"ร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจฯ ทุจริตเชิงอภิมหานโยบายใช่หรือไม่?"

"ร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจฯ ทุจริตเชิงอภิมหานโยบายใช่หรือไม่?"

 

 

 

CHANGE The World  รสนา โตสิตระกูล

 

"ร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจฯ ทุจริตเชิงอภิมหานโยบายใช่หรือไม่?"

 

 

 

 

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสพบนักกฎหมายผู้ใหญ่ผู้เป็นเสาหลักทางกฎหมายของประเทศท่านหนึ่ง และได้ขอความรู้และสอบถามความเห็นของท่านเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ ...ที่ดิฉันขอเรียกสั้นๆว่าร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจฯ

 

 

ท่านกล่าวว่า "อำนาจกำกับดูแลและพัฒนารัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังมีอำนาจอยู่แล้ว จะมีกฎหมายฉบับนี้ไปทำไม" เมื่อดิฉันบอกว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ส่วนสำคัญที่เขาอยากได้กันคือการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจมาครอบรัฐวิสาหกิจเพื่อเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์มากกว่า ท่านก็ตอบว่า

 

"มันจะยุ่งภายหลังบรรษัทในระยะแรกอาจไม่มีปัญหา แต่เมื่อมีการแตกบริษัทลูกหลานออกไปเข้าตลาด เวลาจะเพิ่มทุนรัฐบาลก็ต้องไปหาเงินมาเพิ่มทุน ถ้ารัฐบาลไม่สามารถเพิ่มทุน ก็ต้องให้เอกชนมาลงทุน ก็จะมีปัญหาว่าทรัพย์สินจะถูกถ่ายโอนออกไปโดยไม่ถูกต้อง"

 

ท่านกล่าวต่อว่า "ถ้ารัฐบาลอยากขายกิจการรัฐวิสาหกิจเพื่อเอาเงินมาใช้ ก็ทำแบบตรงไปตรงมา กิจการไหนที่จะขายก็ต้องขายกิจการไปทั้งหมดแล้วได้เงินมา แต่ต้องถอดสิทธิและสาธารณสมบัติออกเสียก่อน"

นอกจากนี้ท่านยังกล่าวต่ออีกว่า "การแปรรูปที่ผ่านมาในอดีตที่รัฐบาลแปรรูปแล้วยังถือหุ้น51% เป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะการที่รัฐยอมเสียกรรมสิทธิ 49% ให้เอกชนมาถือหุ้นโดยไม่ได้ผลตอบแทนอะไรมา แค่จะให้เอกชนมาบริหารให้เท่านั้น สร้างความเสียหายอย่างมาก"

 

ท่านสรุปสุดท้ายว่า "การจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจ ถ้าเกิดความเสียหายในอนาคต แม้จะเอาผิดกรรมการได้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขอะไรไม่ได้"

 

การแปรรูปในอดีตที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง คือการแปรรูปแบบครึ่งๆกลางๆ โดยยกสิทธิมหาชน อำนาจมหาชน และสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้เอกชน49% มาแฝงเร้นสร้างกำไรมหาศาลจากกิจการผูกขาดที่เคยเป็นของรัฐ100% ซึ่งขัดต่อหลักการการแปรรูปที่เป็นสากล คือการที่รัฐจะแปรรูปในกิจการใด กิจการนั้น ต้องเป็นสิ่งที่รัฐหมดความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเองแล้ว เพราะเป็นกิจการที่มีผู้แข่งขันในตลาดมากราย ซึ่งการแข่งขันทำให้กิจการมีประสิทธิภาพ ไม่มีการผูกขาด และมีราคาที่ยุติธรรมต่อผู้บริโภค

 

กิจการที่รัฐบาลในต่างประเทศแปรรูป เขาต้องตีมูลค่ากิจการตามมูลค่าตลาดหรือมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ บางประเทศที่ขายกิจการของรัฐวิสาหกิจ ได้เงินเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศนั้นถึง2ปี แต่ประเทศไทยขายทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจตามมูลค่าบัญชี ซึ่งคือการเลหลังทรัพย์สินของชาติในราคาขาดทุนให้เอกชนได้กำไร น่าจะเป็นการทุจริตตามกฎหมายที่มิชอบ ใช่หรือไม่

 

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจใดที่ตัดค่าเสื่อมหมดแล้ว รัฐวิสาหกิจจะลงบัญชีไว้1บาท เพื่อให้มีบันทึกรายการทรัพย์สินนั้นไว้ในระบบ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่มูลค่าแท้จริงของทรัพย์สินนั้นย่อมไม่ใช่1บาท การตีมูลค่าทรัพย์สินเพื่อแปรรูปโดยใช้มูลค่าบัญชีจึงน่าจะถูกเรียกว่ากระบวนการตามกฎหมายที่ฉ้อฉล ใช่หรือไม่

 

ยกตัวอย่างสมมติว่าดิฉันซื้อรถราคา5แสนบาทมาใช้ ถ้าตัดค่าเสื่อมปีละแสนบาท 5ปี รถคันนี้จะถูกตัดค่าเสื่อมเหลือศูนย์บาท แต่ถ้าดิฉันจะขายรถคันนี้ ดิฉันย่อมไม่ขายในราคา1บาทแน่นอน ดิฉันต้องให้คนมาประเมินมูลค่าตลาดว่ารถคันนี้ควรขายในราคาเท่าไหร่ที่ผู้ซื้อ และดิฉันในฐานะผู้ขายจะพอใจแล้วเหตุใดจึงยินยอมให้มีการขายทรัพย์สินของชาติตามมูลค่าบัญชีในราคา1บาท ได้อย่างไร

 

ในการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินตอนจะแปรรูปในปี2544 เช่นโรงแยกก๊าซ4โรงถูกตีมูลค่าตามบัญชีประมาณ 3,200ล้านบาท ท่อก๊าซทั้งระบบมีมูลค่าบัญชีเหลือประมาณ 46,000ล้านบาท แต่หลังจากนั้นในปี2552 บมจ.ปตท ได้จ้าง2บริษัทมาประเมินมูลค่าท่อใหม่ และบริษัทหนึ่งประเมินมูลค่าสูงสุดไว้ที่ 105,000 ล้านบาทส่วนอีกบริษัทประเมินไว้ที่120,000ล้านบาท ทำให้ปตท.ขออนุมัติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ขึ้นค่าผ่านท่อของก๊าซธรรมชาติได้อีกหน่วยละประมาณ 2บาท ทำให้ปี2552 ปตท.มีกำไรเพิ่มขึ้น 2,000ล้านบาท ที่มาจากการตีมูลค่าใหม่ในทรัพย์สินเก่า ใช่หรือไม่

 

ดังนั้นการขายทรัพย์สินของชาติด้วยมูลค่าบัญชีนั้น ทำให้เอกชนได้กำไรมหาศาลจากทรัพย์สินของชาติ และสิทธิมหาชนของรัฐ โดยหากำไรจากการเก็บค่าบริการจากประชาชนในราคาแพง น่าจะสอดคล้องกับสิ่งที่โจเซฟ สติกลิสท์ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมที่ได้รับรางวัลโนเบล เป็นอดีตที่ปรึกษาธนาคารโลกกล่าวว่า "การแปรรูป คือการทุจริต (Privatization is Bribarization)"ใช่หรือไม่

 

การที่นักกฎหมายอาวุโสที่ดิฉันได้คุยด้วยนั้นให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลจะแปรรูปกิจการใดของรัฐวิสาหกิจที่หมดความจำเป็นแล้ว ควรแปรรูปเป็นรายกิจการอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสามารถทำได้โดยอาศัย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 อยู่แล้ว ซึ่งในกฎหมายฉบับดังกล่าวได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าก่อนนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องแยกสาธารณสมบัติออกเสียก่อน และถ้าจำเป็นต้องใช้ รัฐสามารถให้เช่าโดยเอกชนต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กระทรวงการคลัง และต้องกำหนดเงื่อนเวลายุติการใช้อำนาจรัฐ และสิทธิมหาชนของรัฐด้วย

 

แม้ว่าในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจจะบัญญัติไว้ชัดเจน แต่การแปรรูปปตท.ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นก็ยังฝ่าฝืนบทบัญญัติตามกฎหมาย ทำให้เมื่อถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลฯจึงสามารถวินิจฉัยว่าเป็นการแปรรูปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งให้ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนให้กระทรวงการคลัง และมีคำสั่งให้แบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่4 คือ บมจ.ปตท.อีกด้วย

 

แต่จนบัดนี้ วิวาทะการคืนทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยังไม่จบ เพราะนายกรัฐมนตรี ครม.และรมว.พลังงานผู้ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี1-3ตามคำพิพากษา ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนยังปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ14 ธันวาคม 2550 อย่างครบถ้วน กล่าวคือยังมิได้แบ่งแยกท่อส่งก๊าซในทะเลที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินวินิจฉัยว่าต้องคืน และคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีความสมบูรณ์อยู่แล้วที่วินิจฉัยว่าท่อก๊าซนั้นเป็นระบบ การคืนจึงต้องคืนทั้งระบบไม่ใช่คืนเป็นส่วนๆหรือเป็นท่อนๆ คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า คำพิพากษาว่าท่อก๊าซต้องพิจารณาทั้งระบบนั้นชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่การปฏิบัตินั้นยังทำไม่ครบถ้วน ใช่หรือไม่

 

โดยนัยยะนี้หมายความว่าท่อก๊าซทั้งระบบ ทั้งบนบก และในทะเลล้วนเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่รัฐบาลในฐานะเจ้าหนี้แทนประชาชนต้องเรียกคืนให้ครบถ้วน แต่ที่ผ่านมาเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาปล่อยปละละเลยให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไปแจ้งต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบแล้วโดยที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ทักท้วงและกำกับให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามการตรวจสอบของผู้ตรวจสอบบัญชีของแผ่นดินคือสตง.ใช่หรือไม่

 

ทั้งที่รัฐบาลเป็นเจ้าหนี้ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบมจ.ปตท.และมีอำนาจสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาคือบมจ.ปตท. แต่เจ้าหนี้ก็ยังไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ ถ้ามีการตั้งบรรษัทวิสาหกิจ มาเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังมีฐานะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบรรษัท จะมิกลายเป็นว่าบรรษัทวิสาหกิจเป็นที่กำบังอีกชั้นหนึ่งไม่ให้รัฐบาลต้องทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหนี้และฐานะเจ้าของทรัพย์สินแผ่นดินแทนประชาชนอีกแล้ว ใช่หรือไม่

 

นอกจากทรัพย์สินที่รัฐบาลในฐานะเจ้าหนี้ยังไม่กำกับให้มีการแบ่งแยกคืนอย่างครบถ้วนแล้ว สิทธิมหาชนที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้แบ่งแยกคืนด้วย ก็ยังไม่ได้มีการพิจารณา ดังนั้นสิทธิผูกขาดในการซื้อก๊าซเจ้าเดียวจากปากหลุมของผู้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทย และสิทธิในทรัพย์สินและส่วนแบ่งจากกิจการในแหล่งปิโตรเลียมไทยมาเลเซียซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐต่อรัฐ จึงยังตกเป็นสิทธิที่ปตท.ใช้ทำกำไรให้กับเอกชน 49% ที่ถือหุ้นอยู่ จากสิทธิมหาชนที่เป็นของรัฐและยังไม่ได้มีการพิจารณาว่านี่คืออำนาจและสิทธิมหาชนของรัฐที่ต้องแบ่งแยกคืนให้รัฐตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่14 ธันวาคม 2550 ด้วยหรือไม่

 

คนออกแบบกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจฯน่าจะคิดไว้หลายชั้น โดยในชั้นแรกเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการคืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลัง และสิทธิมหาชนที่เอกชนยึดไว้ใช้อยู่ จะได้ใช้ต่อไปภายใต้การครอบครองของบรรษัทวิสาหกิจ ใช่หรือไม่

 

ชั้นที่2 เพื่อจะได้ไม่ต้องตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมาจัดการบริหารทรัพย์สินเช่นแท่นขุดเจาะ คลังก๊าซ และทรัพย์สินประเภทอื่นๆฯลฯที่จะตกเป็นของรัฐตามกฎหมายเมื่อบริษัทเอกชนหมดอายุสัมปทานในแหล่งบงกช และเอราวัณ และเพื่อจะสามารถยกเอกสิทธิการบริหารส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่รัฐจะได้รับจากการเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในแปลงบงกชและเอราวัณเพื่อคงผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนต่อไป ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ ใช่หรือไม่

 

การเดินสายของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงพลังงานเดินทางไปพบเจ้าของ
บริษัทมูบาดาลา ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรทเพื่อจัดฉากเชิญชวนให้มาร่วมแข่งขันประมูลแหล่งเอราวัณ บงกช ย่อมทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยได้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการตกลงเพื่อจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างคสช.กับคนแดนไกล ในแปลงปิโตรเลียม2แหล่งใหญ่ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลถึงปีละประมาณ 2แสนล้านบาทด้วยหรือไม่

 

ชั้นที่3 คือการถ่ายโอนทรัพย์สินของชาติโดยเริ่มจาก11 รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด และยังปูทางให้สามารถรุกคืบไปยังรัฐวิสาหกิจอื่นที่มีทรัพย์สินเป็นกอบเป็นกำ อย่างการรถไฟ การไฟฟ้า เป็นต้นเพื่อให้กลุ่มทุนเอกชนร่วมกับคสช.สามารถแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันโดยการตัดตอน พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 ใช่หรือไม่

 

ต่อไป พ.ร.บ ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 จะถูกใช้เพียงครึ่งเดียวคือในขั้นตอนการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัท (Corporatization) เมื่อรัฐวิสาหกิจถูกแปลงสภาพเป็นบริษัทมาอยู่ภายใต้กระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังก็จะต้องโอนหุ้นทั้งหมดให้บรรษัทวิสาหกิจฯ โดยคำสั่งของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)และร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจฯก็จะใช้เป็นขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization)ต่อไปคือเป็นร่างกฎหมายที่ให้อำนาจคน ร. สามารถลดสัดส่วนความเป็นรัฐวิสาหกิจลง จนพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ด้วยการขายให้เอกชนผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่ต้องแบ่งแยกสาธารณสมบัติ อำนาจมหาชน ตลอดจนสิทธิมหาชน ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกเหมาเข่งรวมมาอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ เพื่อจะได้สามารถจัดการเอาไปเล่นแร่แปรธาตุในตลาดหลักทรัพย์อย่างสะดวกโยธินของกลุ่มทุนผูกขาดเพียงไม่กี่กลุ่ม ใช่หรือไม่

 

ชั้นที่4 ในกระบวนการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ มีการลดมูลค่าทรัพย์สินของชาติลง เพื่อให้กลุ่มทุนเอกชนผูกขาดได้ของดีในราคาถูก โดยการลดมูลค่าทรัพย์สินของชาติจะถูกทำเป็น2ขยัก ขยักที่1
ตอนแปรสภาพรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทผ่านพรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจทรัพย์สินจะถูกตีตามมูลค่าบัญชีครั้งที่1 และขยักที่2 เมื่อกระทรวงการคลังโอนหุ้นบริษัทมาให้บรรษัทวิสาหกิจ ก็จะถูกคำนวณมูลค่าหุ้นตามมูลค่าบัญชีอีกครั้งหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย มูลค่าทรัพย์สินของชาติก็จะถูกทำให้ด้อยค่าลงผ่านกระบวนการในการแปลงสภาพและการถ่ายโอนให้บรรษัทวิสาหกิจใช่หรือไม่

 

ชั้นที่5 ใช้ร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจถ่ายโอนทรัพย์สินชาติที่เคยอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนมาอยู่ใต้องค์กรบรรษัทวิสาหกิจที่ขึ้นกับกฎหมายเอกชน

 

หลังจากกระทรวงการคลังถ่ายโอนหุ้นของรัฐวิสาหกิจให้บรรษัทวิสาหกิจแล้ว กระทรวงการคลังก็จะเหลือความเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจในรูปใบหุ้นที่เป็นเศษกระดาษเท่านั้น ร่างกฎหมายบรรษัทวิสาหกิจได้บัญญัติให้บรรษัทวิสาหกิจไม่ใช่หน่วยราชการ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ


จึงเป็นหน่วยงานที่ถูกกำหนดให้เป็นเอกชน ขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่งพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายของเอกชน และกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินของชาติที่ขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชน สามารถเอาไปบริหาร หรือเล่นแร่แปรธาตุได้ โดยในร่างกฎหมายนี้เปิดช่องให้กรรมการและผู้อำนวยการของบรรษัทสามารถเล่นหุ้นได้อีกด้วย ใช่หรือไม่

 

ชั้นที่6 ร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนให้บรรษัทวิสาหกิจสามารถกู้เงินทั้งในและนอกประเทศ ลงทุนทั้งในและนอกประเทศ และมีอำนาจกักเก็บรายได้และกำไรของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจไว้ใช้ก่อน เช่นสำรองค่าใช้จ่ายการบริหาร ได้ปีละไม่เกิน1พันล้านบาท และสามารถกำหนดจำนวนเงินที่จะสำรองไว้เพื่อการลงทุน ซึ่งไม่ได้กำหนดเพดานไว้ว่ากักเก็บได้ไม่เกินเท่าไหร่ เงินกำไรที่เหลือจากการกักเก็บเหลือเท่าไหร่ จึงจะส่งให้กระทรวงการคลัง  เงินที่บรรษัทวิสาหกิจมีอำนาจกักเก็บไว้เป็นเงินที่อยู่นอกงบประมาณแผ่นดิน ในขณะที่ปัจจุบันเงินของรัฐวิสาหกิจต้องส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นงบประมาณแผ่นดิน

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือว่าคนเขียนต้องเป็นมือเซียนเหยียบเมฆ จึงจะสามารถเขียนซ่อนเร้นการผ่องถ่ายผลประโยชน์ของชาติได้เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ให้เอกชนผ่านบรรษัทวิสาหกิจ ที่จะได้กินส่วนที่เป็นเนื้อๆ จากกิจการของรัฐวิสาหกิจก่อนเจ้าของตัวจริง ส่วนกระทรวงคลังเจ้าของทรัพย์สินแทนประชาชนกอดไว้แค่ใบหุ้นกระดาษและรับผลตอบแทนเป็นกระดูกติดเศษเนื้อนิดหน่อยเข้างบประมาณแผ่นดิน แบบนี้มันยิ่งกว่าการจับเสือมือเปล่า ใช่หรือไม่

 

ร่างกฎหมายที่อำพรางซ่อนเร้นการถ่ายโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินมหาศาลของชาติออกไปให้กลุ่มทุนเอกชนผูกขาดให้ได้ร่ำรวยอู้ฟู่ยิ่งขึ้นในตลาดหลักทรัพย์เช่นนี้ จะเข้าข่ายการทุจริตเชิงอภิมหานโยบายโดยอาศัยการออกกฎหมายที่ทำสิ่งผิดให้ถูกกฎหมายโดยอาศัยสภาเสียงเอกฉันท์ที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลเช่นนี้ เป็นสิ่งถูกต้องและสมควรแล้วหรือไม่?

หากฟังความเห็นของผู้อาวุโสทางกฎหมายท่านนี้แล้ว มีแต่ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปจากสนช.เท่านั้น หากปล่อยให้ร่างกฎหมายเพื่อโยกย้ายทรัพย์สินของชาติยังเดินหน้าต่อไปเช่นนี้ อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในระดับเดียวกับนโยบายจำนำข้าว + กฎหมายกู้เงิน2ล้านล้าน ที่บัญญัติว่าเงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน + กฎหมายลักหลับนิรโทษกรรมสุดซอยของรัฐบาลที่แล้วก็เป็นได้ !!??

 

รสนา โตสิตระกูล
2 ตุลาคม 2560