"หากรัฐบาลคสช.ไม่มี ธรรมาภิบาล ประชาชนจะทำอย่างไร?"

"หากรัฐบาลคสช.ไม่มี ธรรมาภิบาล ประชาชนจะทำอย่างไร?"

 

 

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

"หากรัฐบาลคสช.ไม่มี

ธรรมาภิบาล ประชาชนจะทำอย่างไร?"

 

 

หนึ่งใน4คำถามยอดฮิตของท่านนายกฯตู่ ถามว่า "หากไม่ได้รัฐบาล(จากการเลือกตั้ง) ที่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร?" นั่นเป็นคำถามถึงรัฐบาลในอนาคต  แต่คำถามที่สำคัญกว่าและควรถามมากกว่าคือ

 

"ถ้ารัฐบาลคสช.ในปัจจุบันไม่มีธรรมาภิบาลล่ะ เราจะทำอย่างไร? "

 

รัฐธรรมนูญปราบโกงจะเอาอยู่มั้ย!?!

 

ขอตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลของรัฐบาลคสช.ว่ามีเหตุผลใดจึงต้องเร่งรัดสรรหาคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)เพียงองค์กรเดียว โดยไม่รอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (พรป.คตง.)

 

ทั้งที่ในมาตรา273 ของรัฐธรรมนูญ2560 บัญญัติว่า "ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปและเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

ที่จัดทำขึ้นตามมาตรา267ใช้บังคับแล้วการดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตาม

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว...."

 

การที่รัฐบาลนายกฯตู่ได้ชิงออกคำสั่งมาตรา44 ฉบับที่23/2560ก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพียง1วัน คือ5เมษายน 2560 โดยในคำสั่งให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยยกเว้นการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระอื่น จนกว่าจะมีพรป.ของแต่ละองค์กร

 

 

ต่อมาคสช.ก็ออกคำสั่งอีก2ฉบับคือฉบับที่24/2560 และฉบับ25/2560 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วในวันที่20 เมษายน และ17 พฤษภาคมตามลำดับเพื่อแก้ไขคำสั่งฉบับที่23/2560 โดยครั้งแรกให้ยกเลิกการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะมีพรป.ว่าด้วยการพิจารณาของศาล

รธน.แต่ยังคงให้สรรหา

คตง.ต่อไป และแก้ไขคำสั่งคสช.ครั้งที่2(ฉบับที่25/2560) เพื่อให้ชัดเจนว่าต้องเลือก

คตง.ภายใน180วันนับตั้งแต่วันที่5เมษายน ไม่ใช่180วันหลังการหมดวาระของคตง.ชุดปัจจุบันซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 25 กันยายน 2560

 

หากเปรียบเทียบกับตุลาการศาลรธน.ซึ่งกว่าครึ่งหมดวาระในเดือนพ.ค 2560 แต่คสช.กลับแก้ไขคำสั่งให้รอการสรรหาจนกว่าจะมีพรป.ของศาลรธน.แต่

คตง.ซึ่งจะหมดวาระในวันที่25ก.ย 2560 กลับจะให้สรรหาคตง.ชุดใหม่ทันทีโดยไม่ต้องรอพรป.คตง.เหตุใดจึงใช้มาตรฐานที่ต่างกัน

 

ในคำสั่งที่23/2560 ได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของกรรมการที่เป็นเพียงลักษณะทั่วไป ยังไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา216 ที่บัญญัติว่า "นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยองค์กรอิสระแต่ละองค์กรแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามทั่วไปดังต่อไปนี้....."

 

การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในคำสั่งที่23/2560 จึงยังไม่ใช่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่จะบัญญัติไว้เป็นการ

เฉพาะของคตง.ตาม

รธน.มาตรา 216 ย่อมทำให้คตง.ที่สรรหาตามคำสั่งคสช.มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามพรป.คตง.ที่กำลังยกร่างและจะต้องผ่านการพิจารณาของสนช.ในเร็ววันนี้

 

นอกจากนี้ในมาตรา 279 แม้บัญญัติรับรองคำสั่งคสช.ตามมาตรา44 ที่ออกมาทั้งก่อนและหลังประกาศใช้รธน.ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ก็บัญญัติไว้ด้วยว่า "การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี"

 

จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าคำสั่งที่24/2560 และคำสั่งที่25/2560 ที่แก้ไขคำสั่งที่23/2560 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว คสช.ต้องปฏิบัติตามมาตรา 279 หรือไม่

 

หากคสช.ไม่ปฏิบัติตามจะทำให้การสรรหาคตง.เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่

 

นอกจากนี้ต้องถามอีกว่าคำสั่งคสช.ที่ใช้ตามมาตรา 44 เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา44 ด้วยหรือไม่?

 

ในมาตรา44ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557บัญญัติให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)สามารถใช้อำนาจได้ในเงื่อนไข 2-3ประการคือ

1)ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

2)การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

3)เพื่อ ป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

 

ต้องขอถามว่ากรณีการออกคำสั่งตามมาตรา44 ที่23,24,25 เพื่อสรรหา

คตง.เข้าเงื่อนไขข้อใดของมาตรา44?

 

หากจะกล้อมแกล้มอ้างว่าเป็นเรื่องการปฏิรูป ก็ไม่น่าจะฟังขึ้นเพราะการปฏิรูปกฎหมายที่เด่นชัดในรัฐธรรมนูญคือให้มีการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) 10 ฉบับก่อนการเลือกตั้ง โดยที่พรป.คตง.ก็เป็นหนึ่งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่อยู่ในโรดแม็ป ซึ่งปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับประชามติอยู่แล้ว เหตุใดคสช.ไม่ปล่อยให้กระบวนการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระเป็นไปตามพรป.ของแต่ละองค์กรอิสระ

 

เหตุใดจึงต้องรีบชิงตัดหน้าใช้มาตรา44 มาสรรหา

คตง. แม้ว่าอำนาจของคสช.ในมาตรา44จะได้รับการรับรองไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 265  แต่การใช้อำนาจนั้นก็ไม่ควรขัดแย้งต่อเนื้อหาหลักของรัฐธรรมนูญ

 

ท่านนายกฯตู่ตั้งคำถามถึงธรรมาภิบาลของรัฐบาลในอนาคต ท่านก็สมควรจะยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาลปัจจุบันให้เป็นแบบอย่าง หากคสช.เดินเบี้ยวอย่างแม่ปูเสียแล้ว จะหวังให้ลูกปูเดินตรงได้อย่างไร

 

หากการใช้อำนาจของคสช.ตามมาตรา44 ขัดแย้งต่อเงื่อนไขของมาตรา44 เสียเอง และยังขัดแย้งต่อบทบัญญัติหลักหลายมาตราในรัฐธรรมนูญเสียแล้ว และถ้ายังมีการตีความว่าคำสั่งคสช.ยังคงใช้ได้  เพราะอำนาจรัฐาธิปัตย์ยังอยู่ในมือของคสช.ก็จะเกิดคำถามว่า แล้วจะมีรัฐธรรมนูญไปทำไม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการลงประชามติของประชาชนและได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์.

 

แม้จะมีทฤษฎีเรื่องอำ

นาจรัฐาธิปัตย์ที่ยังอยู่ในมือของคสช.ผ่านมาตรา44 ที่สามารถใช้ได้แม้รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่การใช้อำนาจของคสช.นั้น ก็ควรต้องใช้อย่างจำกัด อย่างระมัดระวัง และอย่างมีธรรมาภิบาล เพราะหากการใช้อำนาจของคสช.เป็นไปตามอำเภอใจโดยไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญที่ตนเองมีส่วนร่วมออกแบบเสียแล้ว ก็จะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมในรัฐธรรมนูญ และจะทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่อวดอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชามติฉบับปราบโกง กลายเป็นเพียงเครื่องมือไว้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม แต่ละเว้นให้กับตนเองและพวกพ้อง และวลี "รัฐธรรมนูญปราบโกง" ก็จะเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้นเอง

 

รสนา โตสิตระกูล

8 พ.ค 2560