"หยุด!!ร่างกฎมายปิโตรเลียมฉบับตบตา มัดมือชกประชาชน"
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
"หยุด!!ร่างกฎมายปิโตรเลียมฉบับตบตา มัดมือชกประชาชน" ร่างแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียม2ฉบับที่ผ่านวาระรับหลักการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2559 คือร่างกฎหมายจัดการสมบัติชาติมูลค่าปีละ 5แสนล้านบาท ที่ร่างกฎหมายนี้ยึดหลักการเดิมในการ "ยกกรรมสิทธิ์"ทรัพยากรปิโตรเลียมให้เอกชนใน"ระบบสัมปทาน"เหมือนเดิม
แม้มีการเขียนว่าเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิตเข้ามาในร่างแก้ไขฉบับนี้ แต่ก็เป็นการเขียนตบตาประชาชน เพราะจะเป็นระบบที่ปฏิบัติไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ การเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต ก็เป็น"ระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลอ" เพราะแท้จริงแล้วเนื้อในคือ "สัมปทานจำแลง" มานั่นเอง
การหวังว่าจะมีสนช.บางท่านที่จะช่วยแปรญัตติให้นั้น ต้องบอกว่าแก้ไขสาระสำคัญในร่างนี้ไม่ได้เพราะว่าร่างกฎหมาย2ฉบับนี้ เป็นเพียงร่างแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ไม่ใช่กฎหมายที่ร่างใหม่ทั้งฉบับ สิ่งที่แปรญัตติได้คือแปรญัตติได้เฉพาะมาตราที่กระทรวงพลังงานแก้ไขมาเท่านั้น พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 บัญญัติไว้ในกรณีที่รัฐจะเพิกถอนสัมปทานต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการซึ่งคือระบบที่รัฐต้องเสียค่าโง่ให้เอกชนมาตลอด มาตรานี้เป็นเนื้อหาเดิม ที่กระทรวงพลังงานไม่ได้แก้ไข สนช.อย่างอาจารย์มณเทียร บุญตันแม้อภิปรายไว้ และอยากช่วยแปรญัตติ ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้
ในสมัยรัฐบาลท่านนายกฯอภิสิทธิ์เคยมีคำสั่งว่าสัญญาใดที่จะใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ต้องนำมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อน จึงมีการพิจาณาการทำสัญญาปิโตรเลียมรอบที่20ที่ยังค้างอยู่บางสัญญา อัยการให้ความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จะไม่ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม เพราะในกฎหมายหลักเขียนผูกมัดไว้ หากจะแก้ ต้องไปแก้ที่พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 อัยการทำความเห็นเสนอต่อรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ว่า ตามหลักสากลแล้ว สัญญาทางปกครองไม่ควรใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ รัฐต้องมีอำนาจเหนือกว่าเอกชนเพื่อคุ้มครองประชาชน และทรัพยากรของแผ่นดิน
อาจมีบางคนออกมาโต้แย้งว่า ประเทศไทยก็ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการในแหล่งพัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย ในกรณีที่อ้างนั้น เหตุที่ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ เพราะเป็นการทำสัญญาระหว่างรัฐต่อรัฐ จึงสมควรใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ สนช.ตกอยู่ภายใต้สายพานการผลิตกฎหมาย ที่จะไปสู่จุดสุดท้ายที่ผู้ออกแบบต้องการ และอาศัยกลไกออกกฎหมายมารับรองความชอบธรรมในการยึดครองกรรมสิทธิ์ทรัพยากรของแผ่นดินไทยต่อไปอีก 39 ปี ทรัพยากรปิโตรเลียมคือเนื้อล้วนๆ เมื่อออกกฎหมายยึดครองได้เสียแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือให้ปฏิรูปอะไรอีก เพราะที่เหลือก็เป็นเพียงน้ำจิ้ม สิ่งที่เป็นภารกิจของประชาชน คือต้องเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายปิโตรเลียม2ฉบับนี้ออกจากสภาสนช.โดยเร็ว !!!
รสนา โตสิตระกูล 26 มิถุนายน2559