"รสนา"ถามโรงไฟฟ้าไอน้ำต้องรับผิดชอบผลกระทบจากซีเซียม137

"รสนา"ถามโรงไฟฟ้าไอน้ำต้องรับผิดชอบผลกระทบจากซีเซียม137

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

 

"รสนา"ถามโรงไฟฟ้าไอน้ำต้องรับผิดชอบผลกระทบจากซีเซียม137 ต่อสิ่งแวดล้อมและธุรกิจของปราจีนฯหรือไม่

 

 

ข่าวที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่าซีเซียม137 ล่องหนจากโรงไฟฟ้าไอน้ำนั้น โรงไฟฟ้าไอน้ำไม่ผิด เพราะขออนุญาตแล้ว รายงานมาที่กรมทุกปี ส่วนโรงหลอมก็ไม่ผิด เพราะไม่รู้ว่าของที่มาหลอมเป็นอะไร ตกลงไม่มีใครผิดในความหละหลวมจนเกิดอันตรายแบบนี้หรือ !?!
 
เหตุใดผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี และหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพประชาชนและธุรกิจในจังหวัดปราจีนฯ จึงไม่เรียกร้องโรงไฟฟ้าไอน้ำออกมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยซีเซียม137 ล่องหนไปจนถูกหลอมแบบไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพประชาชน และเกษตรกรที่อาจจะขายผลผลิตไม่ได้ เพราะผู้บริโภคหวาดกลัวว่าสารกัมมันตรังสีจะปนเปื้อนในผลผลิตหรือไม่ หรือธุรกิจโรงแรมที่ถูกนักท่องเที่ยวยกเลิกการจองมีมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
 
โรงไฟฟ้าไอน้ำไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายนี้เลยหรือ!?! ตอนน้ำมันดิบรั่วที่ระยอง บริษัทที่ทำน้ำมันรั่วต้องรับผิดชอบกับผลกระทบต่อชาวบ้านและต่อสิ่งแวดล้อม ใช่หรือไม่ โรงไฟฟ้าไอน้ำก็ต้องรับผิดชอบเช่นกันหรือไม่ โดยพ่อเมืองปราจีนบุรีต้องเป็นผู้เรียกร้องแทนชาวบ้าน แต่ยังเงียบกริบอยู่ ใช่หรือไม่
 
ข่าวที่ให้กันหลายวันที่ผ่านมา พอจับความได้ว่าแท่งซีเซียม 137 หุ้มด้วยตะกั่วหนัก 25 กิโลกรัม ติดกับผนังตึกสูง5ชั้น ตกลงมาที่พื้นเพราะผนังกร่อน โดยคนในบริษัทไม่รู้ไม่เห็น มารู้ก็ตอนพบความผิดปกติของอัตราการไหลของฝุ่น จึงได้รู้ว่าแท่งซีเซียมตกจากตึก และล่องหนหายไป มีคนเก็บเอาไปรวมกับเศษเหล็กขายไปหลอมถึงจังหวัดระยอง !!??
 
จากสตอรี่ที่บอกว่า แท่งซีเซียม137 หุ้มด้วยตะกั่ว หนักถึง25 กิโลกรัม ตกลงมาจากตึกสูง5ชั้นของโรงไฟฟ้าไอน้ำ เพราะอุปกรณ์ที่ยึดเกาะเก่าเป็นสนิมจึงหลุดตกลงลงมา ทำให้เกิดข้อน่าสงสัยว่าตอนแท่งซีเซียนตกลงมาบนพื้นไม่เกิดเสียงและความสั่นสะเทือนอะไรเลยหรือ ที่ทำให้คนในโรงไฟฟ้าออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น !?!
 
 
 
แท่งซีเซียมตกลงมาอยู่ที่พื้นจนมีคนมาเก็บไปขายรวมกับเศษเหล็กอื่น ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็นคนเก็บ เป็นพนักงานในโรงไฟฟ้าหรือไม่!?
 
ไม่มีการหาตัวผู้สัมผัสแท่งซีเซียมว่าเป็นใครในบริษัท และกี่คนที่มาสัมผัส ทั้งที่เป็นคนที่ได้รับอันตรายมากที่สุด ควรหาตัวมาตรวจดูความร้ายแรงที่สัมผัสสารกัมมันตรังสี กรณีซาเล้งที่เก็บ โคบอลท์ 60 เมื่อหลายปีก่อน ซาเล้งผู้สัมผัสโคบอลท์60 ได้รับบาดเจ็บสาหัสและตายไปทั้งหมดในที่สุด แต่กรณีนี้ใครเป็นคนเก็บ ไม่มีการหาตัว เพื่อมารักษา และสอบถามความจริงว่ามาเก็บซีเซียมไปตั้งแต่เมื่อไหร่ จะได้รู้เรื่องราว และระยะเวลา รวมถึงมีใครบ้างที่ได้สัมผัส ที่ต้องนำมาตรวจสุขภาพรวมทั้งผงจากเตาหลอมกระจายไปที่ไหนบ้าง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลมากพอให้ประชาชนเชื่อมั่นตามที่ข้าราชการออกมาแถลงว่าปลอดภัย แค่เอาผ้าใบมาคลุมสารกัมมันตรังสี แล้วบอกว่าปลอดภัย ก็ทำลายความน่าเชื่อถือจนหมดแล้ว เรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ต้องส่งนักสืบสวนโรคทางระบาดวิทยาไปติดตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพอันเกิดจากสารกัมมันตรังสีหรือไม่?
 
สิ่งที่น่าตั้งคำถาม คือแท่งซีเซียมที่ตกลงมาโดยไม่มีใครรู้เห็น และล่องหนจนกลายเป็นฝุ่น เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ !?
 
เกิดคำถามว่า หรือจะเป็นการลักลอบทิ้งสารกัมมันตรังสีหรือไม่ เพราะมีข้อมูลว่าซีเซียมแท่งนี้ จะหมดอายุในอีก 2ปี เมื่อหมดอายุ ต้องส่งกลับต่างประเทศจากแหล่งที่ซื้อมาเพื่อกำจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งมีข้อมูลว่าค่าใช้จ่ายในการกำจัดต้องใช้เงินประมาณ 10ล้านใช่หรือไม่
 
หน่วยราชการโดยเฉพาะสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส)ควรออกมาให้ความเห็นและบอกประชาชนว่าบริษัทที่นำวัตถุนิวเคลียร์แบบนี้มาใช้ ต้องมีข้อปฏิบัติเข้มงวดอย่างไร และมีความรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่ หากปล่อยปละละเลยให้วัตถุกัมมันตรังสีสูญหายไปโดยไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง ถ้ามีอะไรผิดพลาด บริษัทต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างไร ไม่ใช่ปิดปากเงียบกริบ ?
 
หรือเพราะว่าโรงไฟฟ้าไอน้ำมีผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทกระดาษรายใหญ่ของประเทศ ใช่หรือไม่!?จึงทำให้ข้าราชการเงียบกริบ ไม่กล้าแม้แต่จะเรียกร้องให้บริษัทโรงไฟฟ้าไอน้ำมารับผิดชอบต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม สวัดิภาพ และธุรกิจของชาวปราจีนบุรี ใช่หรือไม่
 
รสนา โตสิตระกูล
23 มีนาคม 2566