"ความเห็นต่างกับท่านประธานสนช.กรณีการตัดมาตรา10/1 ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ"

"ความเห็นต่างกับท่านประธานสนช.กรณีการตัดมาตรา10/1 ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ"

 

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

 

 

"ความเห็นต่างกับท่านประธานสนช.กรณีการตัดมาตรา10/1

ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ"

 

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ คณะกรรมาธิการเป็นรูปแบบการทำงานของ"องค์กรกลุ่ม" ที่การปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นการตรากฎหมาย การตราข้อบังคับ การพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ การอภิปรายซักถามคณะรัฐมนตรี การให้ความเห็นชอบหรือถอดถอนบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ล้วนต้องทำผ่านรูปแบบการประชุมเพื่อให้ได้มติทั้งสิ้น ไม่มีข้อยกเว้น

 

รูปแบบการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการต้องมี3องค์ประกอบ คือ

 

1. ที่มาของสมาชิก

2. องค์ประชุม

3. องค์มติ

 

ข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นข้อบังคับฯที่ใช้กับการประชุมทั้งของสภานิติบัญญัติและกรรมาธิการ ข้อบังคับฯจึงกำหนดรายละเอียดวิธีการประชุม เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า"องค์มติ"จากการประชุม

 

ตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2557 ข้อที่90 บัญญัติว่า

 

"การประชุมคณะกรรมาธิการต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เว้นแต่ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และให้นำความในหมวด3 การประชุมสภาและหมวดอื่นที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม

 

ในหมวด3 ส่วนที่1 วิธีการประชุม ข้อ15 บัญญัติว่า การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ไ้ด้แจ้งนัดในที่ประชุมแล้ว จึงให้ทำหนังสือนัดเฉพาะสมาชิกที่ไม่ได้มาประชุม

 

การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ประธานสภาจะนัดเร็วกว่านั้นหรือนัดประชุมโดยวิธีอื่นก็ได้เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน"

 

การที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียม(ฉบับที่...)พ.ศ...ได้เพิ่มมาตรา10/1 ว่าด้วยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งมาจากทั้งมติครม. และมติคณะกรรมาธิการวิสามัญอันเป็นกลไกสำคัญของการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการที่เป็นสาระหลักในการแก้ไขร่างพ.ร.บ .ปิโตรเลียมฯ

ดังนั้นการตัดมาตรา

10/1 ออกจากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมจึงเป็นการทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างบริการไม่สามารถปฏิบัติได้

 

มาตรา10/1ในร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นกลไกที่สำคัญของระบบใหม่ที่ได้แก้ไขเพิ่มเข้ามาในร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียมและได้เสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว หากจะตัดมาตรา10/1 ต้องเป็นมติของสมาชิกสนช.ที่จะลงมติไม่เห็นชอบกับการเพิ่มเติมของกรรมาธิการฯในมาตรานี้ มิใช่ตัดออกโดยพลการด้วยข้ออ้างว่าประธานกรรมาธิการได้ปรึกษากรรมาธิการแล้ว โดยไม่มีเรียกการประชุมใหม่ ซึ่งไม่มีข้อบังคับข้อใดระบุให้กระทำได้

 

ดังที่บัญญัติในข้อบังคับการประชุมสนช.ไว้แล้วว่าการทำงานขององค์กรกลุ่ม เพื่อให้เกิดมติต้องมีองค์ประกอบของการประชุม ถ้าประชุมทั่วไปต้องมีองค์ประชุม1/3 แต่ถ้าจะประชุมเพื่อมีมติในเรื่องหนึ่งเรื่องใดต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมที่ทำให้เกิดองค์มติได้

และเงื่อนไขการประชุมก็ถูกกำหนดในข้อบังคับฯว่าต้องแจ้งล่วงหน้า3วัน หากจะประชุมเร่งด่วนไม่รอถึง3วัน ก็ต้องขอมติในที่ประชุมสภาให้พักการประชุมเพื่อให้คณะกรรมาธิการนัดประชุมเร่งด่วนเพื่อมีมติแก้ไขก็ได้

 

การที่ท่านประธานสภาพรเพชร วิชิตชลชัยได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายฉบับในวันนี้ (25เมษายน)ว่า "เนื่องจากกระบวนการพิจารณาได้มีการสอบถามความเห็นชอบจากกรรมาธิการฯ และที่ประชุม สนช.แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงมติ เนื่องจากเป็นการตัดออก ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม"

 

ต้องขอสอบถามท่านประธานพรเพชรด้วยความเคารพว่า ท่านอาศัยข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติข้อใดที่ว่า"การตัดออก"ไม่ใช่"การแก้ไขเพิ่มเติม" จึงสามารถทำได้โดยไม่ต้องลงมติ

 

ไม่ว่าจะเป็น "การตัดออก การเปลี่ยนถ้อยคำ การเพิ่มเติมถ้อยคำและเนื้อหา การลดทอนถ้อยคำและเนื้อหา" ล้วนอยู่ในความหมายของคำว่า "การแก้ไข"ทั้งสิ้น ถือเป็นการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม

(ฉบับที่...) พ.ศ...ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้เพิ่มมาตรา10/1 ไว้แล้วเพื่อให้สภานิติบัญญัติพิจารณาว่าจะเห็นชอบกับการเพิ่มเติมของกรรมาธิการฯหรือไม่ การไม่ให้สภาลงมติว่าจะเห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา10/1 ของกรรมาธิการหรือไม่ แต่กลับใช้วิธีขอให้ตัดมาตรา10/1ออกและไปใส่ในข้อสังเกต จึงทำให้เกิดคำถามว่าท่านประธานสนช.ไม่ต้องการให้สมาชิกโหวตเห็นชอบกับมาตรา10/1 ของกรรมาธิการใช่หรือไม่? ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งคำถามได้ว่าความเบี่ยงเบนดังกล่าวเป็นไปตามความต้องการ

ของมรว.ปรีดียาธร เทวกุล ที่มีหนังสือถึงสมาชิกสนช.เมื่อวันที่27 มีนาคม 2560 ก่อนมีการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมเพียง3วันที่ขอให้

ผ่าน ร่างพ.ร.บ .ปิโตรเลียมฯโดยให้ตัดมาตรา10/1ออกใช่หรือไม่?

 

เช่นนี้แล้วย่อมทำให้สังคมอาจเกิดคำถามต่อไปได้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา114 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์"

 

ไม่ว่าจะตัดมาตรา10/1 ออก หรือแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้ ก็คือการแก้ไขจากร่างเดิมที่สภานิติบัญญัติกำลังพิจารณาอยู่

 

ท่านประธานสนช.กล่าวเสมือนว่าการ"แก้ไขเพิ่มเติม"สำคัญมากกว่าการ"ตัดออก" เลยทำให้การตัดออกสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีการลงมติ ทั้งที่ถ้า"แก้ไข" ในกรณีที่เป็นการ "แก้ไขเพิ่มเติม" นั้นมาตราเดิมคือ10/1 ยังคงอยู่ แต่การ "แก้ไข" ด้วย "การตัดออก"นั้น ถือว่าเป็นการถอนรากถอนโคนเนื้อหาสาระในมาตรา10/1 ออกไปทั้งหมดจากร่างกฎหมายนั้น จะไม่ยิ่งสำคัญกว่าการ"แก้ไขเพิ่มเติม"ละหรือ

 

ในเมื่อการตัดออกคือการแก้ไขแบบถอนรากถอนโคนมาตรา10/1 ก็ยิ่งต้องมีการขอมติคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งในการประชุมสภาวันที่30มีนาคม 2560 มีกรรมาธิการหลายท่านยืนยันว่าการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการจำเป็นต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อทำให้2ระบบนี้สามารถปฏิบัติได้จริง กรรมาธิการบางท่านได้พูดว่าอย่าเอาไปแอบไว้ในข้อสังเกตเลย และขอยืนยันให้ใส่เป็นมาตราไว้ในกฎหมาย

 

การที่ท่านประธานสนช.รวบรัดถามบนบัลลังก์ว่า "ตอนนี้เอาสรุปว่าท่านสมชายถามกรรมาธิการตรงๆว่าจะเป็นข้อสังเกตได้ไหม" จึงทำให้ประธานกรรมาธิกาต้องยอมกล่าวถ้อยคำที่แสดงความไม่เต็มใจว่า "ผมและกรรมาธิการก็ยอมรับความคิดนี้ แต่ก็ยอมรับเพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้เพื่อให้งานกฎหมายนั้นเดินไปได้ "

 

สภาพการณ์ของการประชุมสนช.ที่ไม่มีฝ่ายค้านจึงออกมาด้วยการตัดมาตรา10/1 ออกจากร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียมโดยง่ายดาย โดยพลการ ทำให้หมิ่นเหม่ต่อการขัดข้อบังคับการประชุมของสนช. และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

นี่จะไม่ถือว่าเป็นการทำเกินอำนาจ(over rule) ข้อบังคับและมติคณะกรรมาธิการโดยประธานทั้ง2 ท่านคือประธานกรรมาธิการและประธานสนช.ละหรือ?  นี่มิใช่เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์และความน่าเชื่อถือของกระบวนการบัญญัติกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติละหรือ?

 

รสนา โตสิตระกูล

25 เมษายน 2560