"เวทีสาธารณะเรื่องร่าง พ.ร.บ. บรรษัทวิสาหกิจของทีดีอาร์ไอเป็นงานวิชาการ หรือเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลกันแน่?!?"

"เวทีสาธารณะเรื่องร่าง พ.ร.บ. บรรษัทวิสาหกิจของทีดีอาร์ไอเป็นงานวิชาการ หรือเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลกันแน่?!?"

 

 

 

 


CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล

 

 


"เวทีสาธารณะเรื่องร่าง พ.ร.บ. บรรษัทวิสาหกิจของทีดีอาร์ไอเป็นงานวิชาการ หรือเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาลกันแน่?!?"

 

 

คำชี้แจงของทีดีอาร์ไอที่มีมาถึงดิฉันว่า "เราพยายามให้งานออกมาสมดุลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ เราอยากให้งานเสวนานี้มีข้อมูลเพิ่มเติมจากงานเสวนาหรือแถลงข่าวที่หลายฝ่ายจัด ซึ่งมีทั้งฝ่ายรัฐบาลที่มีแต่วิทยากรฝ่ายเห็นด้วย หรืองานที่ ม. รังสิต ที่หนักไปทางฝ่ายไม่เห็นด้วยครับ"

ดิฉันต้องขอชี้แจงว่าการจัดสัมนาเรื่องร่างพ.ร.บบรรษัทฯที่มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้จัดเชิญคุณเอกนิติ และกมธ.ในสนช.ที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้มาร่วมสัมนาด้วย แต่กรรมาธิการต้องการให้จัดเป็นเวทีปิด ซึ่งทางผู้จัดของมหาวิทยาลัยรังสิตไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรายการที่ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว แม้จะยินดีจัดช่วงหนึ่งเป็นเวทีปิดให้ แต่ทาง กมธ.ก็ปฏิเสธการเข้าร่วม

ที่จริงดิฉันเคยเสนอให้รัฐบาลจัดเวทีสาธารณะให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายเพราะเห็นจุดอ่อน และปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าวได้มีโอกาสซักถามประเด็นที่มีข้อกังวล สงสัยว่าจะเป็นการแปรรูปอำพรางหรือไม่ และขอให้คนที่รับผิดชอบร่างกฎหมายนี้มาตอบแต่ละประเด็นให้ชัดเจนเพื่อให้เป็นการสื่อสาร2ทาง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลของรัฐวิสาหกิจ ที่มาจากภาษีอากรของประชาชน จึงควรมีการรับฟังอย่างจริงจัง และใช้เวลาในการทำความเข้าใจ มิใช่รวบรัดตัดตอน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล ยิ่งทำให้สงสัยในการซ่อนเร้นอำพรางของร่างกฎหมายฉบับนี้

คนของทีดีอาร์ไอชี้แจงว่า
"เราเลยวางทัศนะของวิทยากรไว้ดังนี้ครับ
โดยเริ่มจากว่าทุกคนเห็นด้วยว่ารัฐวิสาหกิจต้องมีการปฏิรูปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง" อันที่จริงดิฉันเชื่อว่าประเด็นเรื่องการปฏิรูปนั้นทุกคนเห็นด้วย แต่ประเด็นสำคัญคือแนวทางการ"ปฏิรูป" ที่ว่านั้น ยังมีความเห็นต่างที่ควรได้รับฟังการถกเถียงถึงผลดี ผลเสียอย่างตรงไปตรงมา กล่าวคือแนวทางการปฏิรูป2แนวทางที่แตกต่างกัน คือ

1)การปฏิรูปโดยคงพันธกิจ(Mission) ของความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ หรือ2)เปลี่ยนพันธกิจของรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นวิสาหกิจของเอกชน ที่ทำกำไรสูงสุดจากกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ

ประเด็นนี้ต่างหาก ที่ยังไม่มีการชี้แจงให้ชัดเจนจากฟากของรัฐบาลและผู้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้

ในฐานะสถาบันทางวิชาการ ทีดีอาร์ไอจึงควรมองอย่างวิเคราะห์ว่า แนวคิดเรื่อง"ปฏิรูป"นั้นมีมากกว่า1แนวทางใช่หรือไม่ มิควรตีขลุมว่าเมื่อพูดถึงการปฏิรูปแล้วคือเป็นแนวทางเดียวกัน และเลือกวิทยากรที่อาจจะค้านเพียงบางประเด็น แต่อาจจะเห็นร่วมด้วยในแนวทางใหญ่คือการแปรรูปกิจการให้เป็นเอกชนก็เป็นได้

หากมองจากมุมนี้ ยังไม่รู้เลยว่าวิทยากรบนเวทีจะมีแนวคิดการ"ปฏิรูป"ที่แตกต่างกันหรือไม่ จึงไม่ควรทึกทักว่าบางท่านที่เคยทักท้วงร่างกฎหมายฉบับนี้ในบางประเด็นแล้ว จะจัดอยู่ในฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการ"ปฏิรูป"ที่เป็นการ"แปรรูป"หรือไม่

อย่างไรก็ตามวิทยากรหลักที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้อย่างชัดเจนก็มีถึง2ท่าน และท่านหนึ่งยังเป็นกรรมการของทีดีอาร์ไออีกด้วย นอกเหนือจากวิทยากรที่เป็นนักวิชาการอีก2ท่าน ซึ่งก็มีกรรมการของทีดีอาร์ไออีก1ท่าน งานนี้จึงเป็นการแสดงความโน้มเอียงในการเลือกวิทยากรของทีดีอาร์ไอไปโดยปริยาย

เวทีสาธารณะเชิงวิชาการ หากจะจัดให้เป็นวิชาการอย่างแท้จริง ควรมีการเสนอเนื้อหาลงลึกกว่าที่ผ่านมาในการชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสียของการปฏิรูป 2แนวทางที่แตกต่างกัน จึงจะมีเนื้อหาที่แตกต่างจากเวทีอื่นๆที่มีการพูดมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่แท้จริง ได้เห็นข้อเท็จจริงของแนวทางการปฏิรูป 2แนวทางที่แตกต่างกัน และมีผลดีผลเสีย ผลกระทบอย่างไรจากแต่ละแนวทาง

หากเข้าใจไม่ผิดว่าแนวคิดเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่เห็นว่าการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นกิจการของเอกชน เพื่อให้พ้นจากการครอบงำของรัฐและนักการเมืองนั้น เป็นแนวทางที่กรรมการหลายท่านในสถาบันทีดีอาร์ไอสมาทานอยู่นั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ควรได้รับการถกเถียงในทางการเมืองเสียก่อน หากจะนำไปกำหนดออกเป็นกฎหมายมาใช้บังคับเป็นทิศทางหลักของบ้านเมือง ไม่ควรที่รัฐบาลอำนาจพิเศษจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของตนมารวบรัดตัดสินเลือกแนวทางที่ดิฉันเห็นว่า ไม่ใช่การปฏิรูป แต่คือการแปรรูปแบบอำพรางซ่อนเร้นด้วยร่างกฎหมายฉบับนี้ต่างหาก

แนวคิดเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องการเห็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นกิจการของเอกชนนั้นควรเป็นนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมืองให้ชัดเจนไปเลย ถ้าประชาชนต้องการนโยบายแบบนี้จะได้ลงคะแนนเลือกพรรคที่ประกาศชัดเจนว่าจะแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชนให้หมดทั้ง100% เหมือนที่กรรมการของทีดีอาร์ไอเคยให้สัมภาษณ์ในสื่ออย่างชัดเจน แต่เป็นการลำเอียงหรือไม่ที่ทีดีอาร์ไอไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างในแนวทางการปฏิรูปที่ไม่ใช่การแปรรูปได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรหลัก

เวทีวิชาการควรมีการอภิปรายถึงข้อดี ข้อเสีย ตลอดจนผลกระทบจากแนวทางการปฏิรูป และการแปรรูปให้ชัดเจนไม่ใช่ทำแบบซ่อนเร้นอำพราง พูดแต่ด้านดีของกฎหมายแบบเทียมๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลมาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จรวบรัดผ่านกฎหมายโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะมีทัศนะแบบคุณพ่อรู้ดี ที่คิดว่าคนที่คัดค้านเป็นพวกไม่มีความรู้ หรือแปะป้ายว่าพวกคัดค้านเพราะกลัวตัวเองเสียผลประโยชน์ อะไรทำนองนี้ เป็นต้น

ดิฉันเห็นว่าร่างพ.ร.บบรรษัทวิสาหกิจนี้เป็นร่างกฎหมายที่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงควรมีการพิจารณากันในยุครัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง เพราะในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษ ชอบใช้แต่อำนาจเบ็ดเสร็จ ขาดความเคารพในรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า แม้รัฐธรรมนูญปัจจุบันประกาศใช้แล้วและมาตรา77 บัญญัติว่าก่อนการเสนอร่างกฎหมายใดๆให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังประชาชนให้รอบคอบเสียก่อน แต่รัฐบาลนี้ก็ยังเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสภาโดยไม่ดำเนินการตามมาตรา77 เลย

ดิฉันเห็นว่าทีดีอาร์ไอในฐานะสถาบันทางวิชาการไม่ควรแสดงความโน้มเอียงสนับสนุนการออกกฎหมายเช่นนี้ในยุคอำนาจพิเศษของคสช. ที่ปิดกั้นโอกาสประชาชนไม่ให้มีสิทธิแสดงความเห็นต่าง ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงที่แสดงเหตุและผลของการไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ ทั้งไม่มีโอกาสได้พูดผ่านสื่อกระแสหลักและไม่สามารถขอให้รัฐบาลตอบคำถามข้อกฎหมายที่มีปัญหาบนเวทีสาธารณะที่มีสื่อกระแสหลักรายงานการพูดคุยจากทั้งสองฝ่ายให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับฟังพร้อมกัน

การที่ทีดีอาร์ไอจัดเวทีที่มีวิทยากรเอียงข้างแบบนี้ คือมีวิทยากรฝ่ายสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ 2ท่านโดย1ท่านในนั้นเป็นกรรมการของทีดีอาร์ไอเองที่สนับสนุนอย่างสุดจิจสุดใจให้มีการแปรรูปกิจการของรัฐไปเป็นของเอกชนแบบ100% แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายก็อาจจะไม่เห็นด้วยเพียงบางประเด็นก็มีเพียง 1ท่าน ส่วนคนที่คัดค้านกฎหมายที่เห็นต่างในแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มุ่งไปในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น กลับไม่มีพื้นที่ให้มาแสดงความเห็นต่าง แล้วทีดีอาร์ไอจะอ้างว่าได้มีการจัดวิทยากรอย่างสมดุลแล้วได้อย่างไร

การจัดเวทีสาธารณะของทีดีอาร์ไอ จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเพียงเพื่อจะเปิดเวทีให้ผู้ร่างกฎหมายและผู้สนับสนุนร่างกฎหมายนี้มาอธิบายว่ากฎหมายนั้นมีข้อดีอย่างไร แต่ไม่มีอีกฝ่ายที่เห็นต่างในแนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมาแสดงความเห็นทั้ง2ด้านให้กับประชาชนได้พิจารณาด้วย

การจัดเวทีสาธารณะของทีดีอาร์ไอ อาจจะถูกมองไปได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีในการโฆษณาชวนเชื่อร่างกฎหมายฉบับนี้โดยอาศัยความเป็นสถาบันทางวิชาการมารับรองความน่าเชื่อถือของร่างกฎหมายนี้ ในยุคของรัฐบาลที่มิใช่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนใช่หรือไม่!?!

รสนา โตสิตระกูล
2 พ.ย 2560

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1475967255813166&id=236945323048705