ไม่ตั้ง NOC เป็นการปิดทางการสร้างความมั่นคงของชาติ ใช่หรือไม่??? เพื่อประโยชน์ของใคร???
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
ไม่ตั้ง NOC เป็นการปิดทางการสร้างความมั่นคงของชาติ ใช่หรือไม่??? เพื่อประโยชน์ของใคร???
หลังจากสนช.ล้มมวยตัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ(NOC) ออกจากร่างพ.ร.บ ปิโตรเลียมตามความต้องการของกลุ่มทุนแล้ว ก็ทำทีแข็งขันว่าต้องพิจารณาเรื่องNOC ภายใน1ปี แต่หลังจากได้ตัดบรรษัทพลังงานแห่งชาติสมประสงค์แล้ว มาคอยดูกันว่าใช้เหตุผลอะไรมาอ้างที่จะไม่พิจารณาเรื่องบรรษัทฯตามที่พูดไว้ในสภา
ขณะนี้เริ่มใช้สื่อมาช่วยโหมกระแสว่าไม่ต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติแล้วก็ได้ ถ้ามีบรรษัทฯจะกลายเป็นการทำตามพวกเอ็นจีโอ!!
บทความมล.กร ให้ข้อมูลได้ดี จึงขอแชร์มาเตือนความทรงจำสนช.ที่เคยสัญญาไว้ ขอให้ทำตามที่สัญญาที่เคยพูดในสภาด้วย
แม้บทความจะยาวสักนิด แต่ขอให้อ่านเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของลูกหลานไทย
การไม่ตั้ง NOC เป็นการปิดทางการสร้างความมั่นคงของชาติ ใช่หรือไม่??? เพื่อประโยชน์ของใคร???
คำชี้แจงต่อประเด็นที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มีเนื้อหาว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องตั้ง NOC (บรรษัทพลังงานแห่งชาติ) เพราะไม่มีความจำเป็นเนื่องจากซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ กรมกองของรัฐทำหน้าเป็นผู้กำกับดูแล มีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งทำหน้าที่ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และกลั่นน้ำมันและขายปลีก ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและอาจเกิดความเสียหายต่อคนทั้งชาติจากการมิได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม อีกทั้งกระทบต่อความมั่นคงของชาติเป็นอย่างมาก
ในความเป็นจริงแล้ว บรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ NOC เป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเป็นต่อระบบแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม จึงได้มีการจัดตั้งขึ้นในทุกประเทศของอาเซียนแล้วยกเว้นประเทศไทย (ส่วนประเทศสิงคโปร์ไม่มีการจัดตั้งขึ้นเนื่องจากไม่มีปิโตรเลียมใต้ดิน)
NOC เป็นเครื่องมือของรัฐอันสำคัญที่จะทำหน้าที่รับส่วนแบ่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติส่วนของรัฐที่ได้รับมาจากการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคู่สัญญาเอกชน NOC จะนำปิโตรเลียมไปจัดการเพื่อความมั่นคงของชาติ ได้แก่ การเก็บสำรองปิโตรเลียมด้วยการตั้งคลังน้ำมันสำรองแห่งชาติ (ภาระหน้าที่ดังกล่าวไม่เคยมีหน่วยราชการไทยเคยทำมาก่อน) ทั้งนี้ เนื่องจากตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยได้รับส่วนแบ่งปิโตรเลียมจากการให้สัมปทานเลย ดังนั้น เพื่อรักษาประโยชน์ของชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดตั้ง NOC เพื่อรองรับระบบแบ่งปันผลผลิตที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยตามแนวทางของอาเซียน และภารกิจดังกล่าวก็ไม่อาจมอบให้รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วทำหน้าที่ได้ เนื่องจากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติจำนวนมาก จึงไม่อาจนำปิโตรเลียมซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินมาลงบัญชีของตน
ดังนั้น หากรัฐไม่ตั้ง NOC จึงเท่ากับปิดหนทางการตั้งคลังพลังงานสำรองแห่งชาติจากปิโตรเลียมที่รัฐได้รับส่วนแบ่งมา ประเทศจึงหมดหนทางสร้างเพื่อความมั่นคงที่แท้จริง แต่กลับต้องยกให้เอกชนเอาไปขาย ใช่ หรือไม่ อีกทั้ง การไม่มี NOC ยังเป็นหนทางสร้างกำไรของกลุ่มทุนพลังงานในการเป็นนายหน้าในการขายปิโตรเลียมของชาติอีกด้วย ใช่ หรือไม่???
นอกจากนี้ NOC ยังต้องทำหน้าที่นำส่งรายได้รัฐ ด้วยการเปิดประมูลขายน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติของชาติส่วนที่เหลือเกินกว่าปริมาณที่รัฐต้องการกันสำรองไว้ ซึ่งการเปิดประมูลขายน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติมิใช่ภาระหน้าที่ที่หน่วยราชการเคยปฏิบัติมาก่อน อีกทั้งยังขัดหลักธรรมาภิบาลหากหน่วยราชที่มีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจนับ ตรวจสอบปริมาณและราคาปิโตรเลียมของแผ่นดิน จะมาทำหน้าที่เก็บสำรองและขายปิโตรเลียมของชาติเสียเองซึ่งก็จะผิดหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพราะจะทำให้หน่วยราชการต้องสวมหมวก 2 ใบในฐานะ Regulator (ผู้กำกับดูแล) และหน้าที่ Operator ในการขายน้ำมันดิบอีกด้วย อีกทั้ง ยังไม่มีหน่วยงานภายนอกตรวจสอบหน่วยราชการในเรื่องดังกล่าว
NOC ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญยิ่ง คือ การรับโอนทรัพย์สินจากสัมปทานที่หมดอายุมาเป็นสมบัติของชาติเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน การที่จะให้รัฐวิสาหกิจที่แปรรูปไปแล้วมารับงานส่วนนี้ก็ไม่ควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเอาทรัพย์สมบัติของชาติมาอยู่ภายใต้บริษัทที่มีต่างชาติร่วมหุ้นอยู่จึงเป็นการไม่เป็นธรรมกับเอกชนรายอื่น ทำลายบรรยากาศการแข่งขันเสรี ส่วนหน่วยราชการก็ไม่อาจทำหน้าที่นี้ได้เพราะไม่มีความคล่องตัว และขาดความรู้ประสบการณ์ในเรื่องนี้
ปัจจุบันประเทศไทยพร้อมแล้วทั้งด้านบุคคลากรและเงินทุน ตามแนวทางเดียวกับประเทศในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จ เช่น ปิโตรนาสมาเลเซีย ที่บุคลากรส่วนใหญ่ของ NOC จะเป็นคนมาเลเซียที่มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศนั้นเอง ปัจจุบันปิโตรเลียมโลกอยู่ในช่วงขาลงจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยเพราะบนแท่นขุดเจาะทั้งบนบกและในอ่าวไทยมีพนักงานคนไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมที่เข้ามาสวมเสื้อทีมชาติเพียงแต่รอรัฐเปิดโอกาสเท่านั้น ส่วนเงินทุนนั้นก็จะมาจากทรัพยากรใต้แผ่นดินไทยเอง เพราะเพียงแค่แหล่งบงกชและเอราวัณ ก็ผลิตปิโตรเลียมได้ 2 แสนล้านบาทต่อปี มีลูกค้าในประเทศที่แน่นอนคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและประชาชนไทยทั้ง 60 ล้านคน จึงเท่ากับเป็นการประกันรายได้ให้แก่ NOC จึงไม่เป็นภาระของกระทรวงการคลัง แต่ในตรงกันข้ามกลับจะเป็นแหล่งรายได้อันสำคัญของแผ่นดิน
NOC จึงเป็นเหมือนจิ๊กซอที่หายไป แม้ไทยมีทรัพยากรปิโตรเลียมแต่ก็ไม่อาจสร้างความมั่นคงได้แท้จริง เนื่องจากขาดหน่วยงานที่จะรับส่วนแบ่งปิโตรเลียมและรับอุปกรณ์การผลิตปิโตรเลียมจากสัมปทานที่หมดอายุลง การไม่ตั้ง NOC จึงหมิ่นเหม่ต่อความเสียหายของชาติ การไม่มี NOC จึงเท่ากับเป็นการเปลี่ยนความมั่นคงของชาติให้เป็นผลกำไรของเอกชนกลุ่มเล็กๆ ไม่กี่กลุ่ม ใช่ หรือไม่???
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1752154821478939&id=605419889485777