ปกป้อง ”ตือโละปาตานี” จากถ่านหิน

ปกป้อง ”ตือโละปาตานี” จากถ่านหิน

 

 

 

 

ปกป้อง ”ตือโละปาตานี” จากถ่านหิน

 

 

กรุงเทพฯ, 14 กันยายน 2560 - เครือข่ายตือโละปาตานี เครือข่ายปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงข้อกังวลถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ว่าได้มองข้ามความสำคัญของพื้นที่ที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์อย่าง “ตือโละปาตานี” ที่ได้หล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนมายาวนาน รวมทั้งมีวิถีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของจังหวัดสงขลาและปัตตานี


เครือข่ายฯได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2,200 เมกะวัตต์ ระหว่างการเสวนาในเวทีสาธารณะเรื่อง “พลังงาน สิ่งแวดล้อมและสันติภาพ : พูดความจริงกับอำนาจ” พร้อมนำเสนอแผนที่ “ตือโละปาตานี”[1] ซึ่งรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณรอบอ่าวปัตตานี ตั้งแต่อำเภอเทพาถึงแหลมตาชี ซึ่งมีความกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น


อาจารย์ดิเรก เหมนคร เครือข่ายตือโละปาตานี กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ในอำเภอเทพาว่า “เมืองเทพาเป็นเมืองปากน้ำชายทะเล ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีความสำคัญมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดระบบนิเวศ ป่า เขา นา ทะเล ที่สัมพันธ์กันอย่างมหัศจรรย์และดำรงอยู่ จนถึงปัจจุบัน เทพาไม่ใช่เมืองโดดเดี่ยว อย่างที่คนบางกลุ่มพยายามให้ความหมาย แต่เป็นพื้นที่ใจกลางที่รายล้อมไปด้วยเมืองน้อยใหญ่ทั้งหาดใหญ่ สงขลา จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย โคกโพธิ์ ยะลา ยะรัง หนองจิก ปัตตานี


หากเมืองเทพาเสียหาย เมืองต่างๆ ที่อยู่รายรอบอาจมีผลกระทบร้ายแรงไปด้วย ทะเลเทพาอันเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวปัตตานี ที่เรียกกันว่า “ตือโละปาตานี” คือท้องทะเลที่เต็มไปด้วยเรือน้อยใหญ่นับพัน ชาวประมงนับหมื่นและชุมชนนับร้อยที่อาศัยอยู่ทำมาหากิน ถือเป็นแหล่งวัฒนธรรม ที่น่าศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่งของสังคมไทย และเราจะไม่ยอมให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มาทำลายแหล่งอาหารที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ”


รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment-EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาระบุว่า จะมีการขนส่งถ่านหินจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้มากกว่า 21,000 ตันต่อวันหรือกว่า 8 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าโดยจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 12 ล้านตันต่อปี และเกิดเถ้าลอย (fly ash) ที่ปนเปื้อนโลหะหนักเป็นพิษ เช่น ปรอท ตะกั่วและสารหนูมากกว่า 1,200 ตันต่อวัน [2]

 

ผลการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยใช้แบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model- GEOS-Chem) ได้ประมาณการณ์ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ที่เกิดจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 4,420 ราย ในช่วงอายุการใช้งานโรงไฟฟ้าถ่านหิน 40 ปี การที่ PM2.5 เป็นมลพิษข้ามพรมแดน ดังนั้นจะกระจายตัวครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปัตตานี พัทลุง ตรัง สตูล ยะลา รวมถึงตอนเหนือของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และตอนเหนือของมาเลเซีย [3]

 

ขณะนี้ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาอยู่ในขั้นตอน การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อนำเสนออนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี หลังจากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) ท่ามกลางการคัดค้านจากชุมชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ

 

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราได้เห็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนโยบายพลังงาน

เอาชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นเดิมพันเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน และจะเป็นการตัดสินใจที่ปิดโอกาสในการสร้างความเป็นธรรมในการจัดการพลังงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง สังคมไทยไม่มีที่ว่างให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายใต้ความตกลงปารีสที่รัฐบาลไทยให้การรับรอง เราต้องก้าวสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนซึ่งรับประกันถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่เป็นธรรม”

 

ในเวทีสาธารณะเรื่อง “พลังงาน สิ่งแวดล้อมและสันติภาพ : พูดความจริงกับอำนาจ” ยังได้เสนอให้ยุติแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมดในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้การเตรียมทบทวนแผน PDP2015 โดยกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)[4] ต้องอยู่บนกรอบการวางแผนภาคการผลิตไฟฟ้าที่ปลอดภัย สะอาดและยั่งยืนโดยสาธารณะชนสามารถตรวจสอบได้

 

รศ. ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “สังคมไทยสามารถหยุดการพึ่งพาถ่านหินและหันกลับมายืนบนลำแข้งตนเองได้ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านพลังงานและวางแผนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานของประเทศต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน มิใช่ปล่อยให้อยู่ในกำมือของกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนและอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเพียงฝ่ายเดียว หลังหมดยุคถ่านหินแล้ว ระบบการผลิตไฟฟ้าและโครงข่ายพลังงานของประเทศไทย มีทั้งโอกาสและความท้าทายที่รออยู่ เราจะต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้งและสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงให้เป็นเป้าหมายแห่งอนาคต”

 

 

หมายเหตุ

[1] พื้นที่ตือโละปาตานี เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันมายาวนาน ทั้งทางทะเลและทางบก ครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศบนพื้นที่กว่า 30,000ไร่ ซึ่งเป็นป่าชายเลนราว 23,125ไร่ อันเป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำและ ระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน ดาวโหลดแผนที่ “ตือโละปาตานี” ได้ที่ www.greenpeace.or.th/climate/Tueloe-Patani-Map-and-Air-pollution-chart.pdf

[2] www.egat.co.th/images/information/articles/2558/egat-hearing58-tepha-k3-plant-report.pdf

[3] www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/710503/FA-Coal-Power-Plant-Report-TH-Map-final.pdf

[4] www.energy.go.th/international/index.php?action_content=article-single&id=19

 

 

 

 

 


ข่อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร:+66 81 692 8978
สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร: +66 81 929 5747