"4มติคตง.รักษาประโยชน์ชาติแต่ขวางคอหอยใคร?"

"4มติคตง.รักษาประโยชน์ชาติแต่ขวางคอหอยใคร?"

 

 

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล 

 

 

"4มติคตง.รักษาประโยชน์ชาติแต่ขวางคอหอยใคร?"

 

จากการติดตามการทำงานของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ชุดปัจจุบัน พบว่ามีอย่างน้อย 4 กรณีสำคัญที่เป็นการตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ แต่อาจจะไปขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐจนทำให้รัฐบาลบริหารงานยุ่งยากมากขึ้น คือ

 

1 กรณีที่เชฟรอนขอคืนภาษีน้ำมันประมาณ 3 พันล้านบาท อ้างว่าการนำน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะบริเวณไหล่ทวีป เป็นการส่งออก ที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่คตง.มีข้อโต้แย้งว่าไม่สามารถดำเนินการได้และให้เรียกเงินค่าภาษีคืน เนื่องจากการขนน้ำมันไปขายที่แท่นขุดเจาะไม่ถือเป็นการส่งออก จึงไม่สามารถยกเว้นภาษีส่งออกได้เนื่องจากพื้นที่สัมปทานดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรไทย ทำให้กระทรวงการคลังต้องส่งเรื่องนี้ให้กฤษฎีกาตีความ กระทั่งได้ข้อสรุปว่าไม่ใช่การส่งออก ให้ยุติการยกเว้นภาษีน้ำมันให้บริษัทเชฟรอน และเรียกเงินภาษีคืน โดยล่าสุดราวเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทางผู้บริหารของบริษัทเชฟรอนก็ออกมาระบุว่าจะคืนภาษีดังกล่าวให้รัฐแล้ว แต่จนบัดนี้หน่วยงานรัฐก็ยังไม่เร่งรัดจัดการคดีนี้ให้แล้วเสร็จ

 

2 กรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป 1.6 หมื่นล้าน ที่คตง.ให้สตง.เร่งรัดกระทรวงการคลังให้จัดเก็บภาษีจำนวนดังกล่าวจากนายทักษิณ ชินวัตร ในขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่าทำไม่ได้เพราะไม่เคยมีการออกหนังสือเรียกนายทักษิณมาไต่สวนและคดีขาดอายุความไปแล้ว แต่เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนจำนวนมากทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาและสุดท้ายกระทรวงการคลังก็เรียกเก็บภาษี ซึ่งก็เป็นผลจากการตรวจสอบของคตง. 

 

3 คตง.และสตง.ท้วงติงเรื่องการแปรรูปรอบ2ของปตท.ในการแยกกิจการน้ำมันและค้าปลีกออกเป็นบริษัทลูกPTTOR และจะลดหุ้นของปตท.บริษัทแม่ลงต่ำกว่า50% ซึ่งกระทบสัดส่วนหุ้นของรัฐ และกระทบส่วนแบ่งกำไรที่รัฐพึงได้ อีกทั้งการแยกบริษัทลูกโดยรัฐมีหุ้นต่ำกว่า50% หน่วยงานของรัฐเช่นสตง.จะไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

ตลอดจนท้วงติงการแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งบริษัทลูกของปตท.เพราะข้อพิพาทเรื่องการคืนท่อก๊าซยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้การแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ต้องหยุดชะงักไป ข้อท้วงติงทั้งหลายเหล่านี้ทำให้เป้าประสงค์ของกลุ่มทุนพลังงานและรัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

 

4 กรณีบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) คืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน โดยคตง.มีมติให้ครม.ดำเนินการให้ ปตท.คืนท่อก๊าซที่ขาดไปอีก 3.2 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลังภายใน60วัน (ครบกำหนดตั้งแต่24 ตุลาคม2559) แต่นอกจากรัฐบาลจะไม่ดำเนินการแล้ว ยังออก มติครม.วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเป็นการถ่วงเวลาพาออกนอกประเด็น

 

การอ้างว่าต้องนำคดีไปให้ศาลพิจารณาใหม่เพราะครม.ทำตัวเป็นคนกลางระหว่างปตท.กับสตง.ทั้งที่ครม.คือผู้เสียหายแทนรัฐที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินคืนรัฐตามคำพิพากษา การนำเรื่องไปให้ศาลพิจารณาใหม่ จึงเป็นการถ่วงเวลาให้คดีหมดอายุความ (คำพิพากษาคดีนี้จะครบ10ปี ในวันที่14 ธันวาคม 2560 ) และศาลอาจจะไม่รับพิจารณา เพราะคำพิพากษาคดีนี้มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว เพียงเเต่การบังคับคดีซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรียังไม่ครบถ้วน จึงเป็นหน้าที่ของครม.ที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง.ก่อนไปแจ้งต่อศาลว่าได้ดำเนินการแบ่งแยกตามคำพิพากษาแล้ว

 

เมื่อครม.มีมติให้ไปยื่นศาลปกครองโดยไม่ได้ทำตามมติคตง.คตง.จึงได้มอบหมายผู้ว่าสตง.ทำหนังสือทักท้วงมติครม.ดังกล่าว และยืนยันให้คณะรัฐมนตรีใช้หลักการบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่800/2557 สั่งให้ปตท.คืนท่อก๊าซมูลค่าประมาณ3.2 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลังแล้วจึงไปแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดในการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้อง

 

ขอถามดังๆไปถึงพล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและท่านนายกรัฐมนตรี ว่าท่านมีเหตุผลใดที่เลือกปฏิบัติต่อคตง.เพียงองค์กรเดียวด้วยการออกคำสั่งตามม.44 ถึง3ครั้งเพื่อเร่งรัดให้สรรหา คตง.ชุดใหม่โดยไม่รอพระราชบัญญัติการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นการปฏิบัติคนละมาตรฐานกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ที่ทั้งหมดท่านให้รอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญของแต่ละองค์กรก่อนการสรรหากรรมการ

 

การเร่งรัดสรรหาคตง.ชุดใหม่ และเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ถูกเลือกปฏิบัติเช่นนี้ ย่อมทำให้เกิดคำถามว่า เป็นเพราะสาเหตุอะไร หรือว่าเป็นเพราะมติทั้ง4เรื่องของ

คตง.ชุดปัจจุบันที่ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมามากเกินไปจนเป็นที่รำคาญใจของผู้มีอำนาจที่จะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้จนต้องเร่งกำจัดคตง.ชุดนี้ให้พ้นทางโดยเร็ว และไม่สามารถรอให้เป็นไปตามขั้นตอนปกติ ใช่หรือไม่?

 

หากเป็นเพราะเหตุผลที่

คตง.ปฏิบัติงานตรงไปตรงมา แต่กลายเป็นก้างขวางคอผู้มีอำนาจ ก็น่าเห็นใจ คตง.ชุดปัจจุบันที่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติแต่กลับต้องมาเผชิญกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการใช้มาตรา 44 เข้ามาแทรกแซงการสรรหาบุคลากรในองค์กรอิสระ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ย่อมเป็นเรื่องไม่สมควร ใช่หรือไม่?

 

ขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีออกมาให้คำตอบกับสังคมในกรณีนี้ให้ชัดเจน

 

ขอเชิญชวนคนไทยที่หวังเห็นการปฏิรูปบ้านเมืองให้สะอาดปลอดจากอำนาจทุจริตของนักการเมืองและกลุ่มทุนผูกขาดไม่ควรนิ่งดูดายในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นต่อไปในอนาคตจะไม่มีคนกล้าทำงานอย่างตรงไปตรงมาให้บ้านเมือง จะมีก็แต่คนที่พร้อมเข้ามาเป็นกรรมการองค์กรอิสระแต่ไม่มีความอิสระ และไม่มีความกล้าหาญพอที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ถูกต้อง และอาจจะพร้อมยอมอยู่ภายใต้การครอบงำและการควบคุมของรัฐบาล และกลุ่มทุนผูกขาด

 

รสนา โตสิตระกูล

18 พ.ค 2560