Number One Chevron Thailand ไพโรจน์ กวียานันท์ “ต้องรักในงานที่ทำ”
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง
Number One Chevron Thailand
ไพโรจน์ กวียานันท์
“ต้องรักในงานที่ทำ”
กว่า 20 ปี ที่ได้ทำตามฝันในอาชีพวิศวกร ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่เชฟรอนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในประเทศไทย ความสำเร็จที่ได้มาในวันนี้เพราะมีหลักการบริหาร “ยึดผลประโยชน์เป็นหลัก ต้องรักในงานที่ตัวเองทำ พยายามคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากเข้าไว้ และส่วนตนจะตามทีหลัง”
เชฟรอน เป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานครบวงจรชั้นนำระดับโลก ซึ่ง คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดใจกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของเชฟรอนในไทย ซึ่งปัจจุบันเชฟรอนดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำการสำรวจและผลิตพลังงาน รวมทั้งขนส่งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และขนส่งเชื้อเพลิงยานพาหนะ ฯลฯ พร้อมกับพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมเรือกักเก็บและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ 2 และแหล่งผลิต “เอราวัณ” จ.นครศรีธรรมราช
// ฝันอยากเป็นวิศวกร
คุณไพโรจน์ จบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาฯ และประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง เชฟรอนคอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานเป็นวิศวกรปิโตรเลียมฝ่ายขุดเจาะ บริษัท ไทยเชลล์เอ็กซพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น จำกัด จากนั้นเลื่อนตำแหน่งเป็นวิศวกรอาวุโส ฝ่ายหลุมผลิต บริษัท ยูโนแคล ประเทศไทย จำกัด และก้าวมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ แหล่งสตูล ปลาทอง ฟูนาน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
เรียกได้ว่าคลุกคลีงานด้านปิโตรเลียมมากว่า 23 ปี โดยมาร่วมงานกับเชฟรอนเป็นเวลากว่า 17 ปี ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นั้น เคยดำรงตำแหน่งรองประธาน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2553 และผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจขนส่งทางทะเล บริษัท เชฟรอนชิปปิ้ง จำกัด สหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 2551-2552
“ตอนเด็ก ผมฝันอยากเป็นวิศวกร พอโตขึ้นมาก็ได้เป็นวิศวกร (หัวเราะ) เป็นความฝันที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย สาเหตุที่ผมอยากเป็นวิศวกรเพราะสมัยเด็กๆ ชอบเรียนพวกเคมี ฟิสิกส์ รวมทั้งอะไรที่เป็นกลไก เป็นคนที่ไม่ค่อยยุ่งกับผู้คน ชอบอยู่ตามลำพัง ชอบอยู่กับเครื่องกลต่างๆ มากกว่า (หัวเราะ) ตอนนั้นเขามีภาควิชาปิโตรเลียม ผมเลยเลือกเรียน เพราะไม่เคยเห็นมีใครจบมาด้านนี้ว่าเขาเรียนแล้วต้องไปทำอะไร เมื่อเรียนจบผมจึงตั้งปณิธานว่าจะไม่ทำงานอุตสาหกรรมอื่น ขอทำปิโตรเลียมอย่างเดียว” เขาเล่าถึงความฝันที่เป็นจริงด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ
// ลูกหม้อเชฟรอน
บริษัท เชฟรอนฯ เป็นผู้บุกเบิกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2505 โดยมีผลการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐานระดับโลก โดยวิถีทางของเชฟรอนคือ “วิสัยทัศน์ของเรา...เรามุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทพลังงานระดับโลกหนึ่งเดียว” ที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดในด้านบุคลากรและผลการดำเนินงาน เพราะรากฐานของบริษัท เชฟรอนฯ ที่แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ คือ การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและถูกต้องตามจรรยาบรรณ เคารพกฎหมาย สนับสนุนสิทธิมนุษยชนสากล ปกป้องสิ่งแวดล้อม และนำประโยชน์มาสู่ชุมชน
“ผมทำงานที่เชฟรอนจนถึงวันนี้ก็ 20 ปีแล้ว ผมอยากฝากไปถึงรุ่นน้องที่จะก้าวเข้ามาทำงานด้านนี้ ใครอยากจะเข้ามาทำงานสายอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ต้องรักในงานที่ตัวเองทำ พยายามคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากเข้าไว้ และส่วนตนจะตามทีหลัง” ด้วยฝีมือการทำงานที่มุ่งมั่น ทำให้ในปี 2545 ได้รับรางวัล Chairman’s Award ยูโนแคลคอร์ปอเรชั่น สหรัฐอเมริกา
โดยเชฟรอนได้จัดหลักสูตรฝึกอบรม Horizons ซึ่งประกอบด้วย 1.การพัฒนาด้านการศึกษาโดยการฝึกอบรมในชั้นเรียน 2.การพัฒนาด้านประสบการณ์การทำงานโดยการมอบหมายให้ทำงาน 3.การพัฒนาด้านความสัมพันธ์ในการทำงานโดยมีรุ่นพี่เป็นที่ปรึกษา
“ในแต่ละปีมีพนักงานที่เข้าร่วมฝึกอบรมประมาณ 30-35 คน โดยเริ่มต้นโครงการตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2556-2557 เราจะมีพนักงานที่สำเร็จหลักสูตรประมาณ 50 คน พนักงานหญิงในสาขา Petrotech (วิศวกรปิโตรเลียม วิศวกรด้านการขุดเจาะ วิศวกรโครงสร้าง นักธรณีวิทยา) มีจำนวน 173 คน ซึ่งสะท้อนถึงค่านิยมเรื่องความหลากหลายในองค์กร”
วันนี้เชฟรอนมีพนักงานกว่า 2,000 คน (ราว 90% เป็นคนไทย) และมีพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมาอีกกว่า 5,000 คน
// ภูมิใจที่ได้รับโอกาส
เรียกได้ว่าเชฟรอนเป็นองค์กรที่ดูแลพนักงานอย่างดีเป็นระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งในส่วนของพนักงานที่ทำงานในการขุดเจาะน้ำมันจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี การรักษาพยาบาลทุกอย่างทางบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และเวลาในการทำงานจะทำงาน 21 วัน วันละ 12 ชั่วโมง และให้หยุด 21 วัน คุณไพโรจน์เผยความรู้สึกด้วยรอยยิ้มว่า
“ผมดีใจและภูมิใจที่บริษัทให้โอกาสและไว้วางใจในการบริหารเชฟรอนประเทศไทย เพราะการจะก้าวขึ้นมาอยู่ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ มันต้องผ่านอะไรมาพอสมควร ตรงนี้ผมก็อยากย้อนกลับไปว่า เชฟรอนไม่ได้ดูพนักงานดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ดูในเรื่องของสุขภาพและการพัฒนาหลายอาชีพของตัวเองให้มีระบบการจัดการ สร้างแผนที่จะพัฒนาตัวบุคลากรให้เติบโตในสายงานตัวเอง หรือข้ามสายงานไป และที่ผมมาอยู่ตรงนี้ได้ไม่ใช่จู่ๆ ก็มา แต่มีที่มาที่ไปและมีการเตรียมการมาพอสมควร ในแต่ละสายงานที่เราได้ทำ ทำให้เราเกิดประสบการณ์และมีความรู้มากขึ้นเรื่อยๆ สามารถมาทำตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบมากมายขนาดนี้ได้ ต้องบอกว่าผมดีใจและภูมิใจ วันนี้ผมเชื่อว่ามีหลายคนที่มีศักยภาพขึ้นมาแทนผมได้ ซึ่งเราก็พัฒนาคนเหล่านั้นขึ้นมาเป็นรุ่นๆ ถ้าพูดถึงความสำเร็จในหน้าที่การงาน ผมคิดว่าผมมาไกลกว่าที่วางเอาไว้ อย่างที่บอกว่าตอนจบมาใหม่ๆ อยากจะทำงานในสายวิศวกรรมปิโตรเลียม
“ผมคงทำงานต่อไปจนกว่าเกษียณ ซึ่งตอนนั้นกะว่าจะเกษียณตอนอายุ 45 ปี แต่ตอนนี้ก็ 50 ปีแล้ว ผมว่าวันนี้ผมทำเกินกว่าสิ่งที่คาดหวังเอาไว้เยอะ การบริหารงานก็เกินกว่าที่คาดหวังเอาไว้ด้วย มาถึงจุดนี้ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ผมยังอยากจะทำ แล้วยังมีโอกาสที่จะทำได้อีก ต่อไปอาจจะได้ทำงานที่ต้องรับผิดชอบสูงขึ้นไปอีกถ้าบริษัทให้โอกาส หรือออกไปทำงานที่อาจไม่ใช่สายตรงที่เป็นสายวิศวกรรม แต่อาจจะเป็นสายอื่นก็ได้ ซึ่งผมก็ยังดูๆ อยู่”
// หลักการบริหาร “ยึดผลประโยชน์เป็นหลัก”
เชฟรอนเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความโดดเด่นในเรื่องการให้ความสำคัญของบุคลากร คุณไพโรจน์ชี้แจงเรื่องนี้ว่า “ชีวิตผมทำงานที่ยูโนแคลมาก่อน แล้วก็ถูกเชฟรอนซื้อไป ผมจึงย้ายมาอยู่เชฟรอน ผมได้เห็นความเหมือนและความต่างของยูโนแคลกับเชฟรอน ที่เหมือนกันคือเรื่องของความปลอดภัยและเรื่องของวิธีการจัดการในการทำงานเพื่อให้พนักงานปลอดภัยเหมือนกัน นั่นก็เป็นข้อดีของทั้งสองบริษัท แต่การดูแลคนเชฟรอนดูแลดีมากๆ เพราะเป็นองค์กรใหญ่ บวกกับอุตสาหกรรมของเขาหลากหลายกว่า ทำให้เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
“เชฟรอนได้ยกเรื่องของพนักงานเป็น 1 ใน 3 หลักการในการบริหารงานของบริษัท ซึ่งจะเห็นว่าเชฟรอนลงทุนกับพนักงานเยอะมาก ถ้าถามพนักงานส่วนใหญ่ว่าทำไมถึงอยากทำงานกับเชฟรอน เสียงส่วนใหญ่ก็จะตอบเหมือนกันว่าเชฟรอนดูแลพนักงานดี หากพูดถึงการบริหารงานของผม ตามหลักบริหารงานก็จะยึดผลประโยชน์บริษัทเป็นที่ตั้ง เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้บริษัทเจริญเติบโตก้าวหน้า” ปัจจุบันเชฟรอนดำเนินงานด้านแท่นขุดเจาะจำนวน 9 แท่น ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
// แบ่งเวลาให้ครอบครัว
หลังจากถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตการทำงานไปแล้ว คราวนี้มาพูดคุยในชีวิตส่วนตัวกันบ้าง เพราะทุกวันนี้แต่งงานมีทายาท 2 คนที่ต้องเลี้ยงดู “ผมทำงานเต็มที่โดยไม่ได้คำนึงในเรื่องเวลา แต่จะดูที่ผลงานเป็นหลัก ต้องยอมรับว่าในบางช่วงเวลาก็ไม่ค่อยบาลานซ์ เราทำเยอะเกินไป บางช่วงก็อาจทำน้อยไป สุดท้ายเราก็ดูความสำเร็จในชีวิตไม่ได้อยู่ที่งานอย่างเดียว ซึ่งมันอยู่ที่ชีวิตส่วนตัวด้วย ผมพยายามทำชีวิตให้บาลานซ์ได้ทั้งสองอย่าง ยิ่งความรับผิดชอบมันสูงขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะไม่บาลานซ์มันก็สูงขึ้นเช่นกัน เพราะความต้องการทางด้านธุรกิจมันสูงขึ้น ยังไงมันต้องแบ่งด้วยการบังคับตัวเองพอสมควรว่าถึงเวลาหยุดก็ต้องหยุด ถ้าทำงานจนถึงเย็นแล้วต่อถึงเที่ยงคืน ผมว่ามันคงทำไม่หมด เพราะงานมีเข้ามาตลอด เราต้องบังคับให้ตัวเองหยุด
“เราต้องจัดลำดับความสำคัญ ถ้างานมันเยอะมาก ทำยังไงก็ทำไม่หมด ก็ต้องดูว่างานอะไรที่สำคัญแล้วเราต้องทำเอง หรือมีงานอะไรบ้างที่สามารถแบ่งให้ลูกน้องทำแทนได้บ้าง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของตัวเอง และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้พัฒนาการทำงานของตัวเอง เพราะการที่เราแจกจ่ายงานให้กับลูกน้อง มันจะทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วมาโฟกัสกับงานที่เราจะทำเอง และเหลือเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น เพราะผมมีลูก 2 คน อายุ 20 ปี กับอายุ 18 ปี และตอนนี้ผมก็แก่แล้ว (หัวเราะ)”
นอกจากนี้ ผู้นำเชฟรอนประเทศไทยยังบอกถึงการดูแลสุขภาพที่ไม่เคยละเลย “ผมพยายามออกกำลังกายให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้การออกกำลังกายที่ทำได้คือ วันเว้นวัน หรืออย่างน้อยก็ให้ได้ 3 ครั้งต่ออาทิตย์ และผมยังไปตีกอล์ฟเพื่อเพิ่มสีสันให้กับชีวิต (หัวเราะ)”
// บั้นปลายชีวิต “ขอเป็นชาวสวน”
สำหรับหลักเกณฑ์การทำงานของเชฟรอนจะให้ทุกคนเกษียณตอนอายุ 55 ปี มาถึงตรงนี้ได้ถามคุณไพโรจน์ว่า หากเกษียณอายุการทำงานแล้ว สนใจลงสนามการเมืองบ้างหรือไม่ คุณไพโรจน์ยิ้มกว้างก่อนบอกว่า “ถ้ามีคนจ้างผมก็ทำ (ระหว่างนั้นถามว่าแล้วส่วนตัวมีความสนใจการเมืองแค่ไหน) ส่วนตัวผมไม่สน (หัวเราะ) เพราะพอถึงจุดจุดหนึ่งก็อยากทำอะไรให้กับชีวิตตัวเองบ้าง หรือถ้าเกษียณไปก็อาจจะไปเป็นวิทยากร ทำอะไรก็ได้ที่ยังสามารถใช้ความรู้ความสามารถไปช่วยน้องๆ และที่สำคัญอยากจะไปเป็นชาวสวน (หัวเราะ)”
เรื่องราวชีวิตของนักบริหารระดับสูงของเชฟรอน ไพโรจน์ กวียานันท์ ที่เปรียบเหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ เพราะเป็นสัจธรรมของชีวิตมนุษย์จริงๆ
//////
ภาพรวมการดำเนินงานของบริษัท เชฟรอนฯ
- ได้รับสัมปทานครั้งแรกในปี 2505
- เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติครั้งแรกในปี 2524 จากแหล่งเอราวัณ ปัจจุบันเชฟรอนดำเนินงานด้วยแท่นขุดเจาะจำนวน 9 แท่น
- ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้คิดเป็นร้อยละ 50 โดยประมาณของการผลิตก๊าซจากภายในประเทศ สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่า ¼ ของความต้องการรวมในประเทศ
- ปริมาณการผลิตสะสมก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวกว่า 700 ล้านบาร์เรล
- การผลิตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติ 1,709 ล้านลูกบาศก์ฟุต คอนเดนเสท 49,227 บาร์เรล และน้ำมัน 66,296 บาร์เรล
- เงินลงทุนและค่าดำเนินกิจการจนถึงปี 2555 ประมาณ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 900,000 ล้านบาท
- มีแผนการลงทุนต่อเนื่องระยะยาวในประเทศไทย
//////
โครงการลงทุนสำคัญเพื่ออนาคต
1.โครงการก๊าซธรรมชาติปลาทอง ระยะที่ 2 มีมูลค่าโครงการประมาณ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเชฟรอนเป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ มิตซุยออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด เป็นผู้ร่วมลงทุน ทั้งนี้ผลิตก๊าซธรรมชาติ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถทำการผลิตได้สูงสุด 420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเริ่มทำการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2554 อีกทั้งโครงการนี้ช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติโดยรวมของประเทศไทยร้อยละ 10
2.เรือกักเก็บและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ 2 เรือกักเก็บปิโตรเลียมลำใหม่ เอราวัณ 2 (Erawan2-Floating Storage Offloading Vessel::EFSO2) ได้นำมาใช้ปฏิบัติงานแทนเรือกักเก็บปิโตรเลียมเอราวัณลำเดิมที่ใช้งานมากว่า 30 ปี ซึ่งก่อสร้างโดยบริษัท LHL Corporation ประเทศญี่ปุ่น เริ่มก่อสร้าง 1 เมษายน 2554 ทำพิธีตั้งชื่อเรือเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ดำเนินงานเต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2555 และน้ำหนักเรือ 150,000 ตัน มีความยาว 262 เมตร กว้าง 46 เมตร ลึก 24 เมตร เป็นการออกแบบให้ทำการควบคุมเรือได้ง่ายและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากขึ้น
สำหรับเรือกักเก็บและผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ 2 นั้น สามารถกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวเพื่อรอการจำหน่ายให้กับ PTTGC โดยรับก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งเอราวัณและแหล่งใกล้เคียง ทั้งนี้ ความบรรจุรวมมากกว่า 1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าเรือลำเดิมถึง 1.5 เท่า อีกทั้งยังกักเก็บสำรองเชื้อเพลิง อาทิ น้ำมันดีเซลและน้ำจืด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งใกล้เคียง ดังนั้นการนำเรือกักเก็บปิโตรเลียมเอราวัณ 2 ลำใหม่มาใช้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการจัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศในระยะยาว