"เปลี่ยนทรัพยากรแผ่นดินให้เป็นทรัพย์สินของประชาชน" (ตอน 1)
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
"เปลี่ยนทรัพยากรแผ่นดินให้เป็นทรัพย์สินของประชาชน" (ตอน 1)
นับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1เมื่อปี2504 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้แก่การยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยการ ระดมและใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเพื่อขยายการ ผลิตและเพิ่มพูนรายได้ประชาชาติให้รวดเร็วยิ่งขึ้นหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการเพิ่มปริมาณสิ่งของและให้บริการแก่ประชาชนแต่ละคนให้สูงมากขึ้น มุ่งส่งเสริมการค้าเสรี ขยายการผลิต ส่งเสริมกิจกรรมและการลงทุนของภาคเอกชนโดยรัฐบาลจะดำเนินงานเฉพาะงานพื้นฐาน ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่หลังจากมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯเป็นเวลากว่า 50ปี ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นสภาพ "รวยกระจุก จนกระจาย" เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองคร้ังแล้วครั้งเล่า
ทรัพยากร ธรรมชาติทั้งประเทศถูกระดมใช้เพื่อขยายการผลิต และเพิ่มพูนรายได้ประชาชาติ เมื่อดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภา ได้มีโอกาสรวบรวมตัวเลขของรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบระหว่างปี 2549-2557 โดยเปรียบเทียบสัดส่วนกับรายได้จากภาษีทั้งระบบ ปรากฎว่าตลอด10ปีที่ผ่านมา รายได้จากทรัพยากรในรูปของค่าภาคหลวงที่ได้รับจากสัมปทานที่รัฐให้กับเอกชน ในแต่ละปีมีสัดส่วนเพียง 2.1-3% ของภาษีทั้งระบบรวมกัน พูดให้ง่ายคือ ในภาษี 100บาท จะมีรายได้จากค่าภาคหลวงทรัพยากรธรรมชาติ (ได้แก่ ปิโตรเลียม, แร่ทุกชนิด และทรัพยากรอื่นๆ ) เพียง 2.10-3 บาทเท่านั้นเอง
ยกตัวอย่างในปี2557 ภาษีที่ประมาณการจัดเก็บจากประชาชน 2,100,758.1ล้านบาท จะมีค่าภาคหลวงจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบจำนวน 55,621.9ล้านบาท หรือเท่ากับ 2.6%ของรายได้ของรัฐ ซึ่งนับว่าน้อยมาก ทรัพยากร ธรรมชาติทั้งหมดถูกผ่องถ่ายสร้างความร่ำรวยให้กับคนส่วนน้อยเพียงบางกลุ่มใน สังคม และคนต่างชาติ แต่สร้างความขาดแคลน ยากจนให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ เกิดสภาพ "รวยกระจุก จนกระจาย" แผ่ไปทั่ว
เห็นได้ชัดจากการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ที่สร้างผลกระทบ ต่อสุขภาพ และกระทบพื้นที่ในการทำมาหากินของประชาชน เช่นกรณีตัวอย่างการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตร นอกจากชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรแล้ว ยังต้องรับผลกระทบจากสารไซยาไนด์จนถึงกับ
ต้องอพยพหมู่บ้าน วัดร้าง โรงเรียนร้าง และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มนับพันบาทต่อเดือนทั้งที่มีรายได้ ประจำน้อยนิด ในอนาคตอาจต้องซื้อน้ำอาบด้วย เพราะเด็กเล็กมีอาการแพ้จนผิวหนังผุพองจากน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี ชาวบ้านจังหวัดพิจิตรที่เคยมีชีวิตอยู่สุขสงบ เคยคาดหวังว่าเมื่อพบทอง จะทำให้ชีวิตร่ำรวยขึ้น แต่การณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ชีวิตกลับย่ำแย่ลง มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น จนชาวบ้านพูดว่า "ขอชีวิตเดิมของชุมชนกลับมา ไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้"
ชาวบ้านในจังหวัดตาก ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยมที่มาจากประทานบัตรถลุงแร่สังกะสี รัฐบาลให้ชาวบ้านหยุดเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารเพื่อป้องกันสารแคดเมี่ยมเข้า สู่ห่วงโซ่อาหาร และจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านเพียงไร่ละ420บาท/ปี
เงินรายได้ในรูปของค่าภาคหลวงจากแร่ทุกชนิดในปี2557 นั้นประเมินจำนวนเพียง 1,329ล้านบาทแค่มูลค่าทองชนิดเดียวที่บริษัทต่างชาติได้จากประเทศไทยในแต่ละ ปีก็มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทแล้ว การระดมใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเรา จึงไม่ได้ส่งผลดีต่อคนในพื้นที่ ผลร้ายที่เกิดนอกจากกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังกระทบต่อพื้นที่การทำมาหากิน ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายปัจจัยการผลิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่าถาวร เมื่อพิจารณาแล้วเป็นการดำเนินการที่ได้ไม่คุ้มเสียโดยแท้
รายได้จาก ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นรายได้ก้อนใหญ่สุดในกลุ่มทรัพยากรธรรมชาติ มูลค่าในปี2557 ค่าภาคหลวงจากปิโตรเลียมประมาณการไว้ที่ 54,276.7ล้านบาท จากมูลค่ารวม 55,621.9ล้านบาท เท่ากับเป็น97% ของมูลค่าจากค่าภาคหลวงทรัพยากรธรรมชาติในปีนั้น
ในแต่ละปีมูลค่า ปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากแผ่นดินไทยมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000ล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพยากรต้นน้ำ สามารสร้างมูลค่ากลางน้ำ และปลายน้ำเป็นมูลค่าหลายล้านล้านบาท หากมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดการคอร์รัปชันเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้สามารถนำมาสร้างรายได้เป็นทุนของประเทศและประชาชน แทนภาษีเเละเงินกู้ที่รัฐบาลพึ่งพาอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติสามารถนำมาเป็นสวัสดิการต่างๆให้กับประชาชน ทั้งเป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ด้านการศึกษา รวมทั้งเป็นบำนาญประชาชนในวัยชราได้อีกด้วย
ตัวอย่างที่น่าสนใจของ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศมาเลเซีย ที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อสวัสดิการของชาวมาเลเซีย ที่ประเทศไทยควรเอาแบบอย่าง ประเทศมาเลเซียในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมภายใต้อาณานิคมใช้ระบบสัมปทานแบบเดียวกับประเทศ ไทย แม้หลังจากได้เอกราชในปี2500 แล้ว มาเลเซียก็ยังใช้
ระบบสัมปทานกับ ทรัพยากรปิโตรเลียมมาจนถึงปี2517 หลังเกิดวิกฤติน้ำมันแพงในปี2516 นายกรัฐมนตรีอับดุล ราซะก์ได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมจากระบบสัมปทาน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (Profit Sharing Contract) ...........อ่านต่อฉบับหน้า