“คัดแยกขยะต้นทาง” จุดเริ่มต้นวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนทางช่วยโลกเริ่มที่ตัวเรา พร้อมนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

“คัดแยกขยะต้นทาง” จุดเริ่มต้นวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนทางช่วยโลกเริ่มที่ตัวเรา พร้อมนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 

 

 

 

“คัดแยกขยะต้นทาง” จุดเริ่มต้นวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์
ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
หนทางช่วยโลกเริ่มที่ตัวเรา พร้อมนำไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

 


หลายปีมานี้ หลายภาคส่วนต่างหันมาให้ความสำคัญเรื่อง “ขยะ” กันมากขึ้น แนวทางหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในระดับสากลว่าเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่การที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีการจัดการและเเยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ง่ายสำหรับการนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังเช่นที่ภาคประชาชนในหลายชุมชนได้ตื่นตัวและลุกขึ้นมาจัดการ "ขยะต้นทาง" อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์


ความร่วมมือของเครือข่าย “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างพฤติกรรมนำขยะมาหมุนเวียนต่อยอดคุณค่า คือจุดเริ่มต้นของต้นแบบ Circular Community


“โรงเรียนมีนโยบายเป็นโรงเรียนปลอดขยะ โดยร่วมกับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีที่ระยอง ปลูกฝังจิตสำนึก และสอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้เด็กๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รู้จักการซ่อมแซมของใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องตัดหญ้า คอมพิวเตอร์ เพื่อลดนิสัยบริโภคนิยม หยุดใช้โฟม ลดการใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าเพื่อลดขยะต้นทาง นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับวัดและชุมชน สร้างคุณค่าให้ขยะชุมชน เช่น ถังขยะในโรงเรียนทุกใบมาจากถังสังฆทาน สำหรับเป็นถังขยะ 4 ประเภท ได้แก่ ไม้ พลาสติก กล่องนม และกระดาษ โดยเด็กๆ จะแยกขยะตั้งแต่ในห้องเรียน เพื่อให้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นของใช้ได้อย่างสะดวก โดยกล่องนมนำมาแปรรูปเป็นโต๊ะเก้าอี้ของนักเรียนอนุบาล หมวก และพัด ส่วนไม้ไอศกรีมนำมาทำสื่อการเรียน และกระดาษจะนำมาปั่นแล้วทำเปเปอร์มาเช่เป็นหมวกเทวดา แล้วนำกลับไปถวายวัด เพื่อใช้ในเทศกาลต่างๆ หรือแม้แต่การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ย สำหรับปลูกต้นไม้ในโรงเรียนและชุมชน” คุณบุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโขดหินมิตรภาพที่ 42 จ.ระยอง กล่าว


การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ไม่ง่ายสำหรับชุมชน แต่เมื่อเห็นประโยชน์ว่าทำแล้วช่วยลดปัญหาสุขภาพของชุมชนได้จริง จึงนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน


“ที่ชุมชนมีขยะเยอะ ถังขยะจึงเยอะมากเช่นกัน และนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก ในปี 2556 ที่ผ่านมา ชุมชนจึงเริ่มขับเคลื่อนโครงการขยะร่วมกับบริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ในธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี กองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมภาค 8 และกองสาธารณสุขของเทศบาลตำบลกรับใหญ่ ในช่วงแรกก็มีการต่อต้านจากชุมชน เพราะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่เมื่อทำแล้วเห็นประโยชน์ จึงเกิดความร่วมมือทั้งหมู่บ้านกว่า 300 ครัวเรือน โดยแต่ละครัวเรือนจะแยกขยะเพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อ เช่น นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักเพื่อปลูกผักปลอดภัย และส่งจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ส่วนกล่องนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม นำไปทำหมวก แก้วน้ำและขวดพลาสติก นำไปใช้ปลูกต้นไม้ ทำให้เป็นต้นแบบของชุมชนขนาดใหญ่ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการเข้าประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ทุกวันนี้ ชุมชนของเราอยู่กันอย่างมีความสุข ไร้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคไข้เลือดออก” คุณสนั่น เตชะดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 บ้านรางพลับ ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กล่าว

 


เพราะเชื่อว่าการเริ่มต้นด้วยการทิ้งอย่างถูกต้อง ขยะจะถูกนำไปสร้างคุณค่าได้ใหม่ จึงส่งเสริมให้ชุมชนแยกขยะ “เพราะขยะคือทองคำ”


“ที่บ้านแป้นโป่งชัยไม่มีการทิ้งขยะแล้ว เพราะได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่เชียงใหม่ด้านการจัดการขยะ จึงกลับมาสร้างความเข้าใจกับชุมชนว่า การจัดการขยะไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ และไม่ใช่เพียงผู้นำหรือเทศบาลเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหา จากวันนั้น ชุมชนได้ลงมติให้มีการคัดแยกขยะครัวเรือนผ่านโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ของเทศบาลตำบลบ้านสา และเอสซีจี เพื่อให้เหลือขยะสำหรับทิ้งน้อยที่สุด ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น เศษอาหาร ใบไม้ ใบหญ้า จะไม่เผา เพื่อลดมลพิษ ซึ่งก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ แต่นำมาทิ้งลงใน “เสวียน” คอกรอบต้นไม้ที่สานด้วยไม้ไผ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ได้ปุ๋ยหมักธรรมชาติ ช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอด ไม่ต้องรดน้ำ และช่วยให้ผลไม้มีรสชาติหวานขึ้น ส่วนขยะรีไซเคิลที่คัดแยกไว้ ก็สามารถนำมาทำเป็นตะกร้า พัด หมวก เพิ่มมูลค่าให้เศษขยะ หรือขายเป็นรายได้เสริม โดยปีที่ผ่านมาทั้งหมู่บ้านสามารถขายขยะได้รวมกันกว่า 63,000 บาท ส่วนขยะอันตรายจะนำไปแลกไข่ไก่กับเทศบาลตำบลบ้านสา ความร่วมมือนี้ทำให้บ้านแป้นฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศการคัดแยกขยะ 4 ปีซ้อนจากเทศบาลตำบลบ้านสา เดี๋ยวนี้ชาวบ้านขี่รถไปเจอขวดแก้ว พลาสติกที่ไหน ต้องหยุดเก็บ เพราะขยะเหล่านี้เป็นขยะทองคำทั้งนั้น” ผู้ใหญ่วินัย สายแปง ผู้ใหญ่บ้านแป้นโป่งชัย หมู่ที่ 9 อ.แม่ทะ จ.ลำปาง กล่าว


เพราะขยะเป็นปัญหาระดับประเทศ การแก้ไขให้ได้ประโยชน์และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจว่าปัญหาต่าง ๆ เป็นปัญหาส่วนรวม และต้องเกิดจากทำงานอย่างจริงจัง


“เทศบาลฯ ส่งเสริมให้ชุมชนแยกขยะเพราะมองว่าขยะมีคุณค่า แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความรู้ชุมชนต่อว่าการขายขยะโดยไม่คัดแยกจะทำให้ถูกกดราคาลง เช่น ขวดแก้ว 12 ขวด สามารถขายได้ 4 บาท แต่ถ้ามีการคัดแยกจะสามารถขายได้ 8 บาท เรียกว่ามากกว่า 1 เท่า ชุมชนจึงเริ่มเห็นคุณค่าของการแยกขยะ โดยเทศบาลฯ ส่งเสริมให้คัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ขยะอินทรีย์ และขยะทั่วไป อีกทั้งยังได้ร่วมกับเอสซีจี จัดตั้งโรงแยกขยะ “ศูนย์จัดการวัสดุที่ไม่ใช้อย่างมีส่วนร่วมของเทศบาลตำบลบ้านสา” เพื่อนำขยะที่ชุมชนไม่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ ไปทำเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตของเอสซีจี นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” คุณนภปนนท์ สุรินทร์โท ปลัดเทศบาลตำบลบ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง กล่าว

 


เอสซีจี ยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางตามแนวปฏิบัติ SCG Circular Way โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ประเทศ และสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป