"ถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร" อะไรคือทางออกของปัญหา?

"ถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร" อะไรคือทางออกของปัญหา?

 

 

"ถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร" อะไรคือทางออกของปัญหา?

 

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างหันมาเดินหน้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของวิกฤตโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ภาครัฐของไทยยังทำให้คนไทยรอคอยเก้อ กับคำสัญญาที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมในการดำเนินการตามที่รัฐบาลได้ให้ไว้ในคำมั่นสัญญาข้อตกลงปารีสเพื่อลดโลกร้อน แต่กลับเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโครงการในประเทศไทย โดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านและผลกระทบที่จะตามมา ทั้งที่คำตอบของปัญหาเรื่อง “ถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร” นั้นมีอยู่แล้ว นั่นคือ พลังงานหมุนเวียน แต่ทำไมภาครัฐถึงดึงดันที่จะเลือกถ่านหินค้านกับกระแสของโลก?

 

  • ประชาชนเลือกพลังงานหมุนเวียน แล้วรัฐล่ะ?

สัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินประเทศไทย ได้มารวมตัวกันราว 200 คน จากหลายจังหวัดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกระบี่ สงขลา ปัตตานี อยุธยา ฉะเชิงเทรา และอื่น ๆ เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้ และความกังวลต่อการคุกคามของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและวิถีชีวิตของพวกเขา เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา พี่น้องเครือข่ายประชาชนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินประเทศไทยได้ยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) และเข้าหารือกับผู้แทนรัฐบาล กรณีการลงนามในสัญญาปารีสของรัฐบาลไทยซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบริษัทเอกชนหลายพื้นที่ในประเทศไทย

 

  • "สำหรับประเทศไทยได้ร่วมลงนามในสัญญาปารีสว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนร้อยละ 20-25 ภายในปี ค.ศ.2030 แต่ในทางนโยบายนั้นรัฐบาลกลับปล่อยให้มีการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกประมาณกว่า 7,000 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี 2015 ทั้งนี้การใช้ถ่านหินนับเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยคาร์บอนซึ่งก่อภาวะโลกร้อน จึงเท่ากับสวนทางกับการลงนามในสัญญาปารีส นอกจากนี้แล้วในกระบวนการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้กระทำโดยการละเมิดสิทธิชุมชนของคนในท้องถิ่น ไม่มีการใช้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ใช้กำลังทหารกีดกันผู้เห็นต่างในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น" เครือข่ายฯ กล่าวในหนังสือถึง UN (อ้างอิงจาก หยุดถ่านหินกระบี่)

ภาพความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดกระบี่และสงขลาได้ถูกนำมาเสนอในงาน “ประเทศไทยในสัญญาปารีส ถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร” ระหว่างวันที่ 20-21 มกราคมที่ผ่านมา ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว ผ่านเลนส์ โดย วันชัย พุทธทอง, เริงฤทธิ์ คงเมือง, ศิรชัย อรุณรักษติชัย และ จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่เต็มไปด้วยป่าชายเลนเขียวขจี ภาพป่าชายเลนที่คลองตู่หลงของเทพา และการจับปลาด้วยมือเปล่า สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ที่จะต้องสูญหายไปหากเกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น

“ต้นทุนชีวิตของคนป่วย มีมูลค่าเท่าไหร่เราไม่เคยคิด หรือมูลค่าความสวยงามของธรรมชาติเราก็ไม่เคยคิด แต่สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนที่สำคัญ … พื้นที่นี้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ผู้คนต้องการอาหารที่สะอาด อาหารทะเลที่ปลอดสารพิษหายากมากในตลาด แต่ที่เทพายังเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สะอาด ผมคิดว่าเราควรช่วยกันปกป้องไว้ ในฐานะที่เรามาถ่ายภาพ เราอยากบอกต่อว่าที่นี่มีเรื่องราวแบบนี้อยู่ และที่สำคัญคือ อาหารเกี่ยวพันกับเรา กับทุกคน” คุณ วันชัย พุทธทอง ช่างภาพผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของเทพากล่าว

 

  • ขณะเดียวกัน คุณ เริงฤทธิ์ คงเมือง ได้ถ่ายทอดภาพผลกระทบต่อชีวิตของชาวแม่เมาะรอบพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมกับบอกเล่าว่า “ผู้ป่วยทั้งหมดไม่มีหมอรับรองว่าป่วยจากถ่านหิน ผู้ป่วยทั้งหมดที่แม่เมาะมีถังออกซิเจน อากาศบริสุทธิ์มีอยู่แค่ในขวดเท่านั้น มีพี่คนนึงเป็นมะเร็งปอด ลูกเป็นภูมิแพ้ มีครั้งหนึ่งที่ไปต่างจังหวัด แล้วอาการภูมิแพ้หายไป เล่าให้แม่ฟังว่าอยู่ที่นู่นเขาไม่มีอาการเลย ในที่สุดครอบครัวนี้ก็ย้ายบ้านไป แต่บางครอบครัวก็ไม่มีทุนที่จะย้าย บ้างก็ไม่มีสิทธิพูด เนื่องจากจะไม่ได้รับโควต้าเข้าไปทำงานในโรงไฟฟ้า มีเด็กคนหนึ่งมีอาการเหมือนเป็นหวัด แต่ว่าสิ่งที่ไหลออกมาคือเลือดกำเดา เพื่อนของแม่น้องคนนั้นมาขอคำปรึกษา เพราะลูกของเขากำลังป่วยและมีอาการเหมือนกัน คำแนะนำของแม่คือ ต้องออกจากที่นี่ไปให้เร็วที่สุด”

คุณ จริยา เสนพงศ์ นำเสนอถึงภาพผลกระทบของโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินทั่วโลก ซึ่งเผยให้เห็นชัดว่า ชีวิตชุมชนของประเทศที่ขายถ่านหิน อย่างอินโดนีเซียและอินเดีย กับประเทศที่ซื้อถ่านหินนั้นไม่ต่างกันเลย “สิ่งที่เกิดขึ้นและไม่มีทางเอากลับคืนมาได้คือระบบนิเวศที่ถูกทำลายไป ทั้งผืนดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากกว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ดังเดิม ภาพจากการโฆษณาไม่มีทางแสดงสิ่งไม่สวยงามของถ่านหิน ในวันนี้ขึ้นอยู่กับเราแล้วที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อม และเลือกเก็บภาพที่ดี ภาพที่สวยของสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราตลอดไป”

 

  • การกีดกันของภาครัฐ ภัยที่น่ากลัวกว่าผลกระทบจากถ่านหิน

ทางเครือข่ายฯ แสดงความกังวลที่น่าสนใจว่า ภัยคุกคามที่อาจจะน่ากลัวกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือ การกีดกันและใช้อำนาจของภาครัฐต่อผู้คัดค้านในพื้นที่
“ขณะที่ทั่วโลกกำลังประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้า แต่ไทยกำลังประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 7,390 เมกะวัตต์ ซึ่งจริงๆ ทำได้ แต่ผมคิดว่าเป็นการไม่แคร์ชีวิตคนและสิ่งแวดล้อม นี่คือความไม่รับผิดชอบของรัฐบาลต่อชีวิตประชาชน แต่กลับใช้เครื่องมือทางกฎหมายทั้งหมดที่มีเอื้อต่อกลุ่มสนับสนุนถ่านหิน รวมถึงซื้อหุ้น 1.7 หมื่นล้าน กับหุ้นเพียงร้อยละ 10 ที่อินโดนีเซีย ในช่วงสามปีที่ผ่านมา เครือข่ายได้ท้าทายให้กฟผ. มาร่วมดีเบทไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง แต่โดนปฏิเสธตลอด เราไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอะไรนอกจากที่เราต้องมารวมตัวกัน โรงไฟฟ้าแต่ละที่ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของคนในพื้นที่ ทั้งหมดนี้นำไปสู่เรื่องเดียว คือ กำไรมหาศาลต่อกลุ่มทุน เราต้องผลักดันให้เกิดพลังงานหมุนเวียนขึ้นมา ใช้หลังคาบ้านของเรา ใช้วัตถุดิบในบ้านเราผลิตเอง การนำเข้าถ่านหินจากอินโดหลายแสนล้านบาท ต้องตกอยู่ในมือของคนไม่กี่คน เมื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้บริษัทจะขาดทุน นี่เป็นภาระกิจที่ประชาชนต้องเดินออกมาบอกความจริง” คุณ ประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าว

“ตอนนี้เชื้อเพลิงอื่นถูกกว่าถ่านหินหมดแล้ว แล้วทำไมเราต้องใช้ข้อมูลลวงโลกเพื่อหลอกคนและใช้ถ่านหินต่อไป

ความเลื่อมล้ำเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายทั้งปวง นายกเราได้เซ็นสัญญาและประกาศไว้ว่าจะลดคาร์บอน นอกจากเราจะไม่ลดกลับเพิ่มอีก 3.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นายกใช้ข้อมูลในอดีตที่พยากรณ์การเติบโตของพลังงานในปี ค.ศ. 2030 สัญญากับโลก แท้ที่จริงเป็นการพยากรณ์การปล่อยก๊าซให้สูงเกินจริงไม่ใช่ข้อมูลจริงในปัจจุบัน แล้วบอกชาวโลกว่าลดแล้ว เหมือนกับเรามีของร้อยบาท แต่ประกาศขายพันนึง เมื่อมีคนต่อบอก 500 ได้มั้ย เราก็บอกว่าได้ ความเชื่อของกฟผ. คือต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือถ่านหินตลอด แต่นั่นเป็นความจริงเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ในวันนี้ ทุกพลังงานเป็นฐานได้หมด” ประสาท มีแต้ม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในนักวิชาการในวงเสวนากล่าวถึงปัญหาและความไม่ชอบธรรมของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมถึงแนวคิดการพัฒนาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่การใช้โซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ว่า “ภัยธรรมชาติก็เกิดถี่ขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้นเพียง 1 องศา สาเหตุหลักของคาร์บอนไดออกไซด์ คือ การผลิตไฟฟ้า ผมเห็นว่าแหล่งพลังงานต้องผลิตจากแหล่งที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นี่คือเหตุผลที่ทำไมธรรมศาสตร์ต้องมีโซลาร์เซลล์ ถ้าทั่วประเทศทำได้พร้อมกัน ก็จะลดการผลิตคาร์บอนได้มาก ที่ผมต้องขอเอกชนมาทำก็เพราะกฟผ.ไม่ทำ ยังติดในความคิดแบบเดิม คือ ต้องผลิตและขาย ไม่ใช่ประชาชนผลิตได้อย่างเสรี อยากเสนอกฟผ.ว่าให้ส่งเสริมประชาชนให้ผลิต …... ถ้ามีทางเลือกให้เปลี่ยน ทำไมถึงไม่เปลี่ยน เราทำเพื่อลูกหลานของเรา ที่จะไม่ต้องมาสูดซัลเฟอร์ไดออกไซด์อีก”

ความดึงดันในการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเห็นได้ชัดในกรณีของกระบี่ ดังที่ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุตัวอย่างไว้ในตอนหนึ่งของการเสวนาว่า “ช่วงที่เรือขนส่งถ่านหินเคลื่อนตัว มีบางช่วงที่ท้องเรือกับท้องน้ำห่างกันเพียง 1 เมตร ซึ่งส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชาวประมง การวิ่งของเรือส่งผลให้นำทะเลขุ่น ส่งผลต่อหญ้าทะเล อันเป็นอาหารของพะยูน และที่อยู่ของสัตว์น้ำ จากที่เดิมหญ้าทะเลเติบโตได้ 79% จะลดลงเหลือ 29% นี่เป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียว ผลกระทบต่อคนกลุ่มเดียวคือชาวประมง แต่ถ้ามองปัจจัยอื่นจะเพิ่มมากกว่านี้”

แม้จะมีคำกล่าวพลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร แต่นั่นเป็นเพียงคำลวงของวาทะกรรมถ่านหิน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่ได้มีแค่โรงเดียว เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่สามารถเสถียรได้เพียงแค่โรงเดียว ในทางกลับกันแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีหลากหลาย ทั้งสายลม แสงแดด สายน้ำ และเศษวัสดุชีวมวล เราไม่ได้พึ่งพาอย่างใดอย่างหนึ่ง "ถ่านหิน-ไฟฟ้า-ทรัพยากร" ในเมื่อมีคำตอบที่ยั่งยืนแล้ว ทำไมเราจึงยังยึดติดกับพลังงานถ่านหินอยู่

 

โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/-/blog/58565/