"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน ยังไม่จบ" (ตอนที่1)

"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน ยังไม่จบ" (ตอนที่1)

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

"มหากาพย์การฟ้องคดีทวงคืนท่อก๊าซ ทรัพย์สินแผ่นดิน ยังไม่จบ" (ตอนที่1)

มหากาพย์ทวงคืนทรัพย์สินแผ่นดินที่มาจากการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.)ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นมหากาพย์แบบหลายเอพิโซดหรือหลายภาคต่อกัน

เอพิโซดที่1 คือการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะได้ฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม2549

การแปรรูปปตท.เป็นบมจ.ปตทในปี2544 รัฐบาลในสมัยนั้นไม่ได้แยกโครงข่ายท่อก๊าซธรรมชาติออกมาก่อนการแปรรูป ทั้งที่เคยมีมติของคณกรรมการพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ให้แยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกมาก่อนการแปรรูป และตั้งเป็นบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติ และให้การปิโตรเลียมถือไว้100%

 รัฐบาลที่แปรรูปปตท.อ้างว่าการแยกท่อก๊าซต้องใช้เวลา จะไม่ทันในการแปรรูปในปี2544 จึงขอแปรรูปไปก่อนและมีมติครม.ว่าภายใน1ปี จะแยกท่อก๊าซออกมาเป็นอิสระ ซึ่งเป็นการแบ่งแยกตามกฎหมาย( legal separation)

 แต่หลังจากนั้นรัฐบาลก็มิได้มีการแยกท่อก๊าซออกจากบมจ.ปตท.ท่อก๊าซทั้งระบบจึงตกเป็นของบมจ.ปตท. ทำให้หุ้นของปตท.หลังแปรรูปมีมูลค่าแบบก้าวกระโดด จนมีการฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท.โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะในปี2549

การแยกท่อก๊าซก่อนแปรรูปและหลังแปรรูปจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของกรรมสิทธิ์ของรัฐ กล่าวคือ การแยกท่อก๊าซก่อนการแปรรูปและให้การปิโตรเลียมฯ(ปตท) ถือไว้100%  รัฐจะเป็นเจ้าของบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติ100% แต่ถ้าแยกท่อก๊าซ1ปีหลังการแปรรูป รัฐจะเป็นเจ้าของท่อก๊าซตามสัดส่วนที่รัฐมีหุ้นอยู่ในบมจ.ปตท.เท่านั้น

ศาลปกครองสูงสุดก็มีคำวินิจฉัยว่าการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) เป็นบริษัทเอกชนทำให้บมจ.ปตท.ไม่เป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป จึงไม่สามารถครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่เป็นทรัพย์สินเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป แต่พระราชกฤษฎีกาการแปรรูป2ฉบับ ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกจากทรัพย์สินของเอกชน และไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการแบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่4 คือบมจ.ปตท.ทำให้บมจ.ปตท.ยังครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดิน และใช้อำนาจมหาชนของรัฐอยู่ต่อไป ซึ่งระบุว่าไม่เป็นธรรมต่อบริษัทเอกชนทั่วไป

ศาลปกครองยังวินิจฉัยว่าแม้กระทรวงการคลังจะถือหุ้นข้างมากในบมจ.ปตท.แต่ก็ไม่ได้ทำให้บมจ.ปตท.กลายมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีก และก็ไม่แน่ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่ในบมจ.ปตท.จนตลอดไปหรือไม่

แม้ศาลปกครองสูงสุดจะเห็นว่าการแปรรูปดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้สั่งเพิกถอนการแปรรูปปตท.ด้วยเหตุผลว่าในระยะ6ปีระหว่างปี 2544-2550 บมจ.ปตท.ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และทรัพย์สินของปตท.ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีมูลค่าถึง8.9แสนล้านบาท หากมีการเพิกถอนการแปรรูปปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ก็จะทำให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ จึงไม่สั่งเพิกถอนการแปรรูปปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์ แต่พิพากษาให้คืนทรัพย์สินของแผ่นดิน

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในวันที่14ธันวาคม2550ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4 ได้แก่คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรงพลังงาน และบมจ.ปตท.ร่วมกันแบ่งแยก
1 ) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
2 ) แยกสิทธิในที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ
3 ) แยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่4(บมจ.ปตท)

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คือจบภาคแรกของมหากาพย์ทวงคืนสมบัติชาติหรือเอพิโซดที่1

มหากาพย์ทวงคืนสมบัติชาติภาคที่2 คือ กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำพิพากษาระหว่าง  18 ธันวาคม 2550 - 26 ธันวาคม 2551

รัฐบาลพล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ออกมติครม.ให้ปฏิบัตตามคำพิพากษาในวันที่18 ธ.ค 2550 หลังมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด4วัน กำหนดให้
1 ) กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงานและบมจ.ปตท.ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา

2 ) มอบหมายให้สำนักตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา

3 ) หากมีข้อโต้แย้งในการตีความเรื่องสาธารณสมบัติ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา

ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาคืนให้รัฐ ปรากฎว่ากลายเป็นกรมธนารักษ์ที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินว่ามีทรัพย์สินใดบ้างที่ต้องคืนให้รัฐ สิ่งที่คืนจึงมีเพียงท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก3โครงการ(ตามที่มีการระบุไว้ในคำพิพากษา) มูลค่า 1.6หมื่นล้านบาท ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน เพราะกรมธนารักษ์อ้างว่า ท้องทะเลไม่ใช่ที่ราชพัศดุที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแล และไม่ได้รอนสิทธิเอกชนรายใดที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ ก็เลยตีความว่าไม่ใช่สาธารณสมบัติที่ต้องคืนตามคำพิพากษา

การใช้หน่วยงานเล็กๆในกระทรวงการคลังมาพิจารณาการแบ่งแยกและรับมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติทั้งหมดที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.)
เคยครอบครองดูแลอยู่ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางกว่าทรัพย์สินส่วนที่กรมธนารักษ์ดูแล  นี้จะเป็นความจงใจหรือไม่? เป็นเรื่องที่รอการตรวจสอบต่อไป

 ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติครม.18ธ.ค 2550 ที่มอบหมายให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ซึ่งสตง.ทักท้วงมาตลอดว่ายังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน แต่ในรายงานที่บมจ.ปตท.ส่งให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดท่านหนึ่งเมื่อวันที่25ธ.ค 2551 อ้างว่ารายงานดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของผู้กี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว ทั้งที่สตง.ยังไม่เห็นชอบด้วย

รายงานของบมจ.ปตท.จะเป็นรายงานที่ถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ ?  และนำมาสู่การรับรองจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดท่านหนึ่งว่ามีการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินถูกต้องแล้ว เป็นสิ่งถูกต้องจริงหรือไม่?

เป็นเรื่องที่รอการพิสูจน์และตรวจสอบในมหากาพย์เรื่องนี้ในภาคต่อๆไป

อ่านต่อมหากาพย์ทวงคืนทรัพ์สินแผ่นดินตอนที่2 ในฉบับหน้า