“รสนา” ประกาศแผนถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะลดค่าโดยสาร บีทีเอสสายสีเขียว 20 บาทตลอดสาย
“รสนา” ประกาศแผนถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะลดค่าโดยสาร บีทีเอสสายสีเขียว 20 บาทตลอดสาย โดยไม่ถูกบีบให้ยอมจำนนต่ออายุสัมปทาน บีทีเอส สายสีเขียวสูงสุด 65 บาทไปอีก 30 ปีได้อย่างไร ?ดิฉันชวนชาว กทม. มาทำความเข้าใจกับมหากาพย์แห่งการสร้างหนี้ให้ กทม.อย่างมโหฬาร เพื่อบีบเส้นทางนำไปสู่เงื่อนไขการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก จากสถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอีก 7 ปีข้างหน้า คือปี 2572 รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเส้นทางหลักจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. โครงสร้างระบบรางที่คน กทม. เป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างที่รวมอยู่ในราคาค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ดังนั้นหลังปี 2572 ค่าโดยสารควรจะสามารถลดลงเหลือเพียง 20 บาทได้แต่มี “ขบวนการ”ทำให้ กทม.มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อนำไปสู่การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี ในราคาสูงสุด 65 บาทต่อไปมีการประเมินมาแล้วว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายไม่คุ้มค่าทางธุรกิจตลอด 25 ปี ดังนี้1) จากสถานีอ่อนนุช - ถึงสถานีแบริ่ง - สถานีการเคหะสมุทรปราการ (ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ อัตราผลตอบแทนทางการเงิน -1.44%)2) จากหมอชิต - ถึงสถานีสะพานใหม่ - สถานีคูคต (มีการประเมินว่าช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ อัตราผลตอบแทนทางการเงินเพียง 0.70% )“มูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดหนี้สินที่ต้องกู้เงินจากกระทรวงการคลังรวมดอกเบี้ยถึงปี 2564 จำนวน 66,851 ล้านบาท”กทม. สมควรรู้ว่าโครงการเดินรถส่วนต่อขยายจะไม่มีกำไร หากรัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณมาให้ แต่ปรากฎว่า กทม. ได้ให้บริษัทกรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของ กทม.ไปดำเนินการจ้างบริษัทบีทีเอส เดินรถในส่วนต่อขยายตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2563 เดือนละ 593 ล้านบาท โดยไม่ได้เก็บค่าโดยสารจากประชาชนในส่วนต่อขยายที่ 2 เพราะอ้างว่าเป็นช่วงวิกฤติโควิด ทำให้ กทม. มีหนี้สินค่าจ้างเดินรถเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ปัจจุบันมีหนี้ค่าจ้างเดินรถ (O&M) และ หนี้ค่าระบบอาณัติสัญญาณ ไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) ที่ต้องจ่ายบริษัทบีทีเอสประมาณ 35,884 ล้านบาทบริษัทบีทีเอส ยื่นเงื่อนไขให้ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลัก และ ส่วนต่อขยายไป 30 ปี โดยเก็บค่าโดยสาร คน กทม. สูงสุด 65 บาทตลอดสายไปอีก 30 ปี แต่ถ้าหากไม่ต่อสัมปทาน กทม.ก็ต้องจ่ายหนี้คืน หรือหากไม่มีเงินจ่าย ก็จะถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองคนที่จะมาเป็นผู้ว่ากทม.จากการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องให้คำตอบกับบริษัทบีทีเอส ภายในปี 2567 (5 ปีก่อนหมดสัมปทาน) ว่าจะต่อสัมปทานให้บีทีเอสอีก 30 ปีหรือไม่ หากไม่ต่อสัมปทาน ก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้แสนกว่าล้านบาทรสนาและทีมขอเสนอทางออกที่จะจ่ายหนี้บริษัทบีทีเอส โดยไม่ต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี ที่จะทำให้ชาว กทม. ไม่ต้องแบกรับราคาค่าโดยสาร 65 บาท ไปอีก 30 ปี และเงินใช้หนี้จะไม่นำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อไม่เป็นภาระทางภาษีของชาว กทม. ด้วยดังนี้1.ให้ กทม.ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ให้ทำการกู้เงินเพิ่มจากกระทรวงการคลัง จากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเดิม 51,785 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ให้รวมดอกเบี้ยจนถึงปี 2564 จริงเป็น 66,851 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้มาเป็นของกรุงเทพมหานครให้ถูกต้องเสียก่อน2.ให้ กทม. ขอเงินกู้กระทรวงการคลังจำนวน 66,851 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 แล้วนำเงินดังกล่าวมารับทรัพย์สินชำระหนี้สิ้นของ รฟม. เพื่อทำให้ข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานครยุติอย่างสมบูรณ์3.เมื่อได้รับโอนทรัพย์สินส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงทำหนังสือแจ้งบริษัทบีทีเอส ถึงการไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียวหลังปี 2572 และเตรียมการรับโอนกรรมสิทธิ์เส้นทางสายสีเขียวส่วนเส้นทางหลักเป็นของ กทม. หลังปี 25724. แจ้งบริษัทบีทีเอสยกเลิกสัญญาจ้าง ระหว่างกรุงเทพธนาคม กับบริษัทบีทีเอสที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มูลค่าจ้างเดินรถถึงปี 2585 สูงถึง 161,698 ล้านบาท เนื่องจากสัญญาดังกล่าวผิดกฎหมายในการเดินรถซึ่งเป็นทรัพย์สินของ รฟม. ที่ยังไม่ได้โอนทรัพย์สินให้เป็นของกรุงเทพมหานคร และจะเตรียมส่งหลักฐานให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบและกล่าวโทษผู้กระทำความผิดในกระบวนการทำสัญญาฉบับดังกล่าวต่อไป5.ให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเจรจาทำสัญญากับบริษัทบีทีเอสใหม่ เพื่อจ้างเดินรถส่วนต่อขยายนี้ให้ถึงเพียงแค่ปี พ.ศ. 2572 เพื่อให้หมดสัญญาจ้างตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลักในปี 2572 ป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลเดินรถเมื่อหมดสัญญา และให้ กทม.พร้อมรับซื้อหัวขบวนและขบวนรถต่อจากบีทีเอส หลังหมดสัญญาปี 2572 เพื่อยุติสัญญาเดิมซึ่งจ้างนานเกินไปถึงปี 2585 และมูลค่าที่มากเกินไปถึง 161,698 ล้านบาท หากเจรจาได้ ก็จะดำเนินการชำระหนี้ที่บริษัทบีทีเอสได้ดำเนินไปแล้วจริงประมาณ 36,000 ล้านบาท ภายในไม่เกิน 6 เดือน หากตกลงกันได้ให้ทำการยกเลิกสัญญาที่กระทำไม่ถูกต้องก่อนหน้านี้ตามข้อ 46. ดำเนินการเก็บค่าโดยสารในสถานีส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามตารางอัตราค่าโดยสารเดิมของบีทีเอส สูงสุดไม่เกิน 65 บาท เพื่อนำรายได้มาลดภาระการขาดทุนและชำระหนี้แก่บริษัทบีทีเอส7. เปิดประมูลเอกชนเหมาช่วงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ใน 23 สถานีหลัก (หลังปี 2572) และ 36 สถานีส่วนต่อขยาย (ทันทีในปี 2566) (ค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ และค่าเชื่อมต่ออาคารเอกชน) และแบ่งส่วนแบ่งให้รัฐ คาดว่าจะได้ส่วนแบ่งราว 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี
8. ดำเนินการให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุน (securitization) โดยนำรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3,000-5,000 ล้านบาทมาชำระหนี้คืนผู้ลงทุน คาดว่าจะได้เงินราว 36,000 ล้านบาท เพื่อมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทบีทีเอสได้ทั้งหมด ณ ปี 2566 (ทั้งในส่วน O&M และ E&M) ระยะเวลาคืนเงินตราสารหนี้ 15-20 ปีที่อัตราค่าตอบแทน 2.5-3.0% ต่อปีให้แก่ผู้ลงทุน9. กำหนดราคาค่าโดยสารใหม่สูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายสีเขียวรวมส่วนต่อขยาย หลังปี 2572 และนำรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปีมาชำระหนี้สินให้แก่กระทรวงการคลังในค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายประมาณ 70,000 ล้านบาท ใช้เวลา 20-25 ปีจากข้อมูลรายรับรายจ่ายของ บริษัทบีทีเอส 5-6 ปีที่ผ่านมาพบว่าต้นทุนในการเดินรถ (O&M) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 10-16 บาทเท่าต่อเที่ยวเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่า กทม. จะสามารถเจรจาต่อรองค่าเดินรถและประมูลจ้างเดินรถหลังปี 2572 ได้ในอัตราต่ำใกล้เคียงต้นทุนจึงสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารที่ 20 บาทสูงสุดตลอดสายได้ นอกจากนี้หลายประเทศสามารถบริหารระบบรถไฟไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีต้นทุนในระดับเดียวกันที่ได้ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น จึงทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้แน่นอนหากเราเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจหากเราไม่ลุกขึ้นสู้ และยอมจำนนในหนนี้ ภาระค่าโดยสาร บีทีเอสสูงสุด 65 บาท ชาว กทม. คงต้องแบกรับไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราไปอีก 30 ปีอย่างแน่นอนรสนา โตสิตระกูล16 เมษายน 2565