"เปลี่ยนทรัพยากรแผ่นดินให้เป็นทรัพย์สินของประชาชน" (ตอน 2)

"เปลี่ยนทรัพยากรแผ่นดินให้เป็นทรัพย์สินของประชาชน" (ตอน 2)

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

                           "เปลี่ยนทรัพยากรแผ่นดินให้เป็นทรัพย์สินของประชาชน"  (ตอน 2)

ดิฉันมีโอกาสพบกับอดีตประธานบริษัทปิโตรนัสเมื่อต้นปี 2557 ได้รับฟังการบรรยายประวัติการก่อตั้งบริษัทปิโตรนัสจากท่านว่า ในปี2517 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้เปลี่ยนระบบโดยไปลอกแบบกฎหมายของอินโดนีเซียมาใช้ แต่ปัจจุบันท่านกล่าวว่าระบบของมาเลเซียพัฒนาไปก้าวหน้ากว่า ในยามเริ่มแรกมีการตั้งบริษัทปิโตรนัสขึ้นมาพร้อมๆกับการนำระบบการแบ่งปันผล ผลิตมาใช้ โดยมอบหมายให้บริษัทปิโตรนัสเป็นผู้ดูแลทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งระบบ บริษัทปิโตรนัสดำเนินการแบบบริษัทมืออาชีพ แต่รัฐเป็นเจ้าของ 100% อดีตประธานปิโตรนัสกล่าวว่า ปิโตรนัสคือองค์กรเพื่อการบริการสาธารณะแห่งชาติ (National Services)

รายได้ของปิโตรนัสในปี 2555 มีมูลค่า 2,910,000ล้านบาท มีกำไร 891,000ล้านบาท ปิโตรนัสส่งรายได้ให้รัฐเป็นจำนวน 40%ของงบประมาณแผ่นดิน ท่านอดีตประธานฯเล่าว่า รัฐบาลจะแบ่งเงินกำไรบางส่วนของปิโตรนัสที่ส่งให้รัฐบาลในแต่ละปี มาเป็นเงินปันผลคืนให้ประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรในรูปของเงินชดเชยราคา น้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าปั๊ม ดังที่เราเห็นว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปของมาเลเซียมีราคาถูกกว่าราคาน้ำมันในประเทศไทย

มีเพื่อนที่เป็นแฟนเพจของดิฉันเล่าให้ฟังว่าในปี2520 ท่านเป็นนายด่านอยูที่จังหวัดเบตง ในช่วงนั้นราคาน้ำมันในประเทศไทยถูกกว่ามาเลเซียครึ่งต่อครึ่ง น้ำมันเบนซินของไทยมีราคา5บาท/ลิตร ในขณะที่มาเลเซียราคาน้ำมัน 10บาท/ลิตร จึงมีปรากฎการณ์ที่คนมาเลย์ขับรถมาเที่ยวไทย จะเติมน้ำมันพอให้ข้ามด่านมา หลังจากเที่ยวเสร็จ ก่อนกลับจะเติมน้ำมันเต็มถัง พร้อมแกลลอนท้ายรถอีก2-3แกลลอนเติมน้ำมันเอากลับไปมาเลเซีย ในปี 2520 ประเทศไทยเพิ่งจะมีการให้สัมปทาน ยังไม่ได้มีการผลิตอย่างเป็นมรรคเป็นผล ส่วนมาเลเซียก็เพิ่งเปลี่ยนระบบมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ยังไม่มีรายได้มาอุดหนุนราคาน้ำมันให้ประชาชนอย่างเป็นมรรคเป็นผลเช่นกัน ทั้งไทยและมาเลเซียล้วนแต่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบเหมือนๆกัน แต่กระนั้นราคาน้ำมันขายปลีกของไทยกลับถูกกว่าน้ำมันของมาเลเซียถึงเท่าตัว

แต่เมื่อประเทศไทยและมาเลเซียต่างพบปิโตรเลียมของตนเอง การพัฒนาที่แตกต่างกัน ทำให้ราคาของน้ำมันทั้ง2ประเทศมีราคาที่ทิ้งห่างกันออกไปทุกที ดังจะเห็นได้ว่าในปี2544 ก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทเอกชนมหาชน ราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลระหว่างไทยกับมาเลเซียเริ่มมีราคาใกล้เคียงกัน เบนซิน95 ของไทยราคา 15.99บาท/ลิตร ส่วนมาเลเซียมีราคา 15.17บาท/ลิตร ราคาน้ำมันขายปลีกระหว่างไทยกับมาเลเซียต่างกันเพียง 5.41%

ในเดือน มีนาคม2558 มาเลเซียตั้งราคาน้ำมันเบนซิน95 และดีเซลให้มีราคาเท่ากัน คือ 19.50บาท/ลิตร ส่วนราคาเบนซิน95ของไทย(15เมษายน 2558) มีราคา 33.46บาท/ลิตร ราคาขายปลีกของ2ประเทศต่างกันถึง 71.59% ทั้งที่ราคาน้ำมันของมาเลเซียในปัจจุบันเป็นไปตามกลไกตลาดที่รัฐบาลไม่ได้นำ กำไรของปิโตรนัสมาอุดหนุนแล้วตั้งแต่ปลายปี2557

เดี๋ยวนี้ขนาด รัฐบาลมาเลเซียเลิกชดเชยราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มแล้ว แต่ราคาน้ำมันก็ยังถูกกว่าไทยมาก ดังมีข่าวเมื่อเร็วๆนี้ว่ามีขบวนการขนน้ำมันเถื่อนจากมาเลย์มาขายในฝั่งไทย ขนาดจ่ายค่าผ่านด่านนับสิบด่านแถมจ่ายค่านายหน้าต่างหากให้อีกลิตรละ2บาท ก็ยังได้กำไร

เมื่อเปรียบเทียบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมต้น น้ำระหว่าง2ประเทศ จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งปิโตรเลียมและทรัพยากร อื่นๆของไทยสร้างความร่ำรวยให้กับเอกชนบางส่วน ในขณะที่ทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของมาเลเซีย รัฐบริหารจัดการเพื่อนำผลกำไรกลับมาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมือง และเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย (โดยที่รัฐบาลมาเลเซียไม่เคยมีนโยบายล้วงกระเป๋าผู้ใช้น้ำมันไปใส่กองทุน น้ำมัน)ข้าราชการไทยและกลุ่มทุนมักอ้างว่า ประเทศไทยมีการทุจริต คอร์รัปชันสูง รัฐวิสาหกิจควรถูกแปรรูปเพื่อป้องกันนักการเมืองเข้ามาล้วงลูก และควรแปรรูปเพราะบริษัทเอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ

ต่อให้ เอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐดังที่อ้าง แต่เอกชนก็ไม่มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ และกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำควรถูกบริหารจัดการโดยองค์กรที่เป็นของรัฐ 100% เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนดังตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของเรา

สิ่งที่ควรตั้งความมุ่งหมายในยุคการปฏิรูปเพื่อการเปลี่ยนแปลงคือการปฏิรูประบบ ราชการและรัฐวิสาหกิจให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน และผลประโยชน์ทับซ้อน การเสริมสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในระบบราชการเพื่อประโยชน์ของประเทศและ ประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งประสิทธิภาพของระบบราชการต่างจากบริษัทเอกชนที่คือการแสวงหากำไรสูงสุด เพื่อผู้ถือหุ้น แต่ประสิทธิภาพของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจคือการให้บริการสาธารณะอย่างทั่ว ถึง รวดเร็ว ปลอดภัย อย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลด้วยราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน

พระบรมราโชวาทของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่สำนักตรวจเงินแผ่นดินว่า " เงินของแผ่นดิน คือเงินของประชาชนทั้งชาติ" ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติคือ ทรัพย์สินของประชาชนทั้งชาติ ที่รัฐควรบริหารจัดการให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และประชาชน