รสนาแจ้งข่าววันนี้ 6 มีนาคม2566 จะมีการประชุม 3ฝ่ายที่กรมศิลป์ร่วมกับรฟม.
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
รสนาแจ้งข่าววันนี้ 6 มีนาคม2566 จะมีการประชุม 3ฝ่ายที่กรมศิลป์ร่วมกับรฟม. เพื่อทบทวนว่าควรใช้อาคารอนุรักษ์ฯเป็นทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงหรือไม่
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะใช้อาคารเก่า7คูหาบนถนนพระสุเมรุ ซึ่งเป็นอาคารรอขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2535 เพื่อใช้เป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีผ่านฟ้านั้น ดิฉันและประชาคมกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2565 และได้สอบถามมาทางกรมศิลปากรถึงความเป็นอาคารอนุรักษ์ตามกฎหมายตั้งแต่อธิบดีกรมศิลปากรท่านก่อน ท่านกิตติพันธ์ พานสุวรรณ และได้รับคำตอบว่าอาคารดังกล่าวเป็นอาคารอนุรักษ์ที่รอขึ้นทะเบียนตามกฎหมายอยู่ นอกจากนี้ท่านยังแจ้งให้ดิฉันทราบว่าท่านอธิบดีอนันต์ ชูโชติเคยมีหนังสือถึง รฟม.ตั้งแต่ปี 2559 (อธิบดีในขณะนั้น) ให้รฟม.หลีกเลี่ยงการใช้อาคารดังกล่าวเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน Entrance ที่1 แล้ว
ท่านกิตติพันธ์ได้กรุณาตอบดิฉันว่าได้มีหนังสือแจ้งรฟม.เมื่อวันที่9 มีนาคม 2565 ถึงรฟม.อีกครั้งพร้อมสำเนาหนังสือเดิมที่เคยแจ้งรฟม.เมื่อปี2559 และหนังสือสอบถามของดิฉันถึงรฟม.อีกด้วย เพื่อให้รฟม.หลีกเลี่ยงการใช้อาคารดังกล่าวเป็นทางขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ล่วงมาถึงต้นปีนี้ 2566 เริ่มจะมีการก่อสร้างที่บริเวณอาคารอนุรักษ์บนถนนพระสุเมรุ มีการเวนคืนที่และให้คนออกจากอาคารทั้งหมดแล้วเพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้าง
ดิฉันในฐานะประธานกลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ได้เรียนขอให้ท่านอธิบดีกรมศิลปากร ท่านพนมบุตร จันทรโชติกรุณาจัดประชุม 3 ฝ่ายเพื่อพูดคุยเรื่องอาคารอนุรักษ์ ซึ่งต้องขอขอบคุณที่ท่านอธิบดีได้กรุณาจัดให้มีการประชุม 3 ฝ่ายขึ้นในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ.กรมศิลปากร เทเวศน์
เป็นครั้งแรกที่อธิบดีกรมศิลปากรได้เปิดโอกาสให้ ภาคประชาสังคมที่ประกอบด้วยอดีตสมาชิกวุฒิสภา สถาปนิก วิศวกร ศิลปิน นักแสดง ช่างภาพ และดีไซน์เนอร์ และหัวหน้าชุมชน โดยทางกลุ่มประชาคมได้เรียนเชิญตัวแทนจากสภาสถาปนิก สมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมมาเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการให้แก่กลุ่มอนุรักษ์มรดกรัตนโกสินทร์ด้วย ประชาคมกลุ่มอนุรักษ์ฯมีความสนใจและห่วงใยมรดกอันมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ในเกาะรัตนโกสินทร์ นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ท่านอธิบดีเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมมาร่วมประชุมหารือกันในวันมาฆะบูชาเพื่อให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสามารถดำเนินไปพร้อมๆกับการอนุรักษ์อาคารเก่าที่มีคุณค่าเอาไว้ด้วย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งแรกระหว่างอธิบดีกรมศิลปากร รฟม. และภาคประชาสังคม จะช่วยให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าในเกาะรัตนโกสินทร์ไม่ทำลายสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และไม่เป็นการอนุรักษ์แบบใช้อาคารปลอมหลอกตาดังเช่นอาคารที่สถานีสามยอดเป็นต้น
รสนา โตสิตระกูล
5 มีนาคม 2566