"รสนา"แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดี

"รสนา"แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดี

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา"แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีผู้ร้องให้วินิจฉัยว่ากฟผ.ผลิตไฟน้อยกว่า51% ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

 

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิฉัยต่อคำร้องของนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 เวลา 15.00น. เนื้อความตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของศาลรัฐธรรมนูญ (ที่แนบ)
 
ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดิฉันขอแสดงความเห็นว่า ประเด็นหลักแห่งคดีมีว่า กระทรวงพลังงานกำหนดยุทธศาสตร์ปี2559-2563 และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดตำ่ลงกว่าร้อยละ 51 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา56 วรรคสองประกอบมาตรา 3 วรรคสองหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับข้อเท็จจริงว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในส่วนของ กฟผ.ในช่วงปลายอยู่ที่ระดับ 30% เท่ากับยอมรับว่ายุทธศาสตร์และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยทำให้ในที่สุดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำลงกว่าร้อยละ 51 อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลฯไม่ได้วินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา56 หรือไม่
 
 
ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญให้รัฐโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานต้องดำเนินการกำหนดกรอบหรือเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนในระบบไฟฟ้าของประเทศ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่ามีการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นใช่หรือไม่จึงออกข้อแนะนำดังกล่าว
 
การที่ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับว่ามีการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แต่ไม่มีคำวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ทำเป็นข้อแนะนำเท่านั้น จึงอาจไม่ผูกพันผู้ถูกร้องที่ 1,2 ให้ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา211 วรรค4 ว่า
 
“คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”
 
ด้วยความเคารพต่อศาลฯ ดิฉันมีข้อสังเกตว่า การวินิจฉัยของศาลฯไม่ได้เป็นไปตามกระบวนวิธีพิจารณาหรือไม่ เพราะมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลักแห่งคดีหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ประชาชนคาใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักนิติธรรมในการวินิจฉัยของศาลฯ ดิฉันเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นหลักแห่งคดีเพื่อเป็นหลักยึดแห่งความเชื่อมั่นของประชาชนว่าจะได้รับความคุ้มครองตามหลัก Supremacy of the Constitution ของประเทศไทยสืบไป
 
รสนา โตสิตระกูล
10 มกราคม 2566