ชป.เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างฯคลองใหญ่ หวังให้เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนหลักเมืองพัทลุง

ชป.เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างฯคลองใหญ่ หวังให้เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนหลักเมืองพัทลุง

 

 

 

 

ชป.เร่งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างฯคลองใหญ่ หวังให้เป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนหลักเมืองพัทลุง

 

 

กรมชลประทาน เร่งดำเนินการโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำต้นทุนสำคัญและช่วยบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หวังยกคุณภาพชีวิตราษฎรให้ดีขึ้น


นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำนาท่อม จังหวัดพัทลุง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชที่เพาะปลูก ได้แก่ ข้าวและยางพารา ซึ่งมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรเกือบทุกปี


กรมชลประทาน จึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาบรรทัด ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม(โซน C) มากกว่า 500 ไร่ และมีพื้นที่อ่างเก็บน้ำบางส่วนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54 โดยขั้นตอนการศึกษาจะดำเนินตามแนวทางขอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การศึกษาความเหมาะสมโครงการ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ชีวภาพ การใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิต รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และมีส่วนร่วมของประชาชน

 


สำหรบพื้นที่ก่อสร้าง "อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่" ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ส่วนพื้นที่ชลประทานอยู่ในเขตอำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอเมืองพัทลุง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาศึกษา 360 วัน เริ่มตั้งแต่ 18 เมษายน 2562 จนถึง 11 เมษายน 2563 ขณะนี้ได้ทำการตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการและอยู่ระหว่างขออนุญาตเข้าสำรวจในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ


“การพัฒนาโครงการฯ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากแล้ว ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่มีปริมาณน้ำมั่นคง ลดความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร อีกทั้ง ยังจะช่วยยกฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯและบริเวณใกล้เคียงให้สูงขึ้น จากผลิตผลทางเกษตรที่จะได้ผลและมีคุณภาพที่ดีขึ้น” รองอธิบดี กล่าวในตอนท้าย