“รสนา” ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ขัดหลักธรรมาภิบาล-กระบวนการตรากฎหมาย

“รสนา” ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ขัดหลักธรรมาภิบาล-กระบวนการตรากฎหมาย

 

 

 

 

 

 

          “รสนา” ยื่นผู้ตรวจฯ ส่งศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ขัดหลักธรรมาภิบาล-กระบวนการตรากฎหมาย

 

 

 

อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ยื่นผู้ตรวจการฯ เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังพบการพิจารณาวาระ 2 ของ สนช. ตัด ม.10/1 ว่าด้วยการตั้งบรรษัทน้ำมันออกโดยพลการ ผิดข้อบังคับการประชุม ไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ขัดต่อหลักธรรมาภิบาลการบริการประเทศตาม ม.164 และขัดกระบวนการตรากฎหมายตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญใหม่
       
       วันนี้ (28 เม.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และอดีตประธานกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ให้ตัวแทนไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าร่าง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 เป็นการตราขึ้นโดยชอบด้วยเจตนารมณ์และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรหรือไม่ โดยหนังสือดังกล่าว มีใจความว่า
       
       ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ในวาระที่สาม เพื่อตราเป็นกฎหมายในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 นั้น
       
       จากการตรวจสอบพบว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่สอง มิได้มีการพิจารณาขอมติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียงตามลำดับมาตราตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติ พ.ศ. 2557 ข้อ 126 ที่บัญญัติว่า “ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาเริ่มต้นด้วย ชื่อร่าง คำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงลำดับมาตรา และให้สมาชิกอภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำ หรือข้อความที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่มีการสงวนคำแปรญัตติ หรือสงวนความเห็นให้อภิปรายได้เฉพาะผู้แปรญัตติที่ได้สงวนคำแปรญัตติ หรือกรรมาธิการที่ได้สงวนความเห็นไว้เท่านั้น ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมสภาจะได้ลงมติเป็นอย่างอื่น”
       
        คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10/1 โดยได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้มีการเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวความว่า “ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้ง”
       
        ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ในวันดังกล่าว หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิก ก่อนมีการลงมติว่าสมาชิกจะเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หรือไม่ มีสมาชิกอภิปรายโดยไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติในข้อ 126 และผู้อภิปรายเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯตัดมาตรา 10/1 ในร่างออกไป เพื่อมิให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
       
        ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานวุฒิสภาในขณะเดียวกัน ตามธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 5 บัญญัติว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งประเพณีการปกครองที่กล่าวถึงข้างต้น คือ บทบัญญัติการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 89 วรรค 4 บัญญัติว่า “ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 119 วรรคหนึ่งและสอง ที่บัญญัติ “ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภามีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการของสภานั้นๆให้เป็นไปตามข้อบังคับ และ ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่” แต่ปรากฏว่า ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมของสภานิบัญญัติแห่งชาติ ข้อ 126 และกล่าวชี้นำในที่ประชุมว่า
       
        “มีอยู่อย่างเดียวว่าควรจะเขียนไว้ในกฎหมายหรือไม่ หรือเขียนเป็นข้อสังเกต เขาก็อภิปรายกันแต่เฉพาะประเด็นกฎหมาย ถ้าเขียนมันจะสมบูรณ์ไหม กลับไปเขียนเป็นข้อสังเกตอย่างไหนมันดีกว่ากัน แต่ว่าท่านสมาชิกอภิปรายกัน 5 - 6 ชั่วโมงไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย และทำให้มันบานปลาย ตอนนี้เอาสรุปว่า ท่านสมชายถามกรรมาธิการตรงๆ ว่าจะเป็นข้อสังเกตได้ไหม โดยให้กระทรวงพลังงาน ผมยังไม่เห็นกระทรวงพลังงานพูดเลย”
       
        ในการประชุมสภาวันดังกล่าวมีกรรมาธิการหลายคน ยืนยันว่า การเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างบริการจำเป็นต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อทำให้ 2 ระบบนี้สามารถปฏิบัติได้จริง กรรมาธิการบางคนได้พูดว่าอย่าเอาไปแอบไว้ในข้อสังเกตเลย และขอยืนยันให้ใส่เป็นมาตรานี้ไว้ในกฎหมาย แต่การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถามบนบัลลังก์ว่าจะให้เป็นข้อสังเกตได้หรือไม่ จึงทำให้ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ ยื่นมติว่าจะใส่ไว้ในกฎหมายเป็นมาตรา 10/1 ต้องยอมกล่าวถ้อยคำที่แสดงความไม่เต็มใจว่า “ยอมรับความคิดนี้เพื่อให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้เพื่อให้งานกฎหมายนั้นเดินไปได้”
       
        ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงได้ยอมตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยพลการ โดยไม่มีการดำเนินการถอนเรื่องออกไปเพื่อประชุมขอมติจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามข้อบังคับข้อที่ 90 ทั้งที่การเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ได้รับความเห็นชอบทั้งจาก มติคณะรัฐมนตรีและมติจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
       
        1) การพิจารณารายมาตราในวาระที่สอง สมาชิกมีสิทธิอภิปรายเสนอข้อคิดเห็นเพื่อลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ หรือเสนอและมีมติให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่างกลับไปแก้ไขใหม่ก็ได้
       
        2) เนื่องจากร่างแก้ไขตามมาตรา 10/1 เป็นมติของคณะรัฐมนตรี และมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หากจะมีการแก้ไขมาตรา 10/1 ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อความ หรือ ตัดมาตรา 10/1 ออกไปทั้งมาตรา ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องขอถอนร่างฯกลับไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการใหม่ หรือขออนุญาตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพักการประชุมและสั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อขอมติจากคณะกรรมาธิการฯ ให้ตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อสภา และสภาต้องมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการใดๆ รวมทั้งสภาต้องมีมติเห็นชอบ หากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะมีมติขอตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ ดังข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อ 90 ที่บัญญัติว่า
       
        “การประชุมคณะกรรมาธิการต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เว้นแต่ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และให้นำความในหมวด 3 การประชุมสภาและหมวดอื่นที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม
       
        ในหมวด 3 ส่วนที่ 1 วิธีการประชุม ข้อ 15 บัญญัติว่า การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ได้แจ้งนัดในที่ประชุมแล้ว จึงให้ทำหนังสือนัดเฉพาะสมาชิกที่ไม่ได้มาประชุม
       
        การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ประธานสภาจะนัดเร็วกว่านั้นหรือนัดประชุมโดยวิธีอื่นก็ได้เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน”
       
        3) เมื่อสมาชิก สนช. ไม่มีการลงมติในมาตรา 10/1 ตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกอบกับไม่มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อขอมติให้ตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มิได้มีมติให้ความเห็นชอบการตัดมาตรา 10/1 ออกไป ย่อมแสดงว่า ข้อแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ให้เพิ่มมาตรา 10/1 ยังคงค้างอยู่ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ดังกล่าว
       
        4) ในบันทึกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว (เรื่องด่วนที่ 5) ตามเอกสารตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อลงมติรายมาตรานั้น มีระบุมาตราที่ลงมติในวาระที่สองไว้คือ มาตรา 4, มาตรา 6, มาตรา 53/3, มาตรา 53/8, หมวด 3/2 มาตรา 53/9, มาตรา 53/10, มาตรา 53/11, มาตรา 53/11/1, มาตรา 53/11/2, มาตรา 53/12, มาตรา 53/16, มาตรา 10 และมาตรา 10/2 ซึ่งข้ามลำดับการลงมติในมาตรา 10/1 โดยไม่มีบันทึกมติการเห็นชอบจากสมาชิกสภาให้ถอนมาตราดังกล่าวออกไปตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงขัดต่อข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อ 126 และข้อ 128 ที่บัญญัติว่า “เมื่อได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาต่อไปในวาระที่สาม”
       
        เนื่องจากสมาชิก สนช. มิได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง ลงมติเรียงตามลำดับมาตราตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับอย่างครบถ้วน การลงมติต่อไปในวาระที่สามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ... ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป จึงน่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 13 วรรค 2 และมาตรา 15 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 128 และมาตรา 81 อีกด้วย
       
        5) ประเด็นสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...คือ การเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการเข้ามาในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพราะเหตุที่ว่าในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติให้ใช้เฉพาะระบบสัมปทานระบบเดียว แต่กำหนดให้ต่ออายุสัมปทานการผลิตแก่เอกชนได้เพียง 1 ครั้ง จึงมีแปลงสัมปทานแปลงใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย 2 แปลง คือ แปลงเอราวัณ และ แปลงบงกช ที่จะไม่สามารถต่ออายุสัมปทานให้เอกชนได้อีกตามกฎหมายหลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี พ.ศ. 2565 และ 2566 ตามลำดับ ดังนั้น การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... จึงเป็นการแก้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่สามารถต่ออายุสัมปทานในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่แม้หมดอายุสัมปทานแล้ว แต่ยังมีปริมาณปิโตรเลียมเหลืออยู่เป็นจำนวนมหาศาล
       
        สาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.....คือ การเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการ ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้จำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นโครงสร้างและกลไกรองรับในการปฏิบัติ การตัดมาตรา 10/1 จึงเป็นการทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จึงอาจเข้าข่ายเป็นการตรากฎหมายเพื่ออำพรางระบบสัมปทานที่จะนำมาใช้ต่ออายุในแปลงเอราวัณและบงกชต่อไป เพราะรัฐไม่มีหน่วยงานคือบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของรัฐในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างบริการได้ การตรากฎหมายเช่นนี้จึงน่าจะขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 164
       
        อีกทางหนึ่ง การตัดเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในมาตรา 10/1 อาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐจะต้องมอบให้บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นผู้ขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของรัฐแทน ซึ่งก็จะประสบปัญหา เพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบบริษัทเอกชนเพื่อให้แน่ใจว่าราคาขายดังกล่าวเป็นราคาสูงสุดที่รัฐพึงจะได้รับ และเป็นธรรมแก่รัฐ ส่วนการจะมอบให้กลุ่มบริษัท ปตท. ทำหน้าที่นี้ ก็จะไม่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนส่วนรวมเช่นกัน เพราะรายได้และกำไรส่วนหนึ่งจะตกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเอกชน ไม่ว่าผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย หรือผู้ถือหุ้นสัญชาติต่างประเทศ หากจะมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของรัฐ แต่เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ส่วนราชการมิได้อนุญาตให้ส่วนราชการใดๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในเชิงธุรกิจ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้จริงในทางปฏิบัติ
       
        การพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม(ฉบับที่...) พ.ศ....โดยตัดมาตรา 10/1 จึงเป็นการตรากฎหมายที่ขาดความรอบคอบ และไม่ระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
       
        6) การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ดำเนินการควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับฯข้อที่ 126 คือ ประธานมิได้ให้สภาลงมติหลังจบการอภิปรายของสมาชิกแล้ว ว่าจะเห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯหรือไม่ แต่กลับใช้วิธีขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯเป็นผู้ตัดมาตรา10/1ออกไปเสียเอง และนำไปใส่ไว้ในข้อสังเกตแทน โดยมิได้ดำเนินการให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ถอนร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯออกไปพิจารณาขอมติใหม่นั้น ย่อมเป็นการไม่ทำตามข้อบังคับฯในการประชุมพิจารณาในวาระที่สอง จึงทำให้เกิดคำถามว่าท่านประธาน สนช. ขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็น ผู้ตัดมาตรา 10/1 ออกไป เพื่อไม่ให้มาตรา10/1 ซึ่งจะได้รับการลงมติผ่านเป็นบทบัญญัติในกฎหมายปิโตรเลียมนั้น เป็นไปตามความต้องการของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ที่มีหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิก สนช. เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่าน ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯโดยให้ตัดมาตรา 10/1 ออกไปใช่หรือไม่?
       
        การดำเนินการตรากฎหมายที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับฯอย่างเคร่งครัด เช่นนี้ จึงมีข้อพิจารณาว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามประเพณีการปฏิบัติตนในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยหรือไม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 122 ที่ บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” และหลักการดังกล่าวก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 114 เช่นกันที่บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”
       
        7) การรวบรัดตัดมาตรา 10/1 โดยมิได้มีการขอมติที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯถอนร่างออกไปพิจารณาและขอมติใหม่ อีกทั้งมาตรา 10/1 เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฉบับดังกล่าว ทำให้กฎหมายที่แก้ไขไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยที่ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการทางนิติบัญญัติในการตราและการประกาศใช้เป็นกฎหมายนั้น มีข้อพิจารณาว่ามีความพยายามเร่งรัดให้เสร็จสิ้นในชั้นสภานิติบัญญัติก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ในวันที่ 6 เมษายน 2560 หรือไม่
       
        โดยที่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติในมาตรา 77 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน....” โดยที่ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....เป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งส่งกระทบต่อประชาชนและชุมชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 43(2) ว่าด้วยการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมนั้น ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างกว้างขวางและรอบด้าน แต่ร่างกฎหมายปิโตรเลียมเป็นกฎหมายสำคัญที่ใช้เป็นกติกาบริหารทรัพยากรปิโตรเลียม ที่มีมูลค่าประมาณปีละ 4 - 5 แสนล้านบาท เฉพาะมูลค่าปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกชก็มีมูลค่าปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้น ก่อนการตรากฎหมายปิโตรเลียม ยิ่งสมควรที่จะมีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่าง พ.ร.บ ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ยังมิได้มีการดำเนินการตามหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่แม้ในขณะนั้นยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติแล้วตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2559
       
        ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ ขัดต่อข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติ พ.ศ. 2557 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 13 วรรค 2 และมาตรา 15 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 128 และมาตรา 81 อีกด้วย นอกจากนี้ ยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมในบทบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 และยังขัดต่อกระบวนการในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 วรรคสองอีกด้วย
       
        อนึ่ง ตามนิติประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสภานิติบัญญัติ หากร่างกฎหมายใดไม่ผ่านกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง และมีบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายนั้นย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ และไม่สมควรที่จะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
       
        อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 231 ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินโปรดพิจารณาส่งข้อร้องเรียนนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นการตราขึ้นโดยชอบด้วยเจตนารมณ์และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
       
       ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
       
       (น.ส. รสนา โตสิตระกูล)
       อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
       อดีตประธานกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา