ทุนใหญ่ฝังตัว? “รสนา” แฉ คนวงในกสทช. พัวพันเอกชน เสี่ยงทุนกุมอำนาจ-ล้วงข้อมูลลับ
ทุนใหญ่ฝังตัว? “รสนา” แฉ คนวงในกสทช. พัวพันเอกชน เสี่ยงทุนกุมอำนาจ-ล้วงข้อมูลลับ
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ The Publisher ในรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร เปิดปมร้อนแรงพอที่จะสะเทือนโครงสร้างขององค์กรอิสระที่ควรทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม อย่าง กสทช.ได้ชนิดที่สังคมควรต้องให้ความสนใจ
รสนา ไม่เพียงแค่ตั้งคำถาม แต่เปิดโปงปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมายาวนานถึงเครือข่ายทุนใหญ่ที่ฝังตัวอยู่ใน กสทช. ปัญหาที่ทำให้เกิดข้อครหาว่า หน่วยงานนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอีกต่อไป แต่กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนแทน เพราะถูก “แทรกซึม?”
-ผลประโยชน์ทับซ้อนใน กสทช. เครือข่ายที่ไม่ควรเกิดขึ้น
รสนา เริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า กฎหมายมาตรา 64 กำหนดให้เลขาธิการ กสทช. และพนักงานของสำนักงานฯ ต้องเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ภายใต้กฎหมายป้องกันการทุจริต ห้ามมิให้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทในอุตสาหกรรมที่ กสทช. กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งผู้ถือหุ้น
แต่ในความเป็นจริง กลับมีกรณีที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กสทช. เป็นภรรยาของ ผู้บริหารด้านกฎหมายของบริษัททรู ซึ่งเป็นคู่กรณีกับ อ.พิรงรอง “สามีภรรยาในทางกฎหมายถือเป็นบุคคลเดียวกัน เมื่อหนึ่งคนอยู่ในสำนักงาน กสทช. และเข้าร่วมประชุมในทุกวาระสำคัญ ขณะที่อีกคนอยู่ในบริษัทที่ถูกกำกับดูแล มันจะเกิดปัญหา Insider หรือไม่? ข้อมูลลับจะรั่วไหลไปสู่เอกชนหรือเปล่า? แบบนี้ยังเรียกว่ากฎหมายมีความหมายอยู่หรือ?”
-กฎหมายห้าม แต่ระบบปฏิบัติจริงอ่อนแอ
รสนาเล่าต่อว่า แม้กฎหมายจะมีบทบัญญัติห้ามกรรมการ กสทช. ไปดำรงตำแหน่งในบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องหลังพ้นวาระเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปี และหากฝ่าฝืนต้องถูกปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสำนักงานกลับเลี่ยงบาลี โดยไม่ห้ามภรรยา-สามีของบุคคลในองค์กรไปทำงานกับบริษัทที่ กสทช. กำกับ
“เราเห็นกรณีที่ พนักงานของบริษัทโทรคมนาคมรายหนึ่ง เปลี่ยนบทบาทมาอยู่หน้าห้องกรรมการ กสทช. ได้ในเวลาเพียงเดือนเดียว หรือแม้กระทั่งพนักงานของ กสทช. ที่ออกจากองค์กร แล้วย้ายไปทำงานกับบริษัทที่ กสทช. ต้องกำกับในทันที แบบนี้ ความลับขององค์กรจะรักษาได้อย่างไร?”
-องค์กรกำกับหรือสนามรบภายใน?
ปัญหาไม่ได้จบแค่เรื่องบุคลากรที่พัวพันกับทุนใหญ่ รสนายังเปิดเผยอีกว่า การบริหารภายในของ กสทช. เต็มไปด้วยความแตกแยก จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันเองระหว่างเลขาฯ และกรรมการ มากถึง 6-7 คดี “สำนักเลขาธิการ กสทช. ควรทำหน้าที่สนับสนุนกรรมการ แต่กลับกลายเป็นว่า เลขาฯ ฟ้องกรรมการ กรรมการฟ้องเลขาฯ วนเวียนกันไป ถามว่า วัน ๆ พวกเขาทำอะไรกันบ้าง? มัวแต่ฟ้องกันเอง แล้วจะมีเวลาทำงานเพื่อประชาชนหรือ?”
-กฎหมายมีแต่ไม่บังคับใช้ แล้วผู้บริโภคจะพึ่งใคร?
นอกจากปัญหาเรื่องความโปร่งใส รสนายังชี้ให้เห็นว่า กฎหมายของ กสทช. กำหนดให้ต้องคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ พร้อมยกกรณีของ “อ.พิรงรอง” ที่ส่งหนังสือแจ้งเตือน 127 บริษัท ว่า อย่านำคอนเทนต์ไปเผยแพร่โดยฝ่าฝืนกฎมัสต์แครี่ แต่กลับถูก ทรูไอดี ฟ้องร้องว่าเป็นการแทรกแซงทางธุรกิจ “สรยุทธ (สุทัศนจินดา) ลองเปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้ามีแพลตฟอร์มหนึ่งนำ ละครของช่อง 3 ไปออกอากาศ แล้วแทรกโฆษณา ช่อง 3 ก็คงไม่ยอม ถามว่าแบบนี้ทรูเสียหายตรงไหน เพราะบริษัทที่เป็นคู่สัญญาหากพบว่ามีการกระทำที่ผิดกฎมัสต์แครี่เขาก็ไม่ทำสัญญาด้วยอยู่แล้ว เขาอ้างว่าหนังสือเตือนกระทบสิทธิเขา แต่เขาไม่คิดบ้างหรือว่าสิ่งที่เขาทำกระทบสิทธิผู้บริโภค“
เธอเผยข้อมูลสำคัญว่า กสทช. มีอำนาจออกกติกาควบคุมแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-top) แต่น่าแปลกที่ร่างกติกาถูกแช่แข็งมานานกว่า 2-3 ปี โดยประธาน กสทช.ไม่มีการนำเข้าสู่ที่ประชุม “ถามว่า กสทช. ทั้งคณะทำอะไรกันอยู่? แบบนี้ผิด 157 หรือไม่? เมื่ออำนาจในการคุ้มครองประชาชนหายไป ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์?”
-สภาวะ “ทุนกุมอำนาจ” ปัญหาที่ต้องสะสาง
ท้ายที่สุด รสนาสะท้อนว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของคนเพียงคนเดียว แต่สะท้อนให้เห็นว่าระบบ “ทุนรุกลึก” ฝังตัวในหน่วยงานกำกับดูแลมานาน “ค่าตอบแทนกรรมการ กสทช. สูงถึง 3 แสนบาทต่อเดือน เป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากทุนใหญ่
”คำว่าล้มยักษ์ถ้ามองภาพกว้างคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มาร้องเรียนว่า เกิดความเดือดร้อนรำคาญ จ่ายเงินแต่ต้องมาดูโฆษณา ถ้าจะบอกว่าไม่มีอำนาจในการกำกับเพราะไม่มีกติกา กสทช.ก็ต้องรีบพิจารณากติกา ความ่าช้า ไม่คุ้มครองผู้บริโภคคุณผิด 157 ทั้งคณะหรือไม่ โดยเฉพาะประธานที่ต้องรับผิดชอบจุดนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีกฎหมาย กสทช.ไม่มีอำนาจ เพราะกสทช.มีอำนาจกำกับต้องออกกติกา เรื่องนี้ร้องเรียนมาที่ กสทช. แต่ทำไมกลายเป็นความผิดส่วนตัวของอ.พิรงรอง ถ้ามองในภาพรวมดิฉันไม่คิดว่าอ.พิรงรองจงใจรังแกทรูไอดี แต่ต้องการคุ้มครองผู้บริโภค น่าจะเป็นสิทธิที่ทำได้ ถ้าทำไม่ได้ต่อไปผู้บริโภคจะไปพึ่งใคร“
จากคำสัมภาษณ์ของรสนา ปัญหาของ กสทช. ไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งภายใน แต่คือ “ทุนใหญ่ฝังตัว” ในหน่วยงานกำกับดูแล และใช้เครือข่ายวงในเพื่อเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ควบคุมการแข่งขัน และเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง
คำถามสำคัญคือ จะปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นต่อไปหรือไม่? และใครจะกล้าสะสางปัญหานี้?