รสนา เรียกร้องนายกฯ ใช้วิกฤตสงครามเป็นโอกาสในการปฏิรูปพลังงานไทย

รสนา เรียกร้องนายกฯ ใช้วิกฤตสงครามเป็นโอกาสในการปฏิรูปพลังงานไทย

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนา เรียกร้องนายกฯ ใช้วิกฤตสงครามเป็นโอกาสในการปฏิรูปพลังงานไทย
 
 
 
สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งตัวเองไม่ได้ด้านพลังงาน และแม้ประเทศที่น่าจะพอพึ่งตัวเองได้อย่างไทย แต่เมื่อบริษัทพลังแห่งชาติถูกแปรรูปไป ราคาพลังงานก็กลายเป็นธุรกิจที่ต้องหากำไรทุกเม็ด ยิ่งรัฐบาลไทยออกกติกาคุ้มครองบริษัทพลังงานว่าเป็นธุรกิจเสรี ก็แทบไม่สามารถบริหารจัดการพลังงานให้มีราคาที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนได้เลย ทั้งที่รัฐถือครองหุ้นใน บมจ.ปตท.เกิน 50 % และในหนังสือชี้ชวนการซื้อหุ้นใน บมจ.ปตท.เมื่อปี2544 ได้ระบุไว้ชัดเจนให้ผู้ลงทุนรับรู้ความเสี่ยงว่ารัฐบาลสามารถแทรกแซงราคาพลังงานได้ แต่รัฐบาลกลับอ้างว่าบริษัทพลังงานมีกฎหมายคุ้มครอง ทำอะไรไม่ได้ ต้องใช้วิธีขอร้อง ขอความร่วมมือเท่านั้น
 
ช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออ้างว่าบริษัทพลังงานเป็นตลาดเสรีทั้งที่สูตรโครงสร้างราคาน้ำมันไทยเป็นราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ ทำให้มีปรากฎการณ์ค่าการกลั่นสูงถึง 8.56 บาทต่อลิตร
 
สังคมให้ความสนใจกับราคาน้ำมันที่มีกำไรสูงเกินสมควรไปมาก แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือสูตรราคาก๊าซหุงต้มก็ใช้วิธีสมมติว่านำเข้ามาจากซาอุดิอารเบีย ซึ่งสูตรราคาสมมติว่าน้ำมันสำเร็จรูปนำเข้าจากสิงคโปร์ และก๊าซหุงต้มสมมติว่านำเข้าจากซาอุดิอารเบีย ก็ทำให้ราคาพลังงานที่คนไทยใช้แพงเวอร์ จนการเอากองทุนน้ำมันไปชดเชยกำลังถึงคราวล่มจมเพราะเป็นหนี้บักโกรก ทั้งที่หนี้เหล่านั้นมาจากสูตรราคาที่อุ้มเอกชนให้ได้กำไรในนามของการค้าเสรีแบบปลอมๆเท่านั้น ใช่หรือไม่
 
ทรัพยากรปิโตรเลียมหลักของไทยคือมีก๊าซมากกว่าน้ำมัน โดยก๊าซหุงต้ม (LPG) จากโรงแยกก๊าซและจากโรงกลั่นน้ำมันรวมกันแล้วกว่า 90% ของความต้องการใช้ในประเทศ ก๊าซ LPG ส่วนที่นำเข้ามีประมาณไม่เกิน 10%
 
ก๊าซจากโรงแยกที่ถือว่าเป็นทรัพยากรในประเทศมีถึง 55% ในขณะที่คนไทยให้เป็นก๊าซหุงต้มในครัวเรือนเพียง 33% ซึ่งทรัพยากรก๊าซในประเทศเพียงพอให้คนไทยใช้ ได้ในราคาในประเทศ รัฐบาลในอดีตจึงกำหนดราคาควบคุมราคาก๊าซหุงต้มให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ในราคาประมาณกิโลกรัมละ 10บาท (333เหรียญต่อตัน) ก่อนบวกภาษีและค่าการตลาด
 
แต่ตั้งแต่พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชารัฐประหาร เมื่อ 22พ.ค 2557 ก็มีการยกเลิกราคาก๊าซหุงต้มควบคุมภาคครัวเรือนเมื่อ 15 ธ.ค 2557 และให้ไปสมมติราคาก๊าซหุงต้มว่านำเข้าจากประเทศซาอุดิอารเบียทำให้ราคาก๊าซหุงต้มตามกลไกตลาดเสรีที่อ้าง เพิ่มเป็นราคา 28.65 บาท/กิโลกรัม (17 มิ.ย 2565) และเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยกิโลกรัมละ 13.86 บาท/กก.เท่ากับเอากองทุนน้ำมันมาอุ้มราคาถึงถัง(15กิโลกรัม)ละ 207 บาท (17 มิ.ย 2565)
 
หากไม่ยกเลิกสูตรราคาสมมตินำเข้า ทั้งที่ไม่มีการนำเข้าจริง จะไม่สามารถแก้ปัญหาความหายนะของกองทุนน้ำมัน และความไม่เป็นธรรมของราคาก๊าซและน้ำมันในประเทศได้เลย การเอากองทุนน้ำมันมาชดเชยก๊าซหุงต้ม 207บาท/ถัง จนLPGติดหนี้กองทุนเกือบ 4หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อขายจริง หรือเกิดจากกติกาที่รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพลังงานเอาเปรียบราคาประชาชน ใช่หรือไม่
 
สูตรโครงสร้างราคาน้ำมันที่ใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากสิงคโปร์ ใช้มาตั้งแต่ยุคที่ไทยส่งเสริมให้มีการสร้างโรงกลั่นในประเทศเพื่อกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปทดแทนการนำเข้าน้ำมันเพื่อให้ได้น้ำมันราคาถูก การให้แรงจูงใจเช่นนี้เพื่อช่วยอุ้มโรงกลั่นในระยะแรก แต่ปรากฎว่าแม้โรงกลั่นจะยืนได้เองแล้ว และสามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายต่างประเทศ เป็นสินค้าส่งออกติดอันดับ 1 ใน5 มีรายได้ปีละกว่า 300,000ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ยอมยกเลิกสูตรโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ราคาสมมติว่านำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ และไม่มีรัฐบาลไหนกล้ายกเลิกสูตรราคาที่ให้แรงจูงใจโรงกลั่นได้เลย
 
 
มีแต่นักการเมืองที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจแล้วมาเรียกร้องให้ยกเลิกสูตรฟันหัวประชาชนทั้งที่ฟันมาแล้ว25 ปี น่าเสียดายที่นักการเมืองขณะมีอำนาจอยู่ก็ไม่เคยกล้าใช้อำนาจในการยกเลิกสูตรขูดรีดนี้แต่ประการใด
 
รัฐบาลของพล. อ ประยุทธ์ ทำให้กลไกหากำไรจากก๊าซที่เป็นปิโตรเลียมหลักของประเทศสามารถทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัทพลังงาน ดังที่ได้กำหนดกติกาดังนี้
 
1)ยกเลิกราคาควบคุมก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือนคนไทยที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นเคยกำหนดไว้ประมาณ 10 บาท/กิโลกรัม (333เหรียญ/ตัน)โดยพล.อ ประยุทธ์สั่งให้ยกเลิกราคาควบคุมไปเมื่อ15 ธันวาคม 2557 ทุกวันนี้ราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงแยกก๊าซขึ้นไปเกือบ 3 เท่าตัว คือ 28.65 บาท/กิโลกรัม (ราคาเมื่อ 17 มิย.2565)
 
2)ยกเลิกการเก็บเงินการใช้ก๊าซLPG ของบริษัทปิโตรเคมีที่เคยส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน1บาท/กิโลกรัม จ่ายตั้งแต่ 4 ต.ค 2554 และถูกยกเลิกโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในยุคของพล.อ ประยุทธ์ เมื่อ 2ก.พ.2558
 
3)ปิโตรเคมีสามารถใช้ LPG ในราคาถูกกว่าภาคส่วนอื่น โดยมีสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก โดยได้ใช้ก๊าซหุงต้ม หรือLPG จากโรงแยกในราคาประมาณ 17 บาทต่อกิโลกรัมถูกกว่าภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้ราคาสมมติว่านำเข้าที่ 28.65 บาท /ก.ก
 
4)ปิโตรเคมีที่ใช้ทำพลาสติกไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต (ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะ ในกระบวนการผลิตก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม) และยังได้รับการยกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จึงมีกำไรอย่างมหาศาล
 
ข้อเสนอในการแก้ปัญหาพลังงานเพื่อความเป็นธรรมต่อรัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 
1) ขอให้ยกเลิกสูตรสมมติราคานำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ และเปลี่ยนสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น เป็นราคาส่งออก+0.10บาท ต่อลิตร
 
2)ยกเลิกสูตรสมมติราคาก๊าซนำเข้าจากซาอุดิอารเบีย และในส่วนของภาคครัวเรือนให้ใช้ก๊าซในประเทศจากโรงแยกในราคาควบคุม 333 เหรียญ/ตัน ไม่เกิน 350เหรียญ/ตัน หรือราคาประมาณ 11-12 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ใช่ 28.65บาทต่อกิโลกรัม
 
3)ให้เก็บเงินจากปิโตรเคมีเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนที่ใช้ก๊าซ LPG จากโรงแยกเพราะเป็นทรัพยากรในประเทศโดยคำนวณส่วนต่างจากราคาตลาดโลก ลบด้วยราคาที่ซื้อจากโรงแยก
 
ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2565 ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ที่ผลิตจากโรงแยกก๊าซ ทั้งหมดอยู่ที่ 257 ล้านกิโลกรัม ปิโตรเคมีใช้ไป 230ล้านกิโลกรัม เมื่อคำนวณราคาLPG ตลาดโลก ที่ 750$ต่อตัน (25.875บาท/กก.) ราคาที่ปิโตรเคมีซื้อจากโรงแยกที่ 498$ ต่อตัน (17.18 บาท/กก) มีส่วนต่างอยู่ที่ 8.695 บาท/กก. รัฐบาลจึงควรสั่งให้ปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 230 ล้านกก. X 8.695 บาท เป็นเงิน 1,999,850,000 บาท
 
5)รัฐบาลสมควรเก็บภาษีสรรพสามิตจากก๊าซ LPG ที่ปิโตรเคมีใช้ เพราะกิจการปิโตรเคมีที่ผลิตพลาสติกก่อให้เกิดขยะพลาสติกปริมาณมาก และมลภาวะทางอากาศ จึงสมควรที่จะเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อนำมาใช้กับกิจการด้านเก็บขยะและดูแลอากาศสะอาด
 
 
รัฐบาลมีหน้าที่สร้างความเป็นธรรมด้านราคาและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพลังงานระหว่างประชาชนกับภาคส่วนอื่นที่เป็นผู้ประกอบการด้านพลังงาน โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดวิกฤตการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งไม่อาจกำหนดได้ว่าจะยุติในเวลาอันสั้น หรือลุกลามขยายตัวต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานกับค่าครองชีพของประชาชนมากน้อยเพียงใด รัฐบาลควรเตรียมการเปลี่ยนแปลงกติกาให้เหมาะสม นายกรัฐมนตรีควรรีบยกเลิกกติกากำหนดสูตรโครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ดังที่ท่านเคยประกาศว่าจะให้ความเป็นธรรมด้านพลังงานกับคนไทย
รสนา โตสิตระกูล
19 มิถุนายน 2565