“มติปปช.เรื่องนาฬิกาหรูมิใช่เป็นความเสื่อมของป.ป.ช.และคสช.เท่านั้นแต่อาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย”ด้วยหรือไม่!!??
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“มติปปช.เรื่องนาฬิกาหรูมิใช่เป็นความเสื่อมของป.ป.ช.และคสช.เท่านั้นแต่อาจนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย”ด้วยหรือไม่!!??
มติปปช.ที่ยกคำร้องเรื่องนาฬิกาหรูอาจจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นำพาความเสื่อมมาสู่ทั้งระบบการบริหารงานของ คสช.และป.ป.ช.องค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็เป็นได้
มติอัปยศของปปช.ที่ให้ยกคำร้องพล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเกี่ยวกับนาฬิกาหรูว่าไม่มีมูลนั้นขัดต่อข้อพิจารณาทางกฎหมายและขัดต่อสามัญสำนึกของชาวบ้านทั้งประเทศ ซึ่งเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ากฎหมายและความยุติธรรมในประเทศนี้ไม่สามารถเอาผิดคนรวยและคนมีอำนาจในสังคมไทยได้ ใช่หรือไม่?
มติของป.ป.ช ที่ว่า “มีนาฬิกาที่ต้องตรวจสอบจำนวน 22 เรือน โดยพบว่าอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท จำนวน 20 เรือน และพบใบรับประกันนาฬิกาอีก 1 เรือน แต่ไม่พบตัวเรือน รวมเป็น 21 เรือน โดย 21 เรือนดังกล่าวพบหลักฐานว่านายปัฐวาท เป็นผู้ซื้อจากผู้จำหน่ายในต่างประเทศจำนวน 1 เรือน ซื้อต่อจากผู้อื่นจำนวน 2 เรือน
ส่วนที่เหลือไม่พบหลักฐานการซื้อจากผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศ และกรมศุลกากรก็ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันการนำเข้านาฬิกาจากต่างประเทศได้”
คณะกรรมการ ป.ป.ช. อ้างว่าพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานฟังได้ว่านาฬิกาที่ปรากฏเป็นข่าวเก็บรักษาอยู่ในบ้านของนายปัฐวาท แม้ไม่ปรากฏเอกสารการซื้อขายว่านายปัฐวาทเป็นผู้ซื้อนาฬิกาดังกล่าว และยังอ้างว่าตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1369 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการยึดถือเพื่อตน จึงมีมติว่า นายปัฐวาท เป็นเจ้าของนาฬิกาตามภาพข่าวจำนวน 21 เรือนและได้ให้ พล.อ.ประวิตร ยืมใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่ปรากฏในภาพข่าว
การวินิจฉัยง่ายๆแบบนี้ ป.ป.ช.ไม่ควรต้องใช้เวลาถึง1ปี ด้วยซ้ำไป ใช่หรือไม่ ?
ในเมื่อไม่มีหลักฐานว่านายปัฐวาทเป็นผู้ซื้อนาฬิกาทั้ง19 เรือน จึงต้องสันนิษฐานว่าพล.อ ประวิตร ผู้สวมใส่เป็นเจ้าของ ใช่หรือไม่?
ข้ออ้างว่ายืมเพื่อน แต่ไม่มีหลักฐานว่าเพื่อนเป็นผู้ซื้อ หรือเป็นผู้นำเข้า ย่อมทำให้ข้ออ้างนั้นฟังไม่ขึ้น การที่ป.ป.ช.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายวินิจฉัยเรื่องโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งประชาชนมีสิทธิกล่าวโทษกรรมการป.ป.ช ทั้ง5คนได้
เมื่อไม่มีหลักฐานว่านายปัฐวาทเป็นเจ้าของ แต่พล.อ ประวิตรได้สวมใส่นาฬิกาเหล่านั้นมาตลอด แม้หลังจากนายปัฐวาทเสียชีวิตไปแล้วก็ยังสวมใส่อยู่ จึงต้องถือว่าพล.อ ประวิตรเป็นเจ้าของนาฬิกา แต่ไม่ได้แสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อป.ป.ช. ดังนั้น เมื่อพล.อ ประวิตรไม่แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน จึงมีความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รับชั่น ใช่หรือไม่?
นอกจากนี้ การอ้างว่านาฬิกาทั้ง19เรือนที่นำเข้ามาโดยไม่ได้เสียภาษีให้ถูกต้องเป็นของนายปัฐวาทนั้น ย่อมเป็นการโยนความรับผิดชอบให้กับคนตาย และทายาทอีกด้วย ใช่หรือไม่?
ทายาทของนายปัฐวาทที่รับสมอ้างว่านาฬิกา19 เรือนนั้นที่ไม่ได้เสียภาษีนำเข้าโดยถูกต้องเป็นของบิดานั้น ทราบหรือไม่ว่าจะมีความผิดในการครอบครองของหนีภาษีโดยมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งปรับทั้งจำ ตามพ.ร.บ ศุลกากร 2469 มาตรา27 ทวิ ความว่า
“ความผิดตามมาตรา 27 ทวิ นี้เป็นความผิดที่ต่อเนื่องจากความผิดตามมาตรา 27 กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดฐานนี้เป็นผู้ที่รับช่วงของต่อมาจากผู้ที่ได้กระทำความผิดตามมาตรา 27 มาแล้วโดยผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษี .....หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งปรับทั้งจำ”
มติป.ป.ช ในกรณีนี้เป็นการเปิดรูโหว่ให้เกิดการใช้ช่องทางในการคอร์รัปชัน หรือ รับสินบนโดยข้ออ้างเป็นการยืม ทั้งที่การกู้ หรือ ยืมก็เป็นรายการที่ต้องแจ้งในบัญชีส่วนที่เป็นหนี้สิน ไม่ว่าหนี้สินที่เป็นทางการหรือไม่ หรือเป็นหนี้สินที่มีดอกเบี้ยหรือไม่ก็ตาม
สังคมต้องร่วมกันตรวจสอบ เอาผิด และไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจใดๆ ใช้อำนาจแบบผิดๆในการเจาะรูรั่วหรือเปิดช่องโหว่ให้กับการทุจริต คอร์รัปชัน และทำลายกระบวนการยุติธรรมในการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันที่เห็นตำตา เพราะหากปล่อยไว้ อาจจะลามไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย ก็เป็นได้!
รสนา โตสิตระกูล
30 ธ.ค 2561