"เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชใน "ระบบสัมปทาน" ขัดกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ใคร?"

"เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชใน "ระบบสัมปทาน" ขัดกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ใคร?"

 

 


CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

 

"เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชใน "ระบบสัมปทาน" ขัดกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ใคร?"

 

 

การแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 (ฉบับที่7) ที่เพิ่งประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อ22มิถุนายน2560 ที่ผ่านมา เป็นเพียงการอำพรางว่าได้แก้ไขเพื่อเพิ่มระบบใหม่ขึ้นมาคือ ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตที่ต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพราะแปลงเอราวัณ และบงกช ตามพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 เข้าเงื่อนไขห้ามต่อสัมปทานให้เอกชนอีก จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพิ่มระบบอื่นขึ้นมา แต่ก็ทำให้ระบบใหม่พิกลพิการ ใช้ไม่ได้เพื่ออำพรางว่ากฎหมายมีถึง3ระบบให้เลือกใช้

 

ขณะนี้ได้มีการประกาศชัดเจนว่าในแปลงเอราวัณ และบงกช จะนำสัมปทานมาใช้อีก โดยเลี่ยงบาลีว่า ไม่ใช่การ "ต่อสัมปทาน" แต่เป็นการ "เปิดสัมปทานใหม่" ต่างหาก

การกระทำเช่นนี้ เป็นการเลี่ยงกฎหมาย และเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ห้ามใช้ระบบสัมปทานอีกเมื่อให้สัมปทานผลิตแก่เอกชนครบ2ครั้งแล้ว ใช่หรือไม่?

การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมกลับมาเป็นของรัฐ หลังจากเปิดโอกาสให้เอกชนมาบุกเบิกและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศไปอย่างเต็มที่แล้วในระยะเวลา30-40ปีที่ผ่านมา

 

แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่7 ก็เคยทรงมีพระราชดำริว่าเมื่อการให้ประทานบัตร(สัมปทาน)บ่อศิลา(ถ่านหิน)สิ้นสุดลงแล้ว ให้สงวนบ่อถ่านศิลานั้นไว้เพื่อรัฐบาลทำเอง ไม่ให้สัมปทานกับเอกชนอีก การที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไปจึงควรเป็นระบบที่มีหน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการด้วย ไม่ใช่ระบบสัมปทานที่เอกชนได้สิทธิผูกขาดแบบเดิมอีกต่อไป

 

ซึ่งไม่ต่างจากสัมปทานอื่นๆที่รัฐให้เอกชน เช่นสัมปทานทางด่วน ที่มีหน่วยงานของรัฐคือการทางพิเศษเป็นผู้บริหารด้วย เมื่อครบอายุสัมปทานแล้ว ทางด่วนนั้นตกเป็นของรัฐ การทางพิเศษก็สามารถบริหารทางด่วนนั้นอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยผลประโยชน์ตกเป็นของรัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

แต่กรณีสัมปทานของเอราวัณและบงกช ที่มีมูลค่าปีละประมาณ 2แสนล้านบาท รัฐบาลกลับไม่ให้ตั้ง"บรรษัทพลังงานแห่งชาติ"มาดูแลผลประโยชน์ปิโตรเลียมแบบ"การทางพิเศษ" ที่ดูแลผลประโยชน์จากค่าผ่านทางด่วน แม้มีมูลค่าเพียงประมาณปีละ2หมื่นล้านบาทเท่านั้น

 

การยกสัมปทาน2แปลงนี้ให้เอกชนอีก10ปี เท่ากับยกมูลค่าปิโตรเลียมให้เอกชนไปถึง2ล้านล้านบาท และเมื่อให้สัมปทานเอกชนอีก ก็ต้องให้สัมปทานกันตลอดไป เพราะข้ออ้างว่า หากไม่ต่อสัมปทาน จะกระทบความมั่นคงทางพลังงานช่วงรอยต่อ ที่กำลังการผลิตลดลง เพราะรัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่สามารถรับช่วงงานได้โดยต่อเนื่อง ก็จะมีข้ออ้างนี้เพื่อต่อสัมปทานให้เอกชนต่อไปและต่อไปตลอดชั่วกัลปาวสาน

 

วิญญูชนควรถามว่า การดื้อรั้นใช้อำนาจเผด็จการโดยให้ผ่านการออกกฎหมายของสภา ที่หักดิบไม่ทำตามผลการศึกษาและข้อเสนอเพื่อแก้ไขจุดอ่อนในกฎหมายปิโตรเลียม 2514 ของสนช.เอง และหักดิบข้อเสนอของภาคประชาชน เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้การแก้ไขกฎหมายอำพรางกระบวนการที่จะยกแปลงเอราวัณและบงกชที่มีมูลค่า2ล้านล้านบาทในระบบสัมปทานแบบเดิมให้เอกชนเช่นนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของใคร?

 

และต้องถามว่าที่ทุ่มเททำเพื่อให้สัมปทานแก่เอกชนใน2แปลงนี้ เป็นการทำให้กันแบบฟรีๆ หรือไม่?

รสนา โตสิตระกูล
1ก.ค 2560

เปิดประมูล"เอราวัณ-บงกช"ก.ย.นี้ รัฐส่ง ปตท.สผ.เข้าชิง

http://news1live.com/detail.aspx?NewsID=9600000066976