"รสนา"เฉ่งรัฐบาลไขสือไม่ฟังคำแนะนำเอกฉันท์ศาลรธน.ให้

"รสนา"เฉ่งรัฐบาลไขสือไม่ฟังคำแนะนำเอกฉันท์ศาลรธน.ให้

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา"เฉ่งรัฐบาลไขสือไม่ฟังคำแนะนำเอกฉันท์ศาลรธน.ให้ กำหนดเพดานไฟฟ้า ดันอนุมัติซื้อไฟเอกชนรายใหญ่เพิ่มอีก 3.6 พันเมก แก้เกี้ยวซื้อไฟประชาชน 90 เมก

 

 

ศาลรธน.มีมติเอกฉันท์ “แนะนำ” ให้รัฐบาลกำหนดเพดานปริมาณไฟฟ้าที่เหมาะสม แต่รัฐบาลอนุมัติเพิ่มซื้อไฟเอกชนรายใหญ่ 3.6 พัน MW แก้เขินซื้อโซลาร์ประชาชน 90MW !?!
 
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กฟผ.ผลิตไฟต่ำกว่า 51% ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงได้ช่องประกาศอนุมัติซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเพิ่มทันทีก่อนประกาศยุบสภาอีก 3,668.5 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 25ปี ทั้งที่ไฟฟ้าสำรองสูงกว่า50% อยู่แล้ว
 
 
 
รัฐบาลแก้เขินด้วยการที่คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานสั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรับซื้อโซลาร์บนหลังคาจากประชาชน 90 เมกกะวัตต์โดยมีสัญญารับซื้อไฟจากประชาชนหน่วยละ 2.20 บาท เป็นระยะเวลา 10ปี ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่แตกต่างจากเดิมที่ กพช. เคยกำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนแบบปีต่อปี ประมาณปีละไม่เกิน 10-50 เมกะวัตต์ ปรับมาเป็นการรับซื้อระยะยาว 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2573 รวม 90 เมกะวัตต์แทน
 
ที่ผ่านมา กกพ.ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนตามคำสั่ง กพช. มาตั้งแต่ปี 2562 -2565 รวม 4 รอบ กกพ.สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ประชาชน รวมราว แค่ 9 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายรับซื้อรวม 260 เมกกะวัตต์
 
กกพ. อ้างว่าที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรับซื้อ เพราะประชาชนต้องการผลิตไว้ใช้เอง ที่จริงควรบอกว่าเพราะกติการับซื้อไม่จูงใจพอ ราคาที่รัฐกำหนดรับซื้อประชาชน 2.20 บาท/หน่วย ต่ำกว่าราคาที่การไฟฟ้าขายไฟให้ครัวเรือนที่ 4.77 บาท/หน่วย(ยังไม่รวมภาษีแวต) ถึงกว่า 100% และประชาชนที่จะขายไฟให้กฟน.หรือ กฟภ. ยังต้องติดตั้งมิเตอร์ขาย และมีค่าใช้จ่ายยิบย่อย ไม่คุ้มกับกติกาที่รัฐกำหนด นอกจากรับซื้อราคาต่ำแล้ว ยังรับซื้อแค่ 10ปี ทั้งที่แผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟได้ถึง 25 ปี
 
เหตุใดกติการับซื้อจากประชาชนจึงแตกต่างจากกติการับซื้อจากนายทุนเอกชนรายใหญ่ ราวฟ้ากับเหว !!?? เพราะโครงการโซลาร์ประชาชน รัฐบาลทำแบบผักชีโรยหน้า แค่พอให้เห็นว่าสนับสนุนประชาชนอยู่ ใช่หรือไม่
 
 
ถ้ารัฐบาลจะจริงใจสนับสนุนแค่ยอมให้ประชาชนผลิตไฟใช้เอง และให้ใช้ระบบหักลบกลบหน่วยได้ ที่เรียกว่าเนต มิเตอริ่ง (net metering) คือให้ประชาชนสามารถหักลบหน่วยจำนวนไฟที่ผลิตจากโซลาร์บนหลังคา ออกจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้รวม และจ่ายเงินให้การไฟฟ้า เฉพาะส่วนที่ใช้เกินมาเพียงแค่นี้ก็จะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนอยากติดตั้งโซลาร์บนหลังคา เพียงแค่นี้รัฐบาลยังไม่ยินยอมให้ประชาชนสามารถทำได้เลย
 
ในขณะที่รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากนายทุนเอกชนรายใหญ่ นายทุนจะได้ราคารับซื้อระหว่าง 3-8 บาท/หน่วย และรัฐบาลยังรับซื้อในเวลา 25ปี และจะผลิตหรือไม่ผลิต ก็ได้รับการประกันกำไรจากรัฐบาลคือมีค่าความพร้อมจ่ายให้เอกชนประมาณ 25% ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จะรวมอยู่ในค่าไฟของคนไทย
 
จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอุ้มทุนใหญ่เป็นหลัก แม้จะมีไฟฟ้าสำรองสูงเกินกว่า 50% ก็ยังอนุมัติซื้อเพิ่มจากเอกชนรายใหญ่ไม่หยุด
 
ทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ “แนะนำ” ให้รัฐบาลกำหนดเพดานปริมาณไฟฟ้าที่เหมาะสม ไม่ให้เป็นภาระค่าไฟต่อประชาชน ซึ่งรัฐบาลที่ดีควรสำเหนียกว่าต้องปฏิบัติอย่างไร อุปมาว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่ตัดสินว่าการกระทำของรัฐบาลเป็นปาราชิกด้านการบริหารรัฐกิจแต่ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาต่อประชาชน เปรียบเป็นเงาของปาราชิกแล้วเพราะคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำแนะนำที่เป็นมติเอกฉันท์ แต่แทนที่รัฐบาลจะสำเหนียกว่าการเป็นรัฐบาลที่ดี ควรปฏิบัติอย่างไร ไม่ต้องถึงกับต้องลงแส้ว่าปฏิบัติแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เมื่อศาลมีข้อแนะนำให้ไปพิจารณาปฏิบัติอย่างไรที่ประชาชนจะไม่มีภาระเกินสมควร แทนที่จะสำนึกในคำเตือน กลับใช้ช่องที่ศาลฯไม่มีคำสั่งห้าม ไปอนุมัติซื้อไฟเพิ่มจากเอกชนอีก ทั้งที่ไฟสำรองมีสูงกว่า 50% อยู่แล้ว และมาตรฐานไฟสำรองเพื่อความมั่นคง มีแค่ 10-15% ก็เพียงพอแล้ว ใช่หรือไม่ !?
 
สิ่งที่รัฐบาลควรทำทันที คือ ประกาศหยุดซื้อไฟฟ้าจากเอกชน5ปีต่อจากนี้ การหยุดซื้อไฟฟ้าเพิ่ม จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานใดๆอย่างแน่นอน มีแต่จะลดภาระค่าไฟให้ประชาชน
 
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ที่กำลังมาจากการเลือกตั้งควรทำคือยุติการทำสัญญาซื้อไฟจากเอกชน และจากลาว รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนผลิตไฟบนหลังคาตนเอง พร้อมให้ใช้ระบบหักลบกลบหน่วย(Net Metering) ด้วยวิธีนี้ จะช่วยลดภาระค่าไฟแพงอันหนักอึ้งบนบ่าของประชาชนได้อย่างเป็นจริง
รสนา โตสิตระกูล
3 มีนาคม 2566