"รสนา"โต้แรงสวนข้อมูล ปตท.เห็นแก่ได้ที่อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทย

"รสนา"โต้แรงสวนข้อมูล ปตท.เห็นแก่ได้ที่อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทย

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

"รสนา"โต้แรงสวนข้อมูล ปตท.เห็นแก่ได้ที่อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยควรให้ปิโตรเคมีใช้สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเอาไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า

 

 

คำชี้แจงที่อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยควรให้ปิโตรเคมีใช้ดีกว่าเอาไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้คนทั้งประเทศใช้ เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเอาไปเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าเป็นความเห็นแก่ได้ของปตท. ใช่หรือไม่!!??
 
เมื่อวันที่ 3 พ.ค 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานถึงกับเปิดโอกาสให้กลุ่มธุรกิจพลังงาน ปตท. ใช้พื้นที่เวบไซด์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้แจงแบบเอาประโยชน์เข้าตัวว่า การดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ ปตท.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทนการนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว กล่าวอ้างว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสร้างมูลค่าเพิ่ม 10 – 25 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปีนั้น ความหมายที่ ปตท.ต้องการสื่อคือ บริษัทปิโตรเคมีของปตท.ควรมีสิทธิใช้ก๊าซอ่าวไทยราคาถูกในการสร้างมูลค่าเพิ่ม 7 แสนล้านนั้น ใช่หรือไม่
กิจการปิโตรเคมีของเครือปตท.ไม่ใช่กิจการของรัฐวิสาหกิจ เป็นกิจการเอกชน เหมือนบริษัทปิโตรเคมีเอกชนรายอื่นๆ ที่ก็สร้างงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเหมือนกัน แต่บริษัทปิโตรเคมีรายอื่นๆไม่ได้มีโอกาสใช้ก๊าซอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบราคาถูกเหมือนบริษัทในเครือปตท. ใช่หรือไม่
 
ดังนั้น มูลค่าเพิ่ม 7 แสนล้านจึงเป็นผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ แต่อย่างใด ใช่หรือไม่
 
คำพูดแบบนี้ ในสมัยหนึ่งเคยมีที่นักวิชาการบางคนในเครือข่ายธุรกิจพลังงานนี้ เปรียบเทียบการใช้ก๊าซในอ่าวไทยว่าเป็นไม้สัก ควรเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ ไม่ควรเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน และรวมทั้งไม่ควรเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เช่นอ้างว่าก๊าซหุงต้มสร้างมูลค่าเพิ่มได้แค่ 2 เท่า ผิดกับให้ปิโตรเคมีใช้ จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้20เท่า และยังกล่าวว่าอ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยเป็นก๊าซชั้นดีเปรียบเหมือนไม้สัก ไม่ควรเอาไปเผาเป็นเชื้อเพลิง
 
ปัญหาอยู่ที่ปิโตรเคมีต้องการใช้ไม้สักในราคาเศษไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่า 7 แสนล้านให้กิจการของตนเอง จึงทำให้การผลิตไฟของ กฟผ.และโรงไฟฟ้าต้องไปซื้อเศษไม้ (ก๊าซมีเทน และ LNG) ในราคาไม้สักมาเผาไฟ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟแพง ใช่หรือไม่
 
นอกจากก๊าซอ่าวไทยใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าแล้ว ยังใช้เป็นก๊าซหุงต้มราคาถูกสำหรับประชาชนในครัวเรือนอีกด้วย รัฐบาลในอดีตที่เคยกล่าวว่าเราจะโชติช่วงชัชวาลกันแล้ว เพราะพบแหล่งก๊าซเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติและประชาชน จึงกำหนดให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยก่อนเป็นลำดับแรก ในราคาควบคุมก่อนภาษีที่10 บาท/กิโลกรัม ก๊าซหุงต้มจึงมีราคาถูก ถัง 15 กิโลกรัมราคา290บาท
 
ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อมีการแปรรูป ปตท. โดยพรรคไทยรักไทยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แปรรูปปตท.และรวบเอากิจการก๊าซ ท่อส่งก๊าซไปด้วย แม้อ้างว่าจะแยกท่อก๊าซหลังแปรรูปแล้ว 1 ปี ก็เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะรัฐบาลทักษิณแค่อ้างว่าจะแยกท่อก๊าซออกมา แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท. แต่อย่างไร เมื่อเลือกตั้งครั้งที่2 ทักษิณได้คะแนนแบบแลนด์สไลด์ ก็ต้องการจะแปรรูป กฟผ.ต่อทันที ประชาชนจึงต้องระวังการแลนด์สไลด์ของพรรคการเมืองนี้ ว่าอาจจะสร้างความเสียหายให้กับนโยบายพลังงานแบบคาดไม่ถึงอีกก็เป็นได้
การแปรรูปที่รวบเอาโครงข่ายท่อส่งก๊าซ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการผูกขาดก๊าซในอ่าวไทย ท่อส่งก๊าซจึงเป็นทรัพย์สินหลักที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหุ้นส่วนเอกชน 49% ของปตท. ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายการถ่ายโอนกิจการก๊าซจากกิจการสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจมาเป็นกิจการเอกชนที่มุ่งทำกำไรสูงสุด ผ่านการแปรรูปตามเจตนาของพรรคการเมืองในเครือข่ายทักษิณ ใช่หรือไม่
เมื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชาชนในเครือทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาสั้นๆ เพียง 3เดือน โดยมีกลุ่มทุนพลังงานรายล้อมอยู่รอบตัวก็สามารถสอดใส้ใช้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ออกมติให้ปิโตรเคมี มีสิทธิใช้ก๊าซในอ่าวไทยพร้อมกับภาคครัวเรือน แต่รัฐบาลในเครือข่ายทักษิณยังไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากกติกาใหม่นี้
 
รัฐบาลคสช.ที่รัฐประหารเข้ามาในปี2557 ประชาชนคาดหวังว่าคสช.จะเข้ามาปฏิรูปด้านต่างๆที่มีปัญหาก่อนเลือกตั้ง โดยมีเรื่องพลังงานรวมอยู่ด้วย การรื้อระบบผูกขาดกิจการพลังงานที่ถูกเริ่มต้นไว้ในยุคของทักษิณ การจัดการเรื่องท่อส่งก๊าซในทะเลที่คสช.มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ก็มิได้ทำดังที่ประชาชนคาดหวัง กลับต่อยอด สวมตอเก่าให้หนักข้อยิ่งขึ้น ใช่หรือไม่
 
หลังการรัฐประหาร พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นประธาน กพช.ได้มีมติยกเลิกราคาก๊าซหุงต้มควบคุมของครัวเรือนที่เคยกำหนดราคาไว้ที่ 10 บาท/กิโลกรัม เปลี่ยนมาเป็นราคาลอยตัว และไปอ้างอิงว่าก๊าซหุงต้มที่ครัวเรือนใช้ทั้งหมด นำเข้าจากประเทศซาอุดิอารเบีย ทั้งที่ก๊าซเกือบทั้งหมดกว่า 90% ผลิตได้ในประเทศ ทำให้ก๊าซหุงต้มมีราคาแพงสูงลิ่ว และใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยจนเป็นหนี้แสนล้าน ซึ่งหนี้ดังกล่าวล้วนเกิดจากกติกาเพื่อผ่องถ่ายมูลค่าทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทยเป็นกำไรให้ ปตท.ใช่หรือไม่
 
การค่อยๆเปลี่ยนกติกาจากที่ครัวเรือนได้ใช้ก๊าซหุงต้มก่อนเป็นลำดับแรก เปลี่ยนมาให้ ธุรกิจปิโตรเคมีได้ใช้พร้อมกับครัวเรือน แต่เมื่อปตท.เป็นผู้คุมกิจการก๊าซตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทำให้ปิโตรเคมีเครือปตท. เท่านั้น ที่ผูกขาดได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยก่อนคนอื่นในราคาถูก และผลักให้ผู้ใช้กลุ่มอื่นไปใช้ก๊าซนำเข้าราคาแพง ใช่หรือไม่
 
นอกจากปตท.ได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยในราคาถูกแล้ว ยังไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีกด้วย เพราะอ้างว่าปิโตรเคมีไม่ได้ใช้ก๊าซอ่าวไทยเป็นพลังงาน แต่ใช้เป็นวัตถุดิบ เป็นทัศนะที่เอาเปรียบประชาชนทั้งประเทศ ใช่หรือไม่ เพราะนอกจากแย่งใช้ทรัพยากรพลังงานราคาถูก โดยผลักผู้ใช้อื่นไปใช้พลังงานราคาแพงแล้ว กิจการปิโตรเคมีที่อ้างว่าไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เพราะไม่ได้ใช้เป็นพลังงานที่ก่อมลภาะต่อสิ่งแวดล้อม แต่ธุรกิจปิโตรเคมีก็ทำให้เกิดขยะพลาสติกมากมายในบ้านเมืองและในท้องทะเลที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการกำจัด โดยบริษัทปิโตรเคมีไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายภาษีสรรพสามิต ทั้งที่ก็เป็นกิจการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ใช่หรือไม่
 
จึงกลายเป็นว่า อำนาจเบ็ดเสร็จของคสช.มีประสิทธิภาพสูงสุดในการผ่องถ่ายกำไรให้กลุ่มทุนพลังงาน จากก๊าซหุงต้มราคาถูกสำหรับครัวเรือนกลายเป็นก๊าซหุงต้มราคาแพง แม้เอากองทุนน้ำมันมาชดเชย บังตาประชาชนให้ดูเหมือนราคาถูก แต่หนี้กองทุนน้ำมัน ก็เป็นเงินที่ล้วงจากกระเป๋าประชาชนโดยตรงมาจ่ายเช่นกัน ประเด็นสำคัญคือหนี้ค่าก๊าซหุงต้มในกองทุนน้ำมันเป็นหนี้ที่เกิดจากกติกาของรัฐบาลที่กำหนดขึ้นเพื่อผ่องถ่ายกำไรให้ทุนพลังงานทั้งสิ้น ใช่หรือไม่
 
ไม่ต่างจากหนี้ค่าไฟที่เกิดจากนโยบายสร้างหนี้ของรัฐบาลทั้งการสำรองไฟเกิน การทำสัญญาเอื้อประโยชน์เอกชน และ การจัดสรรก๊าซในประเทศ ก็เอื้อประโยชน์ให้ปตท.โดยส่งผ่านหนี้มาให้ กฟผ.แบกไว้ก่อนไม่ต่างจากกติกาที่สร้างหนี้ให้กองทุนน้ำมันที่แบกทั้งหนี้ราคาก๊าซหุงต้มที่กติกาของรัฐบาลพล.อ ประยุทธ์กำหนดขึ้น และหนี้กลุ่มน้ำมันดีเซล และเบนซิน แก๊สโซฮอล์ในกองทุนน้ำมัน ที่มาจากการผสมน้ำมันชีวภาพที่มีราคาสูงกว่าน้ำมันพื้นฐานคือเบนซิน และดีเซล น้ำมันชีวภาพอย่างเ ทานอลยังมีราคาสูงกว่าราคาที่อเมริกาลิตรละ 10 บาทอีกด้วย ใช่หรือไม่
นี่คือผลพวงจากการแปรรูป ปตท. ของทักษิณและพรรคการเมืองในคาถาของเขา รวมทั้งการต่อยอดกติกาใหม่ๆเพื่อรีดกำไรจากประชาชนให้ปตท.โดยรัฐบาลทหารของ พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช่หรือไม่
 
นอกจากราคาก๊าซหุงต้มที่แพงขึ้นอย่างมหาศาลแล้ว ค่าก๊าซเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าซึ่งเฉลี่ยราคาก๊าซจาก 3 แหล่ง คือก๊าซอ่าวไทย ก๊าซพม่า และก๊าซ LNG เรียกว่าPool Gas เมื่อปตท.อ้างว่าก๊าซอ่าวไทยช่วงเปลี่ยนผ่านเจ้าของจากเชฟรอน มาเป็น ปตท.สผ. ทำได้ไม่เต็มที่จึงผลิตได้น้อยลง แต่ก็ยังให้ปิโตรเคมีได้ใช้ก่อนในราคาถูก จึงทำให้ก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้ามีสัดส่วนก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้ราคาก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นตามไปด้วย
 
 
หากรัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ และนายสุพัฒนพงศ์ บริหารจัดสรรก๊าซอ่าวไทยอย่างเป็นธรรมต่อประชาชนทุกภาคส่วน เพียงแค่ให้บริษัทปิโตรเคมีของปตท.จ่ายค่าก๊าซที่ตนใช้ ในราคาPool Gas ราคาเดียว กับกฟผ.และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงจะสามารถช่วยลดราคาก๊าซโรงไฟฟ้าได้ถึง50,000 ล้านบาท (ตัวเลขการใช้ก๊าซในปี 2565) แค่จัดสรรก๊าซให้เป็นธรรมเรื่องเดียว ก็สามารถลดค่าไฟให้ประชาชนได้ถึง 25 สต./หน่วย แล้ว เป็นสิ่งที่รัฐบาลพล.อ ประยุทธ์ และนายสุพัฒนพงศ์สามารถทำได้ทันที เพราะรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ในปตท.โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. แต่กลับไม่ทำ เพราะไม่กล้าแตะผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานเลย ใช่หรือไม่ ?
 
กล่าวโดยสรุปก็คือ สมุทัยค่าไฟแพง มิใช่เกิดจากราคาเชื้อเพลิงแพงประการเดียว แต่เกิดจากการบริหารจัดการที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงาน รวมถึงการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนโรงไฟฟ้า
อื่นๆ มากกว่าประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ใช่หรือไม่?
 
ทีมเศรษฐกิจของพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่มีคนจาก ปตท. มาคุมกระทรวงพลังงานยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า การบริหารพลังงานที่ผ่านมาถูกต้องแล้ว นี่คงเป็นไปตามสโลแกนที่พรรคของพล.อ ประยุทธ์หาเสียงว่า “ ทำแล้ว ทำอยู่ และจะทำต่อ”นั้น แสดงว่าถ้าเลือกพรรคนี้ต่อไป พรรคนี้ที่มีคนจากปตท.มาอยู่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจถึง 2 คน ราคาพลังงานก็คงต้องเป็นแพงมโหฬารต่อไปตามสโลแกนที่ว่า “แพงแล้ว แพงอยู่ และจะแพงต่อไป“ ใช่หรือไม่ !?
 
รสนา โตสิตระกูล
5 พ.ค 2566
เครดิตภาพ ร.ศ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์