"ฤาการรัฐประหารจะเป็นเพียงฤดูกาลทางการเมืองเพื่อทะลุทะลวงอุปสรรคให้ทุนพลังงาน !?!

"ฤาการรัฐประหารจะเป็นเพียงฤดูกาลทางการเมืองเพื่อทะลุทะลวงอุปสรรคให้ทุนพลังงาน !?!

 

 

 

 
 
"ฤาการรัฐประหารจะเป็นเพียงฤดูกาลทางการเมืองเพื่อทะลุทะลวงอุปสรรคให้ทุนพลังงาน !?!
 
 


รองนายกฯประวิตรประกาศล่วงหน้า รัฐบาลไม่ได้ถอยโรงไฟฟ้าถ่านหิน แค่ชะลอรอสร้าง !!!

แล้วพรุ่งนี้(อังคาร21 ก.พ 2560)ประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านนายกรัฐมนตรีจะมีมติขัดแย้งกับรองฯประวิตรได้หรือ !?!

เรื่องพลังงานคือฐานรากของระบบเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาล นโยบายพลังงานที่ผ่านมาจึงเป็นกติกาที่เอื้อให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นเสือนอนกินด้วยการล้วงกระเป๋าประชาชนผ่านค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

นโยบายพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญเรื่องหนึ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจให้กับสังคมไทย แต่เราคงไม่มีความหวังแล้วกระมังว่ารัฐบาลคสช.จะเข้ามาปฏิรูปนโยบายพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง

นโยบายเรื่องพลังงานของทุกรัฐบาลในระยะ15ปีที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลจากการรัฐประหาร ไม่มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญ

ประชาชนถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงาน เพราะนโยบายนี้คือกติกาการบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใครนั่นเอง

นโยบายพลังงานถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนและกลุ่มข้าราชการมานาน และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้จากบนลงล่าง ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการกระทำและคำพูดของนายกรัฐมนตรี อย่างเช่นคำพูดที่ว่าเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นนโยบายของรัฐบาลมาตั้งแต่ปี2550

ดังนั้นที่ประชาชนคิดว่ารัฐบาลจะถอยเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือนโยบายพลังงานอื่นๆที่เอื้อกลุ่มทุนก็ต้องบอกว่าคิดผิด แท้จริงเป็นเพียงการถอยทางยุทธวิธีเพื่อลดกระแส แต่เป้าหมายไม่เคยเปลี่ยน

ไม่เชื่อขอให้ดูร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับที่อยู่ในการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
กฎหมายทั้ง2ฉบับนี้เป็นกติกาสำคัญในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ แทนที่รัฐบาลจะใช้เวลากว่า2ปีที่ผ่านมาแก้ไขจุดอ่อนตามข้อทักท้วงของประชาชนที่ต้องการเพียงแค่ให้รัฐบาลแก้ไขตามรายงานการศึกษาของสนช. แต่การที่รัฐบาลเล่นรำวงวนเวียน แต่ไม่แก้ไขจุดอ่อนก็ไม่ต่างจากเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลตั้งไตรภาคีก็เป็นเพียงพิธีกรรมอันกลวงเปล่า พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลไม่ได้จริงใจแก้ไขในสิ่งที่ควรจะเป็น

โดยที่ห้วงเวลานี้คือหัวเลี้ยวต่อสำคัญในการกำหนดนโยบายพลังงานที่เป็นไทแก่ประเทศ เพราะสัมปทาน 2 แปลงแรก คือ แปลงเอราวัณ และบงกชกำลังจะหมดอายุในปี 2565, 2566 และจะกลับมาเป็นของประเทศหลังจากยกกรรมสิทธิ์ให้เอกชนไป50ปีในระบบสัมปทาน หลังจากนี้จะมีแปลงสัมปทานที่ทะยอยหมดอายุอีกหลายแปลง และตามกฎหมายปิโตรเลียม 2514 บัญญัติห้ามต่ออายุในแปลงสัมปทานที่ให้ครบ2ครั้งแล้ว เพื่อให้รัฐบาลต้องนำกลับมาบริหารเอง จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม2514 ให้มีระบบใหม่แทนระบบสัมปทานที่รัฐจะเข้ามาบริหารได้เอง

กฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับเป็นกติกาที่จะนำมาบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศ ซึ่งมีมูลค่าปีละ4-5 แสนล้านบาท แต่ร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง2ฉบับที่รัฐบาลผลักดันยังคงยึดมั่นจะยกสัมปทานกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมให้เอกชนต่อไป เพื่อแก้ไขข้อห้ามเรื่องต่อสัมปทานให้เอกชน ร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมจึงนำระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลอมาอำพรางรูปแบบที่เป็นสัมปทานจำแลงมาไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียม

ท่านนายกฯอ้างว่าไม่สามารถทำเอง เพราะไม่มีความรู้ ไม่มีเงินตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่กลับอนุมัติเงินหมื่นล้านบาทให้กฟผ.ไปลงทุนซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ทั้งที่ที่เป็นธุรกิจอัศดงคต(sunset business) แต่การตั้งบรรษัทพลังงานเพื่อมารับแปลงปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทาน เพียงแปลงเอราวัณและบงกชก็มีมูลค่าปีละ2แสนล้าน รัฐบาลกลับจะยกให้เอกชน แต่ธุรกิจที่ไม่มีอนาคตอย่างถ่านหิน รัฐบาลกลับอนุมัติเงินหมื่นล้านบาทไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของใครกันแน่

นายกรัฐมนตรียกศาสตร์พระราชา"ให้หัดตกปลาเอง ดีกว่ารอรับปลาแจกจากคนอื่น" มาสอนประชาชน รัฐบาลก็ควรหัดตกปลาจากบ่อของเราเองที่กำลังจะได้คืนมาจากเอกชนได้แล้ว แทนที่จะมุ่งมั่นยกบ่อให้เอกชนต่อไป และรอรับเศษปลาที่แบ่งจากเอกชนเหมือนที่ทำมาแล้ว50ปี

มันเป็นเรื่องที่น่าสงสัยหรือไม่ ที่เหตุใดรัฐบาลจึงสนับสนุนกฎหมายปิโตรเลียมฉบับที่ไม่ได้แก้ไขจุดอ่อน จุดรั่วไหลเรื่องรายได้ และออกแบบระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลอเข้าสู่การพิจารณาในสนช. แม้รัฐบาลจะยอมให้สนช.ชะลอเวลาพิจารณาร่างกฎหมายนี้หลายครั้งเพื่อลดกระแส แต่เป้าหมายคือยื้อที่จะไม่แก้ไขจุดอ่อนในกฎหมาย และไม่ให้มีระบบจ้างผลิตหรือไม่ให้มีระบบแบ่งปันผลผลิตตามหลักสากลที่เป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า พฤติกรรมเช่นนี้เป็นการล่อหลอกแบบเดียวกับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือถอยทางยุทธวิธี แต่เป้าหมายเอื้อเอกชนไม่เปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่

ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลคสช.ทำให้เกิดคำถามว่า ฤาการรัฐประหารที่ผ่านมา เป็นเพียงฤดูกาลหนึ่งทางการเมืองเพื่อภารกิจทะลุทะลวงอุปสรรคให้กลุ่มทุนพลังงานที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ใช่หรือไม่!?!

รสนา โตสิตระกูล
20 ก.พ 2560