"การขายคอนเดนเสทให้สิงคโปร์ก่อนย้อนมาขายไทยคือกระบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงใช่หรือไม่ "
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
"การขายคอนเดนเสทให้สิงคโปร์ก่อนย้อนมาขายไทยคือกระบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงใช่หรือไม่ "
การที่ผู้บริหารระดับสูงถึง3กระทรวง ประกอบด้วยกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม มาประชุมเพื่อหาทางตีความช่วยเหลือบริษัทเอกชนที่เป็นพ่อค้าคนกลางของสิงคโปร์ให้ไม่ต้องเสียภาษีส่งออก และภาษีนำเข้าน้ำมันมาไทยจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ)โดยอ้างว่า ไม่ต้องสนใจว่าน้ำมันจะเปลี่ยนมือไปกี่ครั้ง ขอให้สนใจแค่ว่าส่งปลายทางคือประเทศไทย ก็ไม่ต้องเสียภาษีนั้น ต้องตั้งข้อสงสัยว่าการตีความเช่นนี้เกิดจากความไม่รู้ หรือเกิดจากความไม่สุจริตกันแน่?!?
บริษัทHess เคยขายคอนเดนเสทโดยตรงให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยคือบริษัทปตท.อยู่แล้วโดยไม่มีภาระภาษี แล้วเหตุใดที่ผู้ประกอบการในไทยจึงต้องซื้อผ่านบริษัทKarnel Oil ของสิงคโปร์ ?!?
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญคือ ตามกฎหมายศุลกากรของพื้นที่พัฒนาร่วมฯ(เจดีเอ) หากขายคอนเดนเสทตรงมายังประเทศไทยจะไม่มีภาษีขาออก เพราะมีเจตนารมณ์ให้คนไทยและคนมาเลเซียได้ใช้ทรัพยากรจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียในราคาปลอดภาษี แต่ถ้าขายไปยังประเทศที่3ที่ไม่ใช่ไทย และมาเลเซีย ต้องมีภาษีส่งออก5%
และเมื่อบริษัท Hessขายคอนเดนเสทให้บริษัท Karnel Oil ของสิงคโปร์ แม้น้ำมันจะไม่ได้ส่งไปสิงคโปร์ แต่ส่งตรงมาประเทศไทยก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์เป็นของ KERNEL OIL แล้วตามสัญญาซื้อขาย ประกอบ CUSTOMER LIFTING TELEX. ดังนั้นตามกระบวนการปกติของการนำเข้าน้ำมันมาประเทศไทย ต้องมีภาษีนำเข้าอีกด้วย
ดูภาพกราฟฟิกประกอบ จะเห็นว่า Hess ขายคอนเดนเสทให้ผู้ประกอบการไทย จะไม่มีภาษี แต่ถ้า Hess ขายให้ Karnel Oil จะมีภาษีส่งออก5% และKarnel Oil ขายให้ปตท.จะมีภาษีนำเข้าด้วย
การประชุมเพื่อตีความกฎหมายการเสียภาษีจากเเหล่งเจดีเอ ของผู้บริหารจาก3กระทรวงที่อ้างว่า ไม่ต้องไปสนใจว่าจะขายต่อไปให้ใคร ขอให้สนใจประเทศปลายทางเป็นหลักเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าคอนเดนเสทจะเปลี่ยนกรรมสิทธิไปกี่ครั้งก็ได้ แต่กรมศุลกากรสมควรรู้ว่า การขายผ่านตัวกลาง ก่อนส่งมาไทย ผลลัพธ์ย่อมไม่เหมือนเดิมอยู่แล้ว การตีความเช่นนี้จะเปิดโอกาสให้บริษัทนายหน้าจากสิงคโปร์เข้ามากินส่วนต่างกำไร และหลีกเลี่ยงการเสียภาษีส่งออก และภาษีนำเข้าเมื่อนำเข้ามาในประเทศไทย เป็นวิธีการสวมสิทธิน้ำมันเจดีเอเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเข้าไทย แต่น้ำมันจะถูกแปลงสัญชาติเป็นน้ำมันจากสิงคโปร์ที่สามารถเอามาฟันกำไรจากคนไทยได้มากขึ้นใช่หรือไม่
หากการตีความของผู้บริหารจาก3กระทรวงเช่นนี้ถูกนำมาใช้กับกรณีการขายคอนเดนเสทจากเจดีเอมาไทยโดยผ่านตัวกลางอย่างKarnel Oil ของสิงคโปร์ โดยไม่ต้องเสียภาษีทั้งขาออกจากเจดีเอ และขาเข้าไทย ผลที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยจะสูญเสียรายได้จากภาษีขาออก และภาษีขาเข้าไทยตลอดไป
คนไทยก็จะไม่มีโอกาสได้ใช้น้ำมันจากเจดีเอในราคาปลอดภาษีและปลอดการบวกกำไรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกต่อไป เพราะการตีความของกรมศุลกากรจะเป็นเกราะกำบังช่องทางหากินของเอกชนโดยให้บริษัทนายหน้าเข้ามากินส่วนต่างกำไร และทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันราคาแพง เหมือนที่คนไทยไม่เคยมีโอกาสได้ใช้ก๊าซและน้ำมันที่เป็นทรัพยากรภายในประเทศของเราเองด้วยราคาในประเทศ เช่นเดียวกับน้ำมันจากเจดีเอก็จะถูกแปลงสัญชาติเป็นน้ำมันสิงคโปร์ในราคานำเข้าจากสิงคโปร์เท่านั้น ใช่หรือไม่
กรณีนี้ก็คงเหมือนกรณีจำนำข้าวที่มีการนำข้าวเขมรราคาถูกมาสวมสิทธิเป็นข้าวไทยที่มีราคาแพงกว่า เช่นกัน น้ำมันปลอดภาษีจากเจดีเอก็ถูกสวมสิทธิเป็นน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์ เพื่อมาขายฟันกำไรจากคนไทยในราคาน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์ ที่มีต้นทุนเทียมเช่นค่าขนส่ง ค่าประกันภัยจากประเทศสิงคโปร์มาไทย ใช่หรือไม่
สิ่งน่าสนใจคืออธิบดีกรมศุลกากรมีความพยายามก่อนหน้านี้ที่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่ต้นปี2558 ขอให้พิจารณาให้ความเห็นเรื่องการขายน้ำมันจากเจดีเอที่ขายผ่านคนกลางก่อนส่งมาไทยว่าต้องมีภาษีหรือไม่ แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบปฏิเสธ เพราะกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันอื่นอยู่แล้วตามกฎหมาย และระบุว่าอธิบดีศุลกากรมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนด และระบุว่าสมควรให้กรมศุลกากรดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงไม่รับข้อหารือไว้พิจารณา (ดูเอกสารประกอบ)
ในขณะนั้นการตรวจสอบของDSI ยังไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อการสอบสวนของDSI เสร็จสิ้นจนมีการแจ้งข้อกล่าวหากับ2บริษัท คือCPOC และ CHESS แทนที่จะปล่อยให้DSI ดำเนินการไปตามกระบวนการทางกฎหมาย กลับกลายเป็นว่าผู้บริหารทั้ง3กระทรวงพากันออกโรงมาประชุมตีความ และเข้ามาแทรกแซงการดำเนินคดีของDSI ด้วยการขอให้ชะลอการสอบปากคำบริษัทที่หนีภาษี และถึงกับจะขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจมาตรา44 มายกเว้นการเก็บภาษีในกรณีนี้
น่าแปลกใจหรือไม่ ว่าในขณะที่DSI กำลังดำเนินคดีกับบริษัท CPOC และ CHESS เพื่อเรียกเก็บภาษีอากรขาออกให้กรมศุลกากร แทนที่กรมศุลฯจะยินดีที่จะได้ภาษีคืนมาให้กับประเทศ และให้ความร่วมมือกับ DSI กลับไปแทรกแซงการดำเนินคดีของDSI และพนักงานอัยการ ด้วยการตีความเพื่อช่วยเหลือบริษัทฯที่หลีกเลี่ยงภาษีของราชการเพื่อให้มีข้ออ้างจากการตีความแบบผิดๆของข้าราชการระดับสูงเหล่านี้มาใช้ต่อสู้กับคดีกับDSI ใช่หรือไม่
ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 มีการระบุว่าจะใช้เวลา 1สัปดาห์ ที่จะให้ความเห็นต่อDSI เพื่อประกอบการพิจารณาของ DSI แต่เวลาล่วงเลยมากว่า3 เดือนแล้ว ก็ยังไม่มีข้อยุติ คงจะหวังรอให้นายกฯหลงกลใช้มาตรา44 มาช่วยบริษัทเอกชนที่หนีภาษี ใช่หรือไม่
มีข่าวจากสื่อมวลชนว่ารองอธิบดีDSIได้สั่งให้รอคำตอบจากกรมศุลฯ ซึ่งเวลาล่วงเลยมากว่า3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ยอมส่งเรื่องให้อัยการฟ้องศาล และมีข่าวว่าจะให้รอต่อไปอีก..ทั้งที่การสอบสวนเสร็จสิ้น มีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว และลงมติให้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว การที่รองอธิบดีปล่อยให้มีการแทรกแซง และรั้งรอมานานเช่นนี้ ย่อมทำให้สังคมอาจจะมีข้อสงสัยและกังวล เพราะเดิมพันผลประโยชน์เรื่องนี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท อาจจะเกิดการเจรจาให้เป็นมวยล้มได้หรือไม่?
สังคมจึงต้องจับตาคดีนี้ชนิดตาไม่กระพริบ....
อันที่จริงเรื่องนี้กรมศุลกากรไม่ควรจะวินิจฉัยอะไรอีกแล้ว เพราะDSIและอัยการเข้ามาสอบสวนดำเนินคดีจนมีการแจ้งให้บริษัทเอกชนมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ควรจะปล่อยให้ DSI ดำเนินการต่อไปตามกฎหมายบ้านเมืองและให้ศาลตัดสิน กรมศุลกากรและผู้บริหารในอีก2กระทรวงควรอยู่เฉยๆ เพียงแค่อย่าไปขัดขวางเขาก็เพียงพอแล้ว
พฤติการณ์แทรกแซงการดำเนินคดีของ DSI จากผู้บริหารระดับสูงทั้ง 3 กระทรวง ทำให้น่าตั้งคำถามว่าจะเข้าข่ายเป็นขบวนการสมคบคิดให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่
เพราะเป็นการตีความที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะไม่ได้รับภาษีที่สมควรจะได้ และทำให้ประชาชนต้องใช้น้ำมันในราคาแพงโดยไม่สมควรจากกระบวนการซิกแซกขายน้ำมันผ่านพ่อค้าคนกลางเพื่อฟันกำไรส่วนต่าง และสำแดงเอกสารส่งออกอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งถ้าปล่อยให้มีการปฏิบัติตามการตีความที่หลีกเลี่ยงข้อกฎหมายและการตีความที่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ ย่อมจะเป็นการทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากภาษีโดยชอบธรรมนั้นตลอดไป
ท่านนายกรัฐมนตรีควรให้ความสนใจเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ และสั่งการให้DSI ต้องดำเนินคดีต่อไปโดยเร่งด่วน เพราะมูลค่าภาษีที่มีการหลีกเลี่ยงในเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมกับโทษปรับ4เท่าของมูลค่าน้ำมันที่มีการเลี่ยงภาษีตามกฎหมายศุลกากรซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
ท่านนายกฯจะกล้าเอาจริงกับการเรียกเก็บภาษีที่ถูกหลบเลี่ยง ตลอดจนเรียกเก็บโทษปรับ4เท่าของมูลค่าน้ำมันจากการสำแดงส่งออกและนำเข้าอันเป็นเท็จจากกลุ่มทุนพลังงานอำนาจสูงเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งเป็นรายได้ที่เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นกอบเป็นกำแทนที่จะมารีดภาษีแวตเอากับประชาชนคนเล็กคนน้อย
นอกจากนี้ท่านนายกฯควรตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระ ที่ไม่ลูบหน้าปะจมูก คือคนที่อยู่นอก3กระทรวงนี้ขึ้นมา
สอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งหมดที่มีพฤติกรรมเอาจริงเอาจังกับการช่วยเหลือเอกชนที่หลีกเลี่ยงภาษี ยิ่งกว่าดูแลผลประโยชน์ของทางราชการและของประชาชนทั้งประเทศ
รสนา โตสิตระกูล
17 ตุลาคม 2560
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1461688527241039&id=236945323048705