ชี้แจงข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าร่วมรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง”

ชี้แจงข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าร่วมรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง”

 

 

14 มิถุนายน 2559
เรื่อง ชี้แจงข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าร่วมรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง”
เรียน ประธานกรรมการนโยบาย
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)
อ้างถึง หนังสือ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ถึงประธานกรรมการไทยพีบีเอส ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2559
สืบเนื่องจากรายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ตอน "สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ได้คุ้มเสียจริงหรือ?" ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ออกอากาศเมื่อคืนวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ได้ตัดความเห็นของนักวิชาการที่เป็นผู้ร่วมวิจารณ์เพิ่มเติม (commentator) ออกนั้น
ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจารณ์เพิ่มเติมในรายการที่อ้างว่าเป็นนักวิชาการอิสระนั้น ได้ร้องเรียนมาทางคณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส โดยกล่าวหาข้าพเจ้าซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรหลักว่า ได้ใช้อำนาจสั่งให้ทางสถานีแก้ไขตัดต่อเทปสำหรับออกอากาศ โดยตัดความเห็นของผู้ร่วมวิจารณ์เพิ่มเติมออกไปในทำนองว่าเพื่อทำให้ความเห็นของข้าพเจ้ามีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้น และได้กล่าวหาว่าข้าพเจ้าเดินทางไปที่สถานีเพื่อกำกับการตัดต่อด้วยนั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจงเรื่องราวเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส ดังนี้
ข้าพเจ้าได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของไทยพีบีเอส ขอให้มาร่วมในรายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ตอนดังกล่าวในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2559 โดยให้มาอัดรายการในคืนวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2559 เวลา 20.00 น. และเมื่อถามว่าออกอากาศเมื่อไร ก็ได้รับคำตอบว่าออกอากาศวันเดียวกัน เวลา 22.30 น. ขณะนั้นข้าพเจ้ากำลังติดพันการประชุม จึงไม่ได้ฉุกคิดถามถึงชื่อผู้ร่วมรายการในฐานะผู้วิจารณ์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้แจ้งเพิ่มเติมเช่นกัน ข้าพเจ้าก็เชื่อว่ารูปแบบรายการดังกล่าว จะเชิญผู้วิจารณ์เพิ่มเติมที่มีความเป็นกลางและอิสระอย่างแท้จริง ตามปรัชญาของทางสถานี
ในคืนการอัดรายการดังกล่าวนั้น ข้าพเจ้าได้มาถึงสถานีเวลา 20.00 น. ตามเวลาที่นัดหมาย แต่ ดร.พรายพล มาสายไปจากเวลานัดหมายชั่วโมงครึ่ง ข้าพเจ้าได้พูดว่า คงต้องออกรายการสดแล้วกระมัง จึงเพิ่งได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ตอบกลับในขณะนั้นว่าเทปรายการจะนำไปออกในวันรุ่งขึ้น คือวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ในระหว่างที่รอ ดร.พรายพล พิธีกรกลับไม่ได้มาพบข้าพเจ้าเพื่อหารือล่วงหน้าเรื่องประเด็นที่จะพูด หรือตกลงกันว่าใครจะได้พูดก่อนหลัง ซึ่งผิดวิสัยของพิธีกรมืออาชีพ
ข้าพเจ้าได้พบกับพิธีกรเมื่อเข้าสู่ห้องอัดรายการ ล่วงหน้าก่อนอัดรายการเพียง 5 นาทีเท่านั้น
เมื่อข้าพเจ้าเข้ามาในห้องอัดรายการแล้ว พิธีกรได้สอบถามเจ้าหน้าที่ในรายการว่า ได้เตรียมภาพประกอบการอภิปรายของนายมนูญ ศิริวรรณ แล้วใช่ไหม เจ้าหน้าที่พยักหน้าตอบรับว่า เรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าจึงเพิ่งรู้ว่า เขามีการเตรียมการล่วงหน้า กับนายมนูญ ศิริวรรณ เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นพิธีกรจึงหันกลับมาพูดกับข้าพเจ้าว่า คุณรสนา จะมีภาพประกอบอภิปรายไหม แสดงว่ามีการเตรียมการเพื่อออกอากาศของผู้อภิปรายที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ก่อนอัดรายการนี้
เมื่อเริ่มต้นรายการ พิธีกรแนะนำว่าข้าพเจ้าเป็นตัวแทนของ "เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)" โดยไม่ถามความเห็นชอบจากข้าพเจ้าก่อน ว่ายินยอมให้แนะนำในฐานะผู้พูดอิสระ หรือตัวแทนกลุ่ม ข้าพเจ้าถูกแนะนำว่ามาเป็นตัวแทนในฐานะ คปพ. ฝ่ายหนึ่ง และ มีนายมนูญ ศิริวรรณ เป็นตัวแทนกลุ่มความคิดของ "กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS)" อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีแนวคิดที่แตกต่างกันคนละขั้ว
กรณีสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันในวันนั้นหมายถึงแหล่งปิโตรเลียม 2แหล่งใหญ่ของประเทศคือเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลง และตามกฎหมายไม่สามารถให้สัมปทานเอกชนได้อีกนั้น กลุ่มคปพ.เสนอให้รัฐบาลแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และจ้างผลิต เพื่อจัดการกับแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน ซึ่งระบบใหม่ที่ คปพ. เสนอต้องมีกลไกของการใช้อำนาจมหาชนโดยองค์กรที่เรียกว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติ มาทำหน้าที่ถือกรรมสิทธิ์และบริหารทรัพย์สินที่ได้กลับคืนมาเมื่ออายุสัมปทานหมดลง รวมถึงปิโตรเลียมที่จะผลิตขึ้นได้หรือได้มาในอนาคต
ส่วนกลุ่ม ERS นั้นไม่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ จึงเท่ากับไม่มีองค์กรของรัฐเข้ามาทำหน้าที่ถือกรรมสิทธิ์และบริหารปิโตรเลียม การอ้างว่ามีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมโดยมีระบบแบ่งปันผลผลิตเพิ่มขึ้นมาจึงไม่สามารถจะดำเนินการได้ตามมาตรฐานสากล เพราะต้องฝากเอกชนเป็นผู้ขายปิโตรเลียมแทนรัฐ ส่วนระบบจ้างผลิต ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีองค์กรของรัฐมาบริหารปิโตรเลียม จึงเป็นการใช้วาทกรรมแอบอ้างระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิต เพื่อมาอำพรางระบบสัมปทานเดิมโดยยังคงพึ่งพาการบริหารและขายปิโตรเลียมทั้งหมดโดยเอกชน
ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ได้อ้างตนเองว่าเป็นนักวิชาการอิสระในแวดวงเศรษฐศาสตร์และมีประสบการณ์พลังงานนั้นไม่เป็นความจริง เพราะฐานะของท่านไม่เป็นอิสระเนื่องจากท่านมีชื่อเป็นสมาชิกกลุ่ม ERS ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับผู้พูดหลักคือนายมนูญ ศิริวรรณ และมีประวัติเป็นกรรมการในบริษัทด้านพลังงานอย่างชัดเจน ในอดีต ดร.พรายพล เคยเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือปตท. ส่วนแนวคิดของ ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ที่เคยให้สัมภาษณ์เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของคปพ. อีกทั้งภาควิชาที่ดร.ฐิติศักดิ์ เป็นหัวหน้าภาคก็ยังเกี่ยวพันกับการรับทุนวิจัยจากบริษัทเชฟรอนมาก่อน
ส่วนนายมนูญ ศิริวรรณ ปัจจุบันเป็นกรรมการ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัทเชฟรอน ถือหุ้นใหญ่ นี่ย่อมแสดงให้เห็นประจักษ์ชัดว่า ผู้เข้าร่วมรายการทั้ง 3 คน ยืนอยู่ข้างเดียวกัน มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ทำให้มีคำถามว่าทั้ง 3 ท่านมีความเกี่ยวพันกับผู้รับสัมปทานเดิมในแหล่งเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงด้วย จริงหรือไม่ สภาพการจัดรายการในวันดังกล่าว มีลักษณะ 3 รุม 1 ในเรื่องแนวความคิดการจัดการกับแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ จึงไม่มีความเป็นกลาง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรายการนี้ที่ต้องการเสนอข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้ผู้ชมได้รับรู้ข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย และไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส แต่ประการใด
ดังนั้นการถกเถียงระหว่าง ERS กับ คปพ. หากเลือก ดร.พรายพล ซึ่งเป็น ERS มาเป็นผู้ร่วมวิจารณ์เพิ่มเติม ก็ควรเปลี่ยนตัวนักวิชาการจากดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์มาเป็นนักวิชาการในฝ่ายของ คปพ. แทน จึงจะมีความเป็นธรรม เป็นกลาง และทัดเทียมกัน
ข้าพเจ้าได้ต่อว่าพิธีกรหลังเสร็จรายการ พิธีกรอ้างว่าไม่ใช่เป็นผู้เชิญแขกมาร่วมรายการ และวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ และร้องเรียนว่าหากจะให้การถกเถียงในฐานะตัวแทนกลุ่มความคิดที่เห็นต่างกัน ก็ควรจะมีความเป็นธรรมในการเลือกนักวิชาการที่มาวิจารณ์เพิ่มเติมให้สมดุลและเป็นธรรมกว่านี้
ข้าพเจ้าเสนอให้อัดรายการใหม่โดยเชิญนายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล มาแทน ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ เพราะยังมีเวลาอัดเทปใหม่เหลือเฟือแต่ทราบว่านายมนูญ ศิริวรรณ ไม่ยินยอม ทางสถานีจึงเยียวยาข้อร้องเรียนของข้าพเจ้าด้วยการตัดผู้วิจารณ์เพิ่มเติมออกไป ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห็นด้วย แต่เห็นว่าควรอัดรายการใหม่ จึงจะเป็นแนวทางที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากที่สุด
เมื่อทางสถานีตัดสินใจตัดผู้วิจารณ์ออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้เชิญข้าพเจ้าไปดู ในฐานะผู้เสียหายจากการดำเนินการของสถานี มิใช่เกิดจากการแทรกแซงสื่อของข้าพเจ้า แต่เป็นความพยายามในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในการดำเนินการหลังจากที่ข้าพเจ้าร้องเรียนในกรณีดังกล่าว
คณะกรรมการนโยบายสามารถเรียกเจ้าหน้าที่ที่ทำเทปรายการมาสอบถามข้อเท็จจริงนี้ได้ การกล่าวหาข้าพเจ้าว่าอยู่เบื้องหลังการตัดผู้วิจารณ์ทั้งสองออกจึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น
กลุ่ม ERS มีสมาชิกที่ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมัน นักธุรกิจที่ใกล้ชิดรัฐบาล อีกทั้งนักวิชาการที่รับทุนบริษัทพลังงานต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในสายความคิดสนับสนุนให้รัฐบาลใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมกับ 2 แปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุนี้ต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ทราบว่าข้าพเจ้าเดินทางไปที่สถานี แสดงว่าในสถานีของไทยพีบีเอสมีพนักงานที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับกลุ่ม ERS และผู้บริหารของบริษัทน้ำมัน จึงมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยว่ารายการนี้เป็นรายการแฝงเพื่อประชาสัมพันธ์ความคิดของ ERS หรือไม่?
กล่าวโดยสรุปคือ
1) ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าข้าพเจ้าเป็นผู้เสียหายจากความไม่เป็นกลางในการจัดรายการ มิได้เป็นผู้แทรกแซงการทำงานของไทยพีบีเอส และเจ้าหน้าที่ผลิตรายการ “เถียงกันให้รู้เรื่อง” แต่ประการใด
2) ข้าพเจ้าขอให้สอบสวนพิธีกรรายการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถึงสาเหตุของการทำรายการ
ในลักษณะที่ขาดความสมดุลในการนำเสนอข้อมูลด้านพลังงานดังกล่าว จนเกิดกระแสเอียงข้างไปด้านเดียวดังที่เกิดกับสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับและสื่อทีวีบางช่องที่ออกมาเล่นงานความคิดของคปพ.ด้วยแนวคิดหลักชุดเดียวกัน จนเกิดคำถามว่ามีกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือหรือไม่?
3) ข้าพเจ้ายังเชื่อในความเป็นอิสระและความเป็นกลางของไทยพีบีเอส ปัญหาการเอียงข้าง
ดังกล่าวน่าจะเกิดในระดับผู้ปฏิบัติการ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยสาเหตุอื่น เมื่อมีการสอบสวนแล้ว ได้ผลประการใด ขอให้แจ้งให้สาธารณะได้รับรู้ในโอกาสต่อไป
4) ข้าพเจ้ายินดีไปให้ปากคำเพิ่มเติมและตอบข้อซักถามต่าง ๆ จากคณะทำงานสอบสวนในกรณีดังกล่าว
ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวรสนา โตสิตระกูล)