"วิกฤติประเทศไทยต้องการคนดี คนเก่งคนกล้าอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์"

"วิกฤติประเทศไทยต้องการคนดี คนเก่งคนกล้าอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์"

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

"วิกฤติประเทศไทยต้องการคนดี คนเก่งคนกล้าอย่าง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์"

 

 

ในสังคมไทยคนเก่ง คนดีพอหาได้ แต่คนกล้าหายากนัก ยิ่งจะหาคนที่มีทั้งความเก่ง ความดี ความกล้าอยู่ในตัวบุคคลคนเดียวกันก็แทบจะหาไม่ได้เลย อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นต้นแบบของคนดี คนเก่ง ที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม อย่างเป็นที่ประจักษ์ชัดในหลายเหตุการณ์ของชีวิตท่าน บทความนี้เขียนเพื่อระลึกถึงอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ในวาระครบรอบชาตกาล100ปีในวันที่9มีนาคม2559 ที่ท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปีนี้ ในระหว่างสงคราม โลกครั้งที่2 นายปรีดี พนมยงค์ได้ก่อตั้งขบวนเสรีไทยเพื่อต่อต้านสงครามที่ไม่เป็นธรรม ที่รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ อ.ป๋วยซึ่งในขณะนั้นกำลังทำปริญญาเอกในอังกฤษแต่กล้าอาสาเป็นแนวหน้าทหารเสรีไทยด้วยการโดดร่มเข้ามาในประเทศไทยเพื่อติดต่อกับหัวหน้าเสรีไทย

 

อ.ป๋วยเป็นผู้ที่ยึดมั่นในสันติวิธี จึงตั้งใจว่าหากประจันหน้ากับทหารญี่ปุ่นก็จะยอมตายแต่จะไม่ลั่นกระสุนปืนฆ่าศัตรูเป็นอันขาด ท่านยังพกยาพิษไว้ติดตัว ตั้งใจว่าถ้าจำเป็นก็จะกินยาพิษตาย แต่ไม่ยอมเปิดเผยความลับของเสรีไทยให้กับฝ่ายตรงข้าม เมื่ออ.ป๋วยรับราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.ซึ่งต้องการฝืนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้เงินบาทมีค่าสูงขึ้น (ซึ่งทำให้เงินสำรองร่อยหรอลง) และให้ธนาคารชาติขายเงินปอนด์แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคบางชนิดด้วยราคาถูกกว่าในท้องตลาดมาก การทำเช่นนี้ อ.ป๋วยเห็นว่าเป็นการยั่วให้เกิดการทุจริต เพราะผู้มีความโลภก็จะมาขอซื้อเงินปอนด์โดยอ้างว่าจะเอาไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่กำหนดไว้ แต่ความจริงไม่ได้นำไปซื้อ กลับเอาไปเป็นประโยชน์แก่ตนเอง มีธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งได้กระทำผิดกติกา

 

อ.ป๋วยได้รับมอบหมายให้สอบสวนเรื่องนี้และผลสอบสวนพบว่าธนาคารพาณิชย์แห่งนั้นทำผิดจริง อ.ป๋วยจึงเสนอให้ลงโทษด้วยการปรับเงิน ปรากฎว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขณะนั้นมียศเป็นพลเอก มีความประสงค์จะซื้อธนาคารพาณิชย์ที่ทำความผิดนั้น เป็นแผนการควบคุมธนาคารพาณิชย์ต่างๆของประเทศ จึงมอบหมายให้รมช.กระทรวงการคลังมาเชิญอ.ป๋วยไปรับประทานอาหารเพื่อเกลี่ยกล่อมท่านไม่ให้รายงานเอาผิดธนาคารแห่งนั้น โดยเสนอให้ทำเป็นการตักเตือน แต่เมื่ออ.ป๋วยบอกว่าความผิดของธนาคารนั้นแจ้งชัด และในสัญญาซื้อขายระบุไว้ชัดว่าใครทำผิดจะต้องถูกปรับ และท่านต้องรายงานไปตามเนื้อผ้า แต่ถ้าท่านรัฐมนตรีทั้งหลายอยากจะปราณีไม่เอาผิด ก็เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีจะพิจารณามีมติกันเอง

หลังจากการคุยครั้งแรกไม่สามารถ เกลี่ยกล่อมอ.ป๋วยได้สำเร็จ จอมพลสฤษดิ์ยังขอนัดคุยรอบใหม่ โดยคราวนี้ได้พาพล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์ผู้ทรงอิทธิพลมาร่วมคุยด้วย เพื่อโอ้โลมปฏิโลมให้อ.ป๋วยยอมทำเพียงรายงานตักเตือน แต่ไม่ต้องลงโทษปรับธนาคารพาณิชย์ที่ทำผิดแห่งนั้น อ.ป๋วยเขียนเล่าในบันทึกว่าท่านได้กลับไปคิดและปรึกษาภรรยา ว่าตัวท่านเองก็ยังมีภาระการเงินอยู่เป็นอันมาก ลูกๆก็ยังเล็ก แต่ข้อเสนอของจอมพลสฤษดิ์นั้น อ.ป๋วยเขียนเล่าว่า ท่านก็ทำให้ไม่ได้จะเสียชื่อ ท่านจึงยืนกรานตามเดิมและกล่าวกับทั้งสองว่า " คุณสฤษดิ์และคุณเผ่าก็มีอำนาจอยู่ในคณะรัฐมนตรี ถ้าต้องการให้คณะรัฐมนตรีลงมติอย่างไร ก็คงสำเร็จ ส่วนผมจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีไปตามรูปผ้า"

 

ต่อมาอ.ป๋วยก็ทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรีให้ลงโทษปรับธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นจำนวนหลายล้านบาทตามสัญญาซื้อขายเงินปอนด์เสรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบด้วยกับข้อเสนอของอ.ป๋วย แต่ต่อมาก็มีมติคณะรัฐมนตรีปลดอ.ป๋วยออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากอยู่ในตำแหน่งนี้มาเพียง 7เดือน นับเป็นรองผู้ว่าการระยะสั้นที่สุดคนหนึ่ง ท่านถูกย้ายกลับไปทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง นอกจากนี้อ.ป๋วยยังกล้าเปิดเผยการทุจริตระดับสูงหลายๆเรื่องที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายการเมือง ฝ่ายข้าราชการ และฝ่ายทุนเอกชน ดังตัวอย่างเรื่องการพิมพ์ธนบัตรไทย เรื่องมีอยู่ว่า พล.ต.อ เผ่า ศรียานนท์ซึ่งขณะนั้นเป็นรมช.คลัง นอกจากเป็นรมช.มหาดไทย และอธิบดีตำรวจ ได้คบคิดกับ O.S.S ของอเมริกา (เป็นหน่วยทหารทำงานลับของอเมริกาสมัยสงครามโลกครั้งที่2 ซึ่งต่อมากลายเป็นหน่วงาน C.I.A ) จะให้บริษัทอเมริกันบริษัทหนึ่งมาพิมพ์ธนบัตรไทยแทนบริษัท ทอมัสเดอลารูของอังกฤษ คณะรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งอ.ป๋วย และเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่พิจารณา

 

อ.ป๋วยเล่าว่าท่านพยายามพิจารณาอย่างเที่ยงธรรมที่สุดโดยยึดถือความปลอดภัยของประเทศเป็นใหญ่ อ.ป๋วยได้คัดเลือกบริษัทอเมริกันแห่งที่2 และบริษัทอังกฤษอีกแห่งมาพิจารณาเปรียบเทียบกับบริษัททอมัสเดอลารู รวมเป็น4บริษัท พบว่าบริษัทอเมริกันแห่งที่2 ฝีมือดีแต่ราคาแพง แต่บริษัทอเมริกันที่พล.ต.อ.เผ่านำเข้ามาฝีมือไม่ดี ธนบัตรปลอมแปลงง่าย สืบทราบจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าบริษัทที่วิ่งเต้นนั้น ชื่อเสียงไม่สู้ดีตั้งแต่ระหว่างสงครามโลก ในการพิจารณาเห็นว่าบริษัททอมัสเดอลารูราคาถูกกว่า และเคยพิมพ์ธนบัตรไทยมาหลายสิบปีแล้ว จึงเสนอให้ใช้บริษัทเดิม บริษัทอเมริกันที่วิ่งเต้นพยายามเข้าหา อ.ป๋วยให้เปลี่ยนรายงาน แต่ท่านไม่ยอมจึงถูกบริษัทนั้นด่าว่าต่างๆนานา

 

 อ.ป๋วยให้ความเห็นว่าถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ไว้วางใจเรื่องความปลอดภัยจะใช้บริษัทอเมริกันแห่งที่2 ที่ราคาแพงก็แล้วแต่พิจารณา แต่ถ้าเลือกบริษัทที่วิ่งเต้นท่านจะลาออกจากราชการในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ลงมติตามรายงานของอ.ป๋วย ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้พล.ต.อเผ่าเป็นอย่างมาก หลายปีต่อมา ผู้จัดการบริษัทอเมริกันนั้นก็มารื้อฟื้นการพิมพ์ธนบัตรเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าแบงค์ชาติเป็นคุณโชติ คุณะเกษมในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ อ.ป๋วยบันทึกว่า คุณโชติก็ตกลงกับเขา จนเกิดเรื่องทำให้คุณโชติต้องออกจากตำแหน่งและต้องคดี อ.ป๋วยได้เล่าเรื่องการเสียชื่อเสียงและผลประโยชน์ของประเทศที่เกิดจากการค้าดีบุกเถื่อนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี