"นายกรัฐมนตรีควรยุติการประวิงเวลาคืนท่อก๊าซให้แผ่นดิน"
"นายกรัฐมนตรีควรยุติการประวิงเวลาคืนท่อก๊าซให้แผ่นดิน"
แหล่งข่าวจากสตง. เปิดเผยว่าวันนี้ (2มีนาคม2560) มีการประชุมของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) เพื่อติดตามการปฏิบัติตามมติของคตง.เมื่อ10พ.ค 2559 ที่ให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.2หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่ยังไม่มีการส่งคืนนั้น ในการประชุมวันนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาสได้แถลงว่า
" ในการประชุม4ฝ่าย เมื่อวันที่24พ.ย 2559 ประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานอัยการสูงสุด และสตง. ตามบัญชาของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีนั้น ที่ประชุมมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 โดยให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงานดำเนินการให้ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซดังกล่าวให้กระทรวงการคลังตามหลักการบังคับบัญชาโดยไม่ต้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำบังคับ แต่วันที่16 ธันวาคม 2559 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกลับมีหนังสือแจ้งคณะรัฐมนตรีให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาวินิจฉัยว่าบมจ.ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซครบถ้วนหรือไม่ โดยไม่ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีใช้หลักการบังคับบัญชาสั่งให้มีการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่1320/2559 ประกอบมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 10พ.ค 2559 อันเป็นการผิดแผกแตกต่างไปจากมติที่ประชุม4ฝ่ายเมื่อวันที่ 24 พ.ย 2559 ดังกล่าว เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีสำคัญผิดมีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ 2560 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาวินิจฉัยว่าบมจ.ปตท.ส่งมอบท่อก๊าซครบถ้วนหรือไม่"
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง จึงมีมติให้สตง. แจ้งคณะรัฐมนตรีให้ทบทวนมติซึ่งเกิดจากความสำคัญผิดดังกล่าว โดยขอให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งการให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบมจ.ปตท. และกระทรวงพลังงานในฐานะผู้กำกับดูแลบริษัทดังกล่าวดำเนินการให้บริษัทดังกล่าวส่งมอบท่อก๊าซมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.2หมื่นล้านบาทตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าว ซึ่งการใช้อำนาจบังคับบัญชานี้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่800/2557
เมื่อวานนี้ (1 มี.ค 2560) ในชั้นเรียนหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่5 ของศาลรัฐธรรมนูญ รองประธานศาลปกครองสูงสุดท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นเรื่องกรณีการคืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังในชั้นเรียนที่มีผู้เข้าอบรมประมาณ50คนว่า คณะรัฐมนตรีสามารถใช้หลักการบังคับบัญชาให้บมจ.ปตท.คืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลังได้โดยไม่ต้องมาให้ศาลปกครองสูงสุดบังคับ เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และกระทรวงพลังงานก็มีหน้าที่กำกับบมจ.ปตท.อยู่แล้ว และในฐานะที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็สามารถสั่งการให้MDและบอร์ดมีมติให้ส่งมอบท่อก๊าซคืน หากMD และบอร์ดไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถปลดMDและบอร์ดและตั้งใหม่เพื่อให้มีมติดำเนินการได้ เพราะคณะรัฐมนตรีมีอำนาจบังคับตามหลักการบังคับบัญชาอยู่แล้ว
การที่นายกรัฐมนตรีมีมติเมื่อ27 กันยายน 2559ให้กระทรวงการคลังและสตง.หาข้อยุติเรื่องท่อก๊าซโดยให้ยึดประโยชน์ของแผ่นดินเป็นสำคัญนั้น ในเมื่อมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 ที่วินิจฉัยว่ากรณีที่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังไม่เป็นไปตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันภายในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นเมื่อมีการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไม่ถูกต้อง ฝ่ายบริหารก็ควรจะพิจารณาดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ครบถ้วนโดยว่ากล่าวกันเอง ทั้งนี้คณะรัฐมนตรียังไม่เคยใช้อำนาจตามมาตรา24 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ ทุนรัฐวิสาหกิจ2542 แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีจึงสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวดำเนินการให้โอนทรัพย์สินที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่ายังขาดไปให้แก่กระทรวงการคลังได้
เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เหตุใดจึงมีการแปลงสารไม่ปฏิบัติตามมติของที่ประชุม4ฝ่าย การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกระทำเช่นนี้ จะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่?
หากท่านนายกรัฐมนตรีมีเจตนาจะดำเนินการเรื่องท่อก๊าซโดยยึดประโยชน์แผ่นดินเป็นสำคัญจริง ท่านนายกรัฐมนตรีก็ควรแสดงความจริงใจด้วยการไม่ประวิงเวลาในการใช้อำนาจบังคับบัญชาของท่านนายกฯให้มีการส่งมอบท่อก๊าซคืนให้แผ่นดินโดยเร็ว
รสนา โตสิตระกูล
2 มีนาคม 2560