“คสช.เป็นคู่แข่งกับทักษิณทางการเมือง แต่เป็นพันธมิตรเศรษฐกิจแบ่งเค็กผลประโยชน์ปิโตรเลียม ใช่หรือไม่!?”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“คสช.เป็นคู่แข่งกับทักษิณทางการเมือง แต่เป็นพันธมิตรเศรษฐกิจแบ่งเค็กผลประโยชน์ปิโตรเลียม ใช่หรือไม่!?”
ขอนำบทความเรื่อง ”สัมปทานปิโตรเลียมบนตึกชินวัตร”ของอาจารย์ประสาท มีแต้มมาให้เพื่อนมิตรได้อ่านเป็นข้อมูล บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อต้นปี2557 ตอนมูบาดาลาเท็กโอเวอร์แหล่งนงเยาว์ในอ่าวไทย จากบริษัทเพิร์ลออย บทความนี้ยังเหมาะกับยุคสมัย ที่อธิบายความเป็นมาของบริษัทมูบาดาลาที่เป็นข้อสงสัยว่าดีลประมูลบงกช เอราวัณเป็นเพียงปาหี่ของคสช.ที่ตกลงแบ่งเค็กกับทักษิณ ใช่หรือไม่?
แม้ว่าในทางการเมือง ทักษิณยากที่จะกลับมามีอำนาจทางการเมืองได้อีก แต่ในทางเศรษฐกิจ คสช.ต้องแบ่งเค็กผลประโยชน์ปิโตรเลียมให้กับทักษิณ ที่ได้วางรากฐานการถ่ายโอนผลประโยชน์ปิโตรเลียมของประเทศมาให้กับกลุ่มทุนเอกชนผ่านการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แบบสุดซอย คือในกระบวนการแปรรูปได้ฉกเอาท่อก๊าซทั้งระบบ และท่อก๊าซในแหล่งเจดีเอ ไทยมาเลเซียรวมทั้งโรงแยกก๊าซ อุปกรณ์สำหรับธุรกิจก๊าซทั้งระบบแอบพ่วงไปด้วยกับการแปรรูป รวมทั้งถ่ายโอนอำนาจมหาชนของรัฐไปให้บมจ.ปตท. ผูกขาดแทนรัฐ ใช่หรือไม่ ?
โชคดีที่ภาคประชาสังคมได้ฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะไม่เพิกถอนการแปรรูป แต่ก็ทำให้มีคำตัดสินว่าเป็นการแปรรูปที่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้แยกสาธารณสมบัติที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนกระทรวงการคลังก่อนเอาไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และไม่กำหนดเงื่อนเวลาที่บมจ.ปตท.ต้องหยุดการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ
แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะไม่สั่งเพิกถอนการแปรรูปปตท.ด้วยเหตุผลว่า บมจ.ปตท.ได้มีการก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีคำสั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนรัฐ และให้แบ่งแยกที่ดินที่มีการเวนคืน รอนสิทธิ์เพื่อวางระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันคืนรัฐ รวมทั้งให้แบ่งแยกอำนาจมหาชนออกจากอำนาจเอกชนของ บมจ.ปตท.
แต่ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนรัฐมีกระบวนการที่ทำให้มีการคืนไม่ครบถ้วนตามที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)และผู้ตรวจการแผ่นดิน
โดยทั้งสององค์กรอิสระได้ตรวจสอบและวินิจฉัยว่ายังมีท่อก๊าซในทะเล และบนบกอีกบางส่วน รวมทั้งอุปกรณ์โรงแยกก๊าซที่บมจ.ปตท.ยังคืนให้รัฐไม่ครบถ้วน กล่าวคือ คณะกรรมการตรวจการแผ่นดินระบุว่ามีมูลค่าทรัพย์สินที่ยังไม่คืนอีกประมาณ5.2หมื่นล้าน ส่วนคตง.ระบุว่าประมาณ 3.2หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีดังกล่าวยังเป็นข้อพิพาทในศาลปกครองที่ยังไม่สิ้นสุด
มีข้ออ้างว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นของ บมจ.ปตท.เพราะ ปตท.เป็นผู้กู้ยืมเงินมา
สร้างท่อก๊าซ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะปตท.ในสมัยนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ100% ไม่ใช่บมจ.ปตท.ซึ่งมีเอกชนถือหุ้นอยู่ถึง49% ท่อส่งก๊าซจึงยังเป็นของรัฐ100%
ยิ่งดูแผนที่กำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลจากแหล่งเอราวัณมาขึ้นบกที่ระยอง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13กันยายน 2522 ลงนามโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และประสิทธิ์ ณรงค์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม(ดูภาพและเอกสารในราชกิจจานุเบกษาประกอบ) ย่อมเห็นชัดเจนว่าระบบท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่กลุ่มทุนพลังงานและนักการเมืองนอกกลุ่มทักษิณก็ต้องการครอบครองต่อไปเช่นเดียวกัน ใช่หรือไม่?
มาถึงยุคคสช.ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ก็ร่วมกับกลุ่มทุนพลังงานยืนขวางทางการจัดการเรื่องท่อก๊าซ สาธารณสมบัติที่ยังแบ่งแยกคืนแผ่นดินไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบผู้ตรวจการแผ่นดินและการตรวจสอบของคตง. ยิ่งกว่านั้นคสช.ยังเข้ามาเพื่อสานต่อโรดแม็ปของกลุ่มทุนพลังงานในการรุกคืบเพื่อยึดครองแหล่งปิโตรเลียมหลังจากได้ยึดครองท่อส่งก๊าซในทะเล ซึ่งเท่ากับสามารถยึดครองธุรกิจก๊าซของชาติแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจร ใช่หรือไม่
ดูได้จากกระบวนการแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ของคสช. ในปี2560 เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อมุ่งต่ออายุให้ผู้รับสัมปทานกลุ่มเดิมได้ครอบครองแหล่งปิโตรเลียมบงกช/เอราวัณต่อไป ทั้งๆที่กฎหมายปิโตรเลียม 2514 ไม่ให้มีการต่ออายุสัมปทานให้เอกชนรายเก่าอีกหลังหมดอายุสัมปทานในปี 2565,2566 นอกจากนี้มีการออกแบบประมูลกำมะลอที่ล็อคเสปกเพื่อให้เครือปตท.ได้ครอบครองทั้งบงกช และเอราวัณต่อไป ใช่หรือไม่
เมื่อผนวกกับท่อก๊าซในทะเลที่ปตท.ยึดครองไว้อยู่ก่อนแล้ว ทำให้ปตท.สามารถผูกขาดกิจการก๊าซซึ่งเป็นปิโตรเลียมหลักของประเทศ เป็นการผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำแบบครบวงจร ตามโรดแม็ปเดิมของทักษิณ ใช่หรือไม่?
แล้วแบบนี้ กลุ่มทุนในสายคสช.จะไม่แบ่งเค็ก40%ในแหล่งเอราวัณให้ทักษิณได้อย่างไร ใช่หรือไม่?
คสช.ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าคสช.เข้ามายึดอำนาจเพื่อกำจัดทักษิณแต่ก็เป็นการกำจัดทางการเมืองเท่านั้น ส่วนเบื้องหลัง ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องต้องแบ่งกัน โดยเฉพาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งเป็นผลประโยชน์มหาศาลของประเทศ กลายเป็นของที่ต้องแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ระหว่างกลุ่มทุนของ
คสช.กับทักษิณ ใช่หรือไม่?
รสนา โตสิตระกูล
21 ธ.ค 2561
สัมปทานปิโตรเลียมบนตึกชินวัตร
https://mgronline.com/daily/detail/9570000006998