“บ้านเมืองถูกบริหารด้วยข้าราชการและนักการเมืองที่มีอำนาจแต่ไร้ทิศทางเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ใช่หรือไม่”

“บ้านเมืองถูกบริหารด้วยข้าราชการและนักการเมืองที่มีอำนาจแต่ไร้ทิศทางเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ใช่หรือไม่”

 

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 


“บ้านเมืองถูกบริหารด้วยข้าราชการและนักการเมืองที่มีอำนาจแต่ไร้ทิศทางเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ใช่หรือไม่”

 


เมื่อวานนี้ (11 ม.ค 2562) การพบปะ พูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับภาคประชาสังคม เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมด ยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐมนตรีขอขยายเวลาหารือไปอีก1สัปดาห์


การถกเถียงเมื่อวานนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของหน่วยราชการที่ทำให้เกิดข้อห่วงใยขึ้นว่าประเทศเราถูกบริหารโดยข้าราชการ และนักการเมืองที่มีอำนาจ แต่ใช้อำนาจโดยขัดต่อกฎหมาย และขาดจุดมุ่งหมายและทิศทางเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่?


การถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายในการรับจดสิทธิบัตรกัญชาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้ได้รับทราบข้อมูลและทัศนคติของข้าราชการระดับผู้บริหารกรมทรัพย์สินฯว่า


1)ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรับจดสิทธิบัตร ยังขาดความเข้าใจในกฎหมายของตนเอง และไม่เข้มงวดในกฎหมายที่ตนเองใช้ กลับไปอ้างแนวปฏิบัติของต่างประเทศ อีกทั้งมีการกำหนดแนวปฏิบัติในการรับคำขอจดสิทธิบัตรโดยอ้างตามอย่างประเทศอื่น แบบเลือกปฏิบัติ อย่างคลุมเครือทั้งที่อาจจะขัดแย้งและไม่เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทยซึ่งมีความชัดเจนอยู่แล้ว หากไม่มีการตรวจสอบ ก็จะคลาดเคลื่อนเรื่อยไป ติดกระดุมผิดเม็ดเรื่อยไป และก่อความเสียหายแก่ประเทศ ดังกรณีเรื่องสิทธิบัตรกัญชา


ยกตัวอย่างข้อถกเถียงเรื่องมาตรา9(5) ในกฎหมายสิทธิบัตร ที่บัญญัติว่าการจดสิทธิบัตรต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีฯ ซึ่งกัญชาเข้าข่ายห้ามจดสิทธิบัตรเพราะยังอยู่ในกฎหมายยาเสพติด


พรบ.สิทธิบัตร ฉบับแก้ไข พ.ศ 2542 มาตรา 9 การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ
(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช
(2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
(3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์
(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์
(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน


แต่เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับตีความมาตรา9(5) ว่าต้องมองแบบสากลตามข้อตกลงทริป์ (TRIPs : ความตกลงเรื่องการค้าที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ทางปัญญาขององค์การการค้าโลก) โดยอ้างเรื่องประโยชน์เชิงพาณิชย์ตามแนวปฏิบัติของหลายประเทศที่ยอมรับให้จดสิทธิบัตรประดิษฐกรรมที่มีสารเสพติดได้ จึงมีการตั้งคำถามในที่ประชุมว่าถ้ามีเฮโรอินเป็นส่วนผสมจะรับจดสิทธิบัตรไหม ปรากฎว่าข้าราชการระดับผู้บริหารของกรมฯถึงกับตอบว่าแม้แต่เฮโรอิน ถ้าเป็นประดิษฐกรรมที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ก็สามารถรับจดสิทธิบัตรได้ !!!


กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรปฏิบัติตามกฎหมายตนเองอย่างเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายของเราไม่ขัดต่อข้อตกลงทริปส์แต่อย่างใด ดังนั้นตามมาตรา9(5) กัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดประเภทที่5 ที่กฎหมายปัจจุบันยังจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ใช้ได้แม้แต่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อย่าว่าแต่เรื่องประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายปลดล็อคกัญชาจากประเภทที่5 มาเป็นประเภทที่3 ก็เพียงเพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น ยังไม่ได้รวมไปถึงการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แต่อย่างใด


2)ข้ออ้างเรื่องการสามารถรับจดสิทธิบัตรยาเสพติดถ้าเป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้น นอกจากเป็นการตีความเอาเองแล้ว ยังเป็นกรณีที่เปิดทางให้กับเอกชนต่างชาติเท่านั้น ใช่หรือไม่ เพราะแนวปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศเป็นการทั่วไป คนไทยก็ไม่สามารถมาขอจดสิทธิบัตรกัญชาได้ ดังกรณีที่คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิตได้โทรศัพท์สอบถามกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้รับคำตอบว่าจดสิทธิบัตรกัญชาไม่ได้เพราะติดมาตรา 9(5) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นการทั่วไป เป็นแนวปฏิบัติที่ลักลั่น เอื้อประโยชน์เอกชนต่างชาติ แต่กระทบสิทธิประชาชนไทย ใช่หรือไม่


3)นอกจากนี้การรับจดสิทธิบัตรสิ่งที่เป็น ‘สารสกัดจากพืช’ โดยอ้างข้อตกลงทริปส์ และแนวการปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งที่กฎหมายสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินฯเองก็ไม่ได้ยอมรับการจดสารสกัดจากพืช ตามมาตรา9(1) ซึ่งข้อตกลงทริปส์ยอมรับตามกฎหมายไทยว่าเขียนไว้อย่างไรก็เป็นไปตามนั้น


ดังนั้นมาตรา9(5), 9(1) จึงไม่ได้ขัดข้อตกลงทริปส์แต่อย่างใด แต่การที่ข้าราชการไทยปฏิบัติขัดต่อกฎหมายของตนเองโดยไปอ้างแนวปฏิบัติของต่างประเทศ ทั้งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายไทยนั้น เป็นเพราะขาดความเข้าใจในข้อกฎหมายของตน หรือว่าทำไปเพื่อประโยชน์ของใคร!?


ประเด็นที่ภาคประชาสังคมโต้แย้งกับข้าราชการของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวานนี้ อย่างน้อยได้รับการยอมรับจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ และรับว่าจะมีการนำไปปรับปรุงแก้ไขในแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป คือ


3.1 เห็นว่าจำเป็นต้องยกเลิกคู่มือแนวปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้แนวปฏิบัติของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งเปิดให้มีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช


3.2 ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลสาระสำคัญของคำขอสิทธิบัตรที่ผ่านกระบวนการประกาศโฆษณาแล้วผ่านเว็บไซท์ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเปิดเผยโปร่งใส


3.3 แก้ไขกฎระเบียบและกฎหมายสิทธิบัตรให้แสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นเดียวกับ กฎหมายสิทธิบัตรของจีน หรือ อินเดีย เป็นต้น


ส่วนการเซทซีโรคำขอจดสิทธิบัตรของต่างชาติทั้งหมดนั้น รัฐมนตรียังขอต่อเวลาไปอีก 1 สัปดาห์ ว่าจะเพิกถอนหรือไม่อย่างไร

นี่เป็นเพียงกรณีของหน่วยราชการหน่วยหนึ่งที่จากข้อถกเถียงทำให้เห็นว่า การบริหารงานของข้าราชการยังมีจุดอ่อนที่ขาดเป้าหมายและทิศทางชัดเจนในการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับประเทศ และประชาชนจากการใช้โอกาสที่เหนือกว่าของต่างชาติมาแสวงหาประโยชน์ผ่านช่องทางสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ และปรับปรุงแนวปฏิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และต้องปรับปรุงทัศนคติของข้าราชการให้เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ และประชาชนคนไทยเป็นลำดับแรก


การเสนอของภาคประชาสังคม ให้เซตซีโรเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรเรื่องกัญชาทั้งหมด เพื่อแก้ไขความผิดพลาดจากการกลัดกระดุมผิดเม็ดของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเสียใหม่ให้ถูกต้องนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่ายดาย ด้วยมาตรา30 แห่งพรบ.สิทธิบัตร 2542 ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมทรัพย์สินฯสามารถยกเลิกคำขอสิทธิบัตรที่ขัดมาตรา9และมาตราอื่นๆตามที่บัญญัติไว้ได้ทันที ดังนี้


“ มาตรา ๓๐ เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา ๒๘ แล้ว ถ้าปรากฏว่าคําขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วย มาตรา ๕ มาตรา๙ มาตรา๑๐ มาตรา๑๑ หรือมาตรา ๑๔ให้อธิบดีสั่งยกเลิกคําขอรับสิทธิบัตรและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคําส่ังไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรรวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา ๓๑ และให้ประกาศโฆษณาคําสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดโดย กฎกระทรวง”


อำนาจของข้าราชการตามกฎหมายนั้นมีมากมาย เพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์ของประเทศและประชาชน อยู่ที่จะใช้หรือไม่


ก็ต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะตัดสินใจเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรกัญชาตามอำนาจของตนที่มีอยู่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยหรือไม่

รสนา โตสิตระกูล
12 มกราคม 2562