังเกียจ ถ้าจะระบุว่าเป็นเอ็นจีโอที่เคยเป็นอดีตส.ว เลือกตั้งของ กทม.
 
 
ดิฉันก็จบมาทางสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมเข้าใจได้ถึงวิธีการสื่อสารแบบเนียนๆของสื่อที่ต้องการเชียร์ใคร จึงขอฝากถึงผู้บริหารของสื่อแต่ละสำนักแต่ละค่ายที่มีทุนใหญ่หนุนหลังอยู่ ว่าควรมีความเป็นมืออาชีพและความเป็นกลางในการเสนอข่าว และควรให้พื้นที่ข่าวอย่างเป็นธรรม เว้นเสียแต่ว่านักข่าวไม่เป็นกลางเพราะนโยบายของผู้บริหารเสียเอง
รสนา โตสิตระกูล
14 เมษายน 2565