รสนาจี้ถามแผนผ่องถ่ายหัวลำโพงให้เจ้าสัวยังไม่ล้มเลิก ใช่หรือไม่!?

รสนาจี้ถามแผนผ่องถ่ายหัวลำโพงให้เจ้าสัวยังไม่ล้มเลิก ใช่หรือไม่!?

 

                                     

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

รสนาจี้ถามแผนผ่องถ่ายหัวลำโพงให้เจ้าสัวยังไม่ล้มเลิก ใช่หรือไม่!?  คัดค้าน ก.คมนาคมประกาศหยุดรถไฟทางไกลจากทั่วประเทศเข้า-ออกหัวลำโพงตั้งแต่ 19 มค.2566

 

 

เอาอีกแล้ว แผนผ่องถ่ายหัวลำโพงให้เจ้าสัวยังไม่ล้มเลิก ใช่หรือไม่!? ก.คมนาคมประกาศหยุดรถไฟทางไกลจากทั่วประเทศเข้า-ออกหัวลำโพงตั้งแต่ 19 มค.2566
 
เมื่อพฤศจิกายน ปี2564 การรถไฟโดยคำสั่งของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมจะหยุดเดินรถไฟทุกขบวนเข้า - ออกสถานีหัวลำโพง (สถานีกรุงเทพ) เพื่อผลักดันให้รถไฟทุกขบวนไปจอดที่สถานีบางซื่อ (กรุงเทพอภิวัฒน์) อ้างว่าได้ใช้เงินลงทุนก่อสร้างสถานีบางซื่อไปหลายหมื่นล้าน เลยต้องบีบให้ประชาชนที่เดินทางจากทั่วทุกภูมิภาคไปลงรถที่สถานีบางซื่อ
 
หลังจากถูกคัดค้านอย่างหนัก รัฐมนตรียอมให้รถสังคมจากชานเมืองเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง แต่ก็มีการคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะหยุดรถไฟทางไกลเข้า-ออก สถานีหัวลำโพงเลยมีการชะลอแผน จากเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็น เมษายน 2565 แต่ถูกคัดค้านต่อเนื่องเลยต้องชะลอออกไปไม่มีกำหนด เพิ่งจะมากำหนดว่าจะหยุดเดินรถทางไกลเข้า-ออกที่สถานีหัวลำโพงตั้งแต่ วันที่ 19 มกราคม 2566 โดยไม่ได้ถามสอบความเห็นประชาชน และไม่รับฟังเสียงคัดค้านของประชาชนถึงความเดือดร้อน ความไม่สะดวก เสียทั้งเวลาและรายจ่ายเพิ่มขึ้นหากถูกบีบให้เข้า-ออกสถานีที่บางซื่อเพียงแห่งเดียว
 
พฤติกรรมของนักการเมืองแนวอำนาจนิยมผูกขาดคือทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก โดยจะมีการงดเดินรถขบวนรถเร็ว รถด่วนและรถด่วนพิเศษ 166 ขบวน เข้า - ออก จาก สถานีหัวลำโพง (สถานีกรุงเทพ) เพื่อจำกัดทางเลือกของประชาชน เพราะกลัวว่าถ้ามีทางเลือกให้ประชาชนเลือกลงได้ทั้งสถานีหัวลำโพง (สถานีกรุงเทพ) และสถานีบางซื่อ (กรุงเทพอภิวัฒน์) จะไม่มีใครไปใช้สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ใช่หรือไม่
 
ประเทศที่พัฒนาแล้ว สร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่ หรือสนามบินแห่งใหม่ ก็เพื่อเพิ่มทางเลือก และความสะดวกสบายให้ประชาชนเลือกใช้ตามความสะดวก เป็นการเพิ่มทางเลือก ไม่ใช่ลดทางเลือก มีแต่ประเทศที่ผู้บริหารบ้านเมืองเป็นประเภทที่ชอบใช้อำนาจนิยมสมคบคิดกับกลุ่มทุนผูกขาด ที่ใช้วิธีบีบบังคับไม่ให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางก็เพื่อหวังผลทางอื่นด้วย ใช่หรือไม่
 
แผนที่อยู่เบื้องหลังความต้องการของเจ้ากระทรวงคมนาคมคือต้องการเปลี่ยนสถานีหัวลำโพงให้เป็นมิกซ์ยูซแห่งใหม่ของเจ้าสัว ตามแผนพัฒนาสถานีหัวลำโพงที่แบ่งเป็น 5โซน ดังที่เคยมีการหลุดภาพเผยแพร่ที่ถูกวิจารณ์ว่าออกแบบได้ทัศนอุจาดยิ่งนักใช่หรือไม่
 
 
แผนเปลี่ยนหัวลำโพงเป็นมิกซ์ยูซของเจ้าสัว คาดว่า ในระยะที่1 ยอมให้มีรถเชิงสังคม ระยะสั้น จากรังสิต 22ขบวน เข้า-ออกสถานีหัวลำโพงก็เพื่อลดแรงต่อต้านลง แต่ด้อยค่าว่า 22ขบวนรับผู้โดยสาร ถ้าเทียบกับจำนวนคนเดินทางทั้งหมดในกทม.ก็แค่ 0.018% เท่านั้น เพื่อจะอ้างว่าไม่คุ้มค่า และยกเลิกในลำดับต่อไป เพราะเมื่อถึงเวลาต้องก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ามาที่หัวลำโพง ก็จะหาเหตุผลว่าจำเป็นต้องหยุดเดินรถทุก ขบวนมาเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง ใช่หรือไม่
 
ระยะที่2 เมื่อไม่มีรถเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง ก็สามารถทำการเปลี่ยนแปลงสีของผังเมืองสถานีหัวลำโพงจากสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทหน่วยราชการและสาธารณูปโภคของประชาชน) เป็น สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมของภาคธุรกิจ) เพื่อไปสู่การทำแผนก่อสร้างเป็น5โซนตามรูปที่ปล่อยออกมา ใช่หรือไม่
 
ระยะที่3 รถไฟฟ้าสายสีแดงแทนที่จะเป็นกิจการของการรถไฟ มีข่าวว่าจะยกให้เป็นสัมปทานเอกชน กิจการรถไฟที่ควรเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน ก็จะกลายเป็นธุรกิจหากำไรสูงสุดของเอกชนอีกแล้ว ใช่หรือไม่
 
รถไฟฟ้าสายสีแดงจะทำให้พื้นที่หัวลำโพงสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้กับคอนโด ห้างสรรพสินค้า และมิกซ์ยูซของเจ้าสัว ซึ่งล้วนแต่เป็นธุรกิจหากำไรของเอกชนทั้งสิ้น ใช่หรือไม่
 
หัวลำโพงที่นับเป็นประวัติศาสตร์ยุคแรกที่รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับกรมรถไฟ กิจการระบบรางเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนทั่วทุกภูมิภาคซึ่งมีราคาย่อมเยาว์ และยังพระราชทานที่ดินจำนวนมากเพื่อให้การรถไฟไทยสามารถหาทุนรอนเพื่ออุดหนุนให้บริการรถไฟที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานให้คนไทยได้ใช้เดินทางในราคาถูก กำลังจะถูกแปลงโฉมผ่องถ่ายไปสร้างความร่ำรวยให้กับนายทุนและกลุ่มการเมืองไม่กี่รายบนภาระอันหนักอึ้งของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ใช่หรือไม่
 
เรื่องการปิดสถานีหัวลำโพงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยอยู่ในนโยบายของรัฐบาลหรือนโยบายหาเสียงของพรรคใด ดังนั้น สิ่งใดที่ไม่ได้พูดกับประชาชน ก็ไม่ควรทำ จะดีกว่าไหม หรือว่ามีการพูดอะไรกับใครไว้ลับหลังประชาชน เพื่อ
 
หวังการอุดหนุนในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนต้องเฝ้าจับตากันต่อไปว่า แผนสมคบคิดนี้จะเป็นจริงหรือไม่??!!
รสนา โตสิตระกูล
2 มกราคม 2566