"ข้อพิรุธการขายปิโตรเลียมเหลว(คอนเดนเสท)ให้สิงคโปร์ก่อนย้อนมาขายไทย คืออะไร"

"ข้อพิรุธการขายปิโตรเลียมเหลว(คอนเดนเสท)ให้สิงคโปร์ก่อนย้อนมาขายไทย คืออะไร"

 

 

 

CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 


"ข้อพิรุธการขายปิโตรเลียมเหลว(คอนเดนเสท)ให้สิงคโปร์ก่อนย้อนมาขายไทย คืออะไร"

 


หลังจากดิฉันเขียนบทความ"ขอให้นายกฯ จัดการกรณีหลีกเลี่ยงภาษีส่งออกปิโตรเลียมเหลวจากแหล่งJDAให้ถูกต้อง" ก็มีทนายหน้าหอที่มักเข้ามาแสดงความเห็นแก้ต่างแทนกลุ่มทุนพลังงานอยู่เสมอๆ โดยครั้งนี้เข้ามาแสดงความเห็นว่า


"การที่บริษัทร่วม Carigali Hess Operating Co.,Sdn.Bhd จะขายคอนเด็นเสดให้ใครที่ไม่ใช่ปตท.นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตามข้อตกลงระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้น เราตกลงแบ่งผลผลิตก๊าซให้แต่ละประเทศอย่างละเท่าๆกัน ส่วนคอนเด็นเสดจะขายที่ตลาดไหนก็ได้แต่ต้องแบ่งเงินกันคนละครึ่ง


การที่บริษัทร่วมไทย-มาเลเซียจะขายคอนเด็นเสดให้บริษัทใดก่อนที่จะแล่นเรือมาขายให้ปตท.ที่ระยองนั้นผมไม่เห็นจะแปลกประหลาดตรงไหนเลยครับ เมื่อจุดปลายทางสินค้าขายอยู่ภายในประเทศจึงไม่มีเหตุผลที่จะเก็บภาษีส่งออก ผมจึงเห็นด้วยกับดุลยพินิจของอธิบดีกรมศุลกากรครับ"


ขอตอบคำถามของทนายหน้าหอว่า
1)ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือบริษัทHess เคยขายคอนเดนเสทโดยตรงให้บริษัทปตท.อยู่แล้วโดยไม่มีภาระภาษี แล้วเหตุใดจึงต้องมีกรณีที่ Hess ขายให้กับบริษัทKarnel Oil ของสิงคโปร์ก่อนและKarnel Oil ค่อยเอามาขายต่อให้กับปตท.อีกทอดหนึ่ง สันนิษฐานว่าการทำแบบนี้เพราะต้องการให้พ่อค้าคนกลางมากินส่วนต่างกำไรอีกทอดหนึ่งก่อนเอามาขายให้ปตท.โดยหาทางให้เอกชนไม่ต้องเสียภาษี ข้ออ้างว่าให้สนใจการส่งของมายังประเทศปลายทางเป็นหลักนั้น คือรอยตัดต่อที่สำคัญ เพราะเชื่อว่าKarnel Oil ไม่ได้นำคอนเดนเสทแล่นเรือกลับไปสิงคโปร์ก่อนแล้วค่อยนำกลับมาส่งที่ระยองเป็นแน่ การขายคั่นให้ตัวกลางคือKarnel Oil ย่อมมีผลทางธุรกิจคือต้องมีโสหุ้ยและกำไรที่Karnel Oil ต้องบวกเพิ่มเข้าไปในราคาปิโตรเลียมเหลวก่อนนำมาขายคนไทยในราคาที่แพงขึ้น ใช่หรือไม่


2)ที่บอกว่า"คอนเดนเสทจะขายที่ไหนก็ได้แต่ต้องแบ่งเงินกันคนละครึ่ง"นั้นถูกต้องตามหลักการแบ่งปันผลผลิต แต่อาจไม่มีคนรู้ว่า กรณีCHESSที่ยกตัวอย่างนั้นมิได้มีการแบ่งเงินที่ขายคอนเดนเสทคนละครึ่งกับองค์กรร่วม (MTJA) เพราะว่ามีการยกกรรมสิทธิ์ส่วนที่เป็นขององค์กรร่วมฯให้กับบริษัท HESS ทั้งหมด100% คำว่า Separate lifting for HESS only ในเอกสารแปลว่า คอนเดนเสทในล็อตนี้ขายแล้วยกรายได้ให้ HESS ไปทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท


หรือ31,932,890.99 เหรียญสหรัฐ ซึ่งผิดหลักการแบ่งปันผลผลิตที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี2548 และการยกล็อตให้HESS แตเพียงผู้เดียว ทำให้สามารถขายให้ Karnel oilโดยก็ไม่ต้องมีการประมูล ทั้งที่ในอดีตตั้งแต่ปี 2548 -2553 การขายโดยองค์กรร่วมฯต้องใช้วิธีประมูลให้ได้ราคาสูงสุดเท่านั้น การใช้วิธียกคอนเดนเสทให้บริษัทHESS ไปขายก่อน จะเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงการประมูล ใช่หรือไม่


กรณีนี้ควรตั้งเป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบโดยสตง.หรือปปช.ว่าเพราะเหตุใดจึงมีการซิกแซกในการขายคอนเดนเสทโดยการยกกรรมสิทธิ์ให้ HESS ทั้ง100%ในช่วงราคาน้ำมันแพงเกิน100$ /บาเรล แล้วค่อยให้ HESS นำมาใช้คืนองค์กรร่วมฯในภายหลัง ถ้าหากนำมาใช้คืนในตอนน้ำมันลงราคาเหลือ50 $/บาร์เรล องค์กรร่วมฯก็จะขาดทุน และประเทศไทยก็จะขาดทุนด้วยเช่นกัน ใช่หรือไม่


ขอตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการซิกแซกในการยกคอนเดนเสทให้เอกชนขายก่อน ก็จะถูกนำมาใช้ในแหล่งบงกช และเอราวัณเพราะการไม่มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติในการจัดการบริหารการประมูลปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิของรัฐเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด ก็มีการเขียนกฎหมายเตรียมไว้แล้วว่า สามารถยกให้เอกชนเป็นผู้ขายปิโตรเลียมแทนรัฐได้ จึงขอให้ดูกรณีองค์กรร่วมฯเป็นตัวอย่าง


3)กรณีการหลบเลี่ยงภาษีส่งออกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2553 เมื่อถูกจับได้ว่ามีการสำแดงการส่งออกเป็นเท็จ จึงเกิดการร้องเรียนไปที่DSI ซึ่งDSI ใช้เวลาสอบถึง2-3ปี จนในที่สุดพบว่ามีความผิดจริงจึงได้ร่วมกับพนักงานอัยการแจ้งข้อหาต่อ2บริษัท คือบริษัท CPOC (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างปตท.สผ.และคาริการี่ของมาเลเซีย) และบริษัท CHESS (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างคาริการี่กับบริษัทเฮสส์ของสหรัฐ) แต่ก็ถูกทำให้ยืดเยื้อทั้งที่ก็ยืดเยื้อมานานแล้วถึง7ปีแล้ว การที่มีข้าราชการระดับสูงมาวิ่งเต้นช่วยเหลือให้DSI ชะลอการดำเนินคดีกับ2บริษัท และตีความกฎหมายให้เอกชนไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายรองรับก็เพื่อให้เอกชนไม่ต้องรับผิด ใช่หรือไม่


4)กรณีที่มีข่าวว่าอธิบดีกรมศุลกากรให้ความเห็นว่า การพิจารณาเก็บภาษีขาออกหรือไม่นั้น ขอให้พิจารณาจากการขนส่งไปยังประเทศปลายทางเป็นหลัก (Physical movement) โดยไม่ต้องสนใจเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์หลายครั้งก็ได้นั้น ถ้าข่าวนี้เป็นจริง ก็ต้องถามว่าดุลยพินิจเช่นนี้มีข้อกฎหมายศุลกากรข้อใดมารองรับ ?
ระดับผู้บริหารในกรมศุลกากรน่าจะทราบดีอยู่แล้วว่า การเก็บภาษีในพื้นที่JDAเป็นไปตามคำสั่งกรมศุลกากรที่5/2548 ข้อ 4 02 04 04 ที่ได้ระบุจุดที่ภาระภาษีเกิด(tax point)ในพื้นที่JDA คือณ.จุดเรือกักเก็บน้ำมัน (Floating Storage and Offloading Vessel Area : FSOA)


และจุดตั้งมาตรวัดเพื่อวัดปริมาณการส่งออกน้ำมัน และประกอบมาตรา46 ตามพ.ร.บ ศุลกากร 2469 ที่บัญญัติว่า " ถ้ามีความจำเป็นด้วยประการใดๆเกี่ยวด้วยการศุลกากรที่จะกำหนดเวลาเป็นแน่นอนว่า การส่งของใดๆออกจะพึงถือว่าเป็นอันสำเร็จเมื่อไรไซร้ ท่านให้ถือว่าการส่งของออกเป็นอันสำเร็จแต่ขณะที่เรือซึ่งส่งของออกได้ออกจากเขตท่าซึ่งได้ออกเรือเป็นชั้นที่สุดเพื่อไปจากพระราชอาณาจักรนั้น" เมื่อบริษัทเอกชนสำแดงเอกสารการส่งออกเป็นเท็จ และไม่จ่ายภาษีขาออกตามที่กฎหมายบัญญัติ ความรับผิดทางภาษีจึงเกิดขึ้นแล้วเมื่อการส่งออกสำเร็จตามมาตรา 10ตรี

 

5)หากการตีความว่าไม่ต้องเก็บภาษีส่งออกโดยเปลี่ยนมาพิจารณาการส่งที่ประเทศปลายทางแทนทั้งๆที่ไม่มีข้อกฎหมายรองรับถูกนำมาใช้กับกรณีนี้ นอกจากจะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายแล้ว ต้องตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นการจงใจตีความที่บิดกฎเกณฑ์การเก็บภาษีส่งออกเพื่อช่วยให้บริษัทเอกชนไม่ต้องรับผิดใน"โทษปรับ"ที่สำแดงการส่งออกอันเป็นเท็จและไม่ต้อง"เสียภาษีส่งออก" อีกด้วย ใช่หรือไม่
ประเด็นสำคัญที่สุดในการตีความเช่นนี้ ไม่ใช่แค่ช่วยให้เอกชนไม่ต้องเสียภาษีและไม่ต้องถูกโทษปรับในการกระทำที่ทำผ่านไปแล้วเท่านั้น แต่ยังจะเป็นการทำให้เกิดบรรทัดฐานที่ผิดกฎหมายเพื่อช่วยให้บริษัทเอกชนสามารถขายคอนเดนเสทให้บริษัทนายหน้าที่อยู่ในประเทศที่3โดยไม่ต้องมีภาระภาษีจากJDAได้ตลอดไปด้วย ใช่หรือไม่

 

6)กรณีของประเทศไทย มีเพียงการนำเข้าก๊าซและปิโตรเลียมเหลวจากJDA เท่านั้นที่จะไม่มีภาษีนำเข้า เพราะมีเจตนารมณ์ที่จะให้ทรัพยากรที่ได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย มาเลเซียเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและคนมาเลเซีย ได้ใช้ทรัพยากรจากพื้นที่JDA ในราคาปลอดภาษี แต่การนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่น จะต้องมีภาษีนำเข้า ดังนั้นในกรณีนี้ถ้าผู้บริหารในกระทรวงทั้ง3 ตีความกฎหมาย ว่า


แหล่งJDAสามารถขายคอนเดนเสทให้เอกชนในประเทศที่3โดยปลอดภาษี ก่อนส่งเข้ามาขายในประเทศไทยและให้เปลี่ยนกี่มือก็ได้โดยถือเอาประเทศปลายทางเป็นหลักคือประเทศไทยว่าไม่ต้องเสียภาษี จะเข้าข่ายเป็นการจงใจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนมากินหัวคิวเอากำไรจากคนไทยในการซื้อขายคอนเดนเสทจากแหล่งJDA โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีได้ ใช่หรือไม่

 

การตีความกฎหมายแบบบิดเบี้ยวเช่นนี้ ทำให้เอกชนที่เป็นพ่อค้าคนกลางจากประเทศที่3 สามารถซื้อน้ำมันจากJDA โดยไม่มีภาษี แต่เวลานำมาขายต่อให้ผู้ประกอบการในไทย ก็จะแปลงร่างเป็นคอนเดนเสทนำเข้าจากสิงคโปร์ ที่มีสูตรต้นทุนเทียมที่บวกทั้งกำไร และค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทยด้วย ใช่หรือไม่ มีผู้อ่านท่านหนึ่งที่อ่านบทความดิฉันแล้ว เขียนความเห็นที่น่าสนใจว่า


"ตรวจสอบกันดีๆ ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ คงไม่ใช่ เพียงคอนเดนเสท แต่คงรวมถึงน้ำมันดิบ
จากอ่าวไทยด้วย ที่ส่งไปยังสิงคโปร์ก่อน แล้วค่อยนำกลับเข้ามายังโรงกลั่นไทย
โอนกำไรไปไว้ที่สิงคโปร์ส่วนหนึ่งก่อน แล้วค่อยขายให้โรงกลั่นไทยในสถานะน้ำมันนำเข้า ดังนั้น ราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นไทยจึงมี แต่ราคาต้นทุนที่คิดจากราคาน้ำมันดิบนำเข้ามันเป็นการหากินร่วมกันระหว่างบริษัทไทยกับ บริษัทข้ามชาติ บนความเสียเปรียบของคนไทย" ใช่หรือไม่


หากรัฐบาลท่านนายกตู่มีเจตจำนงที่แท้จริงที่จะกำจัดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และจะทำให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ต้องมีการตรวจสอบข้าราชการระดับสูงและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดใน3กระทรวงอย่างจริงจังว่า ที่มีการประชุมตีความกฎหมายและมีมติมาแทรกแซงกระบวนการทำงานของ DSI นั้นเป็นเจตนาที่จะอุ้มบริษัทเอกชนเพื่อมิให้ต้องรับผิดโดยขัดต่อกฎหมายที่บัญญัติไว้ ใช่หรือไม่


สัจธรรมของการทุจริตคอร์รัปชันที่รับรู้กันเป็นสากลคือ การทุจริต คอร์รัปชันไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ แต่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของ3ฝ่าย คือ 1)เอกชน 2)นักการเมืองที่ใช้อำนาจทั้งที่มาจากการเลือกตั้งหรือจากการรัฐประหาร และ 3)ข้าราชการที่รู้กฎหมาย ระเบียบต่างๆเป็นอย่างดี รู้ทั้งช่องโหว่ รูรั่วของกฎระเบียบทั้งหลาย


บริษัทเอกชนจะไม่สามารถทุจริต โกงภาษีของรัฐได้เลย หากไม่มีนักการเมืองและข้าราชการที่รู้ช่องกฎหมาย และระเบียบ เป็นอย่างดี มาเป็นผู้ช่วยเหลือด้วยการหาช่องโหว่ ของระเบียบ หรือขยายรูรั่วของกฎเกณฑ์ หรือช่วยบิดกฎระเบียบให้ผิดเพี้ยน และแนะนำเอกชนมาขอยกเว้นภาษี ผ่านการให้คำปรึกษา และการตีความกฎหมายแบบผิดๆ เพื่อให้เอกชนสามารถโกงภาษีรัฐ ใช่หรือไม่
รสนา โตสิตระกูล
15 ตุลาคม 2560