“กรณีเอื้อเอกชนเลี่ยงภาษีน้ำมันเป็นแบบแผนเดียวกับคดีอดีตผู้บริหารกรมสรรพากรเอื้อเอกชนเลี่ยงภาษีหุ้นใช่หรือไม่?”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
“กรณีเอื้อเอกชนเลี่ยงภาษีน้ำมันเป็นแบบแผนเดียวกับคดีอดีตผู้บริหารกรมสรรพากรเอื้อเอกชนเลี่ยงภาษีหุ้นใช่หรือไม่?”
กรณีที่บริษัทเชฟรอน (ไทย)จำกัดทำหนังสือหารือสำนักกฎหมาย กรมศุลกากรว่าการส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะในไหล่ทวีปเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษีหรือเป็นการส่งออกที่ปลอดภาษีเมื่อปี 2554 นั้น กรมศุลกากรได้ตอบข้อหารือโดยอ้างว่าในพ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ไม่ได้นิยาม”ราชอาณาจักร”ไว้ จึงใช้หลักทั่วไปโดยอ้างการส่งสินค้าเกิน12ไมล์ทะเล ถือเป็นการส่งออก การที่พ.ร.บ ศุลกากรฯไม่นิยามคำว่า”ราชอาณาจักร”เพื่อให้ใช้ร่วมกับกฎหมายเฉพาะตามประเภทของสินค้านำเข้า หรือส่งออก และในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ได้นิยามไว้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหล่ทวีปเป็นราชอาณาจักร และในมาตรา70 ระบุชัดเจนว่าไม่ยกเว้นภาษีให้กับน้ำมันที่นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ
การตอบข้อหารือของ
กรมศุลกากรทำให้บริษัทเชฟรอนใช้เป็นยันต์คุ้มกันการนำน้ำมันดีเซลไปใช้ที่แท่นขุดเจาะแบบปลอดภาษีมาตั้งแต่ ปี 2554-2557
แต่ในการทำเอกสารสำแดงการส่งออก บริษัทเชฟรอน(ไทย)จำกัดสำแดงใบส่งออกน้ำมันไปยังเขตต่อเนื่อง ซึ่งการส่งน้ำมันไปเขตต่อเนื่องนั้นต้องนำน้ำมันปลอดภาษีไปขายให้เฉพาะเรือประมงที่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องเท่านั้น และเรือประมงต้องนำน้ำมันปลอดภาษีไปใช้จับปลานอกน่านน้ำไทยเท่านั้น แต่บริษัทเชฟรอน (ไทย)จำกัดนำน้ำมันปลอดภาษีมาขายต่อให้บริษัทเชฟรอนสำรวจและผลิต(เชฟรอนสผ.)จำกัดเพื่อนำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ จึงเป็นการสำแดงเอกสารส่งออกอันเป็นเท็จ ใช่หรือไม่
กรณีนี้มาแดงขึ้นเพราะบริษัทเชฟรอนสผ.ที่ซื้อน้ำมันปลอดภาษีจากบริษัทเชฟรอน(ไทย)ไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ได้นำน้ำมันเขียวที่เป็นน้ำมันปลอดภาษีมาใช้กับเรือบริการในการรับส่งคนและอุปกรณ์ของบริษัทในอ่าวไทย ซึ่งเป็นการใช้น้ำมันอย่างผิดกฎหมาย และเมื่อถูกนายด่านที่สงขลาจับน้ำมันเถื่อนได้1.6ล้านลิตร มูลค่า48ล้านบาท ในเดือนก.พ 2557 เชฟรอนสผ.ยอมระงับคดีกับด่านสงขลาโดยยอมให้ยึดน้ำมันเถื่อนดังกล่าว
จากกรณีจับน้ำมันเถื่อนครั้งนี้ ทำให้กรมศุลกากรบอกให้บริษัทเชฟรอน(ไทย)กลับไปซื้อน้ำมันแบบการค้าชายฝั่งคือยอมเสียภาษีไปก่อนระหว่างปี2557-2558
ต่อมาบริษัทเชฟรอนไทยกลับไปหารือกรมศุลกากรอีกครั้งในต้นปี2558 ว่าการนำน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการส่งออกหรือการค้าชายฝั่งกันแน่ และบริษัทเชฟรอน(ไทย)ได้รับคำตอบข้อหารือในวันที่ 9 เม.ย 2558จากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากรว่า “การส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะที่ห่างจากชายฝั่งเกิน12ไมล์ทะเลถือเป็นการส่งออก ไม่ใช่การค้าชายฝั่ง”(ดูเอกสาร)
การตอบข้อหารือของผ.อ สำนักกฎหมายแทนรองอธิบดีปฏิราชการแทนอธิบดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบเนื่องจากในระเบียบคำสั่งของกรมศุลกากร ไม่มีระเบียบให้รองอธิบดีซึ่งปฏิบัติราชการแทนอธิบดีสามารถมอบอำนาจต่อได้
การตอบข้อหารือดังกล่าวครั้งที่2 ทำให้บริษัทเชฟรอน(ไทย)กลับมาซื้อน้ำมันโดยไม่เสียภาษีอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 - ตุลาคม2559 แต่ครั้งนี้บริษัทเชฟรอน(ไทย)ได้สำแดงใบส่งออกไปยังนอกราชอาณาจักรโดยไม่ระบุประเทศปลายทาง แต่ก็ยังนำไปขายให้แท่นขุดเจาะใช้เช่นเดิม ซึ่งก็เป็นการสำแดงการส่งออกอันเป็นเท็จ ใช่หรือไม่
เรื่องนี้มาถูกเปิดโปงอีกครั้ง เพราะข้าราชการในกรมศุลกากรเห็นว่าไม่ถูกต้อง เมื่อสื่อลงข่าวการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทเชฟรอนว่ามีมูลค่าราว3พันล้านบาท ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างและผู้ว่าสตง.ก็มาออกโรงให้มีการจ่ายภาษีให้ถูกต้อง แต่กรมศุลกากรไม่ฟังความเห็นสตง.ยังยื้อจะส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยก่อน ในที่สุดคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ได้รับเรื่องและวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า “การส่งน้ำมันไปใช้ที่แท่นขุดเจาะเป็นการค้าชายฝั่งที่ต้องเสียภาษี”
จากคำให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมสรรพสามิตเมื่อวันที่12 พ.ย.2560ว่าบริษัทเชฟรอน(ไทย)มาจ่ายภาษีแล้วในเดือนมีนาคม 2560 แต่ไม่มีการรายงานว่ามีการเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากบริษัทเชฟรอนหรือไม่
เมื่อบริษัทเชฟรอนยอมจำนนด้วยหลักฐานจึงยอมจ่ายคืนภาษีที่ได้ยกเว้นไปก่อนหน้านั้น แต่ทราบข่าววงในมาว่าผู้บริหารและข้าราชการในกรมศุลกากรยังมีการช่วยเหลือบริษัทด้วยการยกเลิกใบขนที่เป็นเอกสารสำแดงการส่งออกอันเป็นเท็จ ซึ่งได้รับการตรวจปล่อย และนำไปยกเว้นภาษีไปแล้วตั้งแต่ปี2554-2557 และอีกช่วงคือปี 2558-2559 เอกสารเหล่านั้นตามกฎหมายไม่สามารถยกเลิกได้ ต้องเอามาทำการปรับบริษัทเอกชนที่หลบเลี่ยงภาษีเสียก่อน ซึ่งตามกฎหมายมีโทษปรับ4เท่าของมูลค่าสินค้า ใช่หรือไม่
หากข่าวที่เล็ดลอดออกมาว่ามีการยกเลิกเอกสารใบสำแดงการส่งออกเป็นเท็จเป็นเรื่องจริง ซึ่งเป็นเอกสารที่ยกเลิกไม่ได้ดังคำพิพากษาฎีกาที่476/2492 ที่ตัดสินว่าเมื่อผู้ส่งของออกนอกราชอาณาจักรได้ยื่นใบส่งสินค้าแล้ว เสียภาษีแล้ว แต่ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนอัตราภาษีใหม่”เจ้าหน้าที่ก็หามีอำนาจเพิกถอนใบขนสินค้าที่ออกไปโดยครบถ้วนถูกต้องแล้วนั้นไม่”(ดูเอกสาร)
ดังนั้นหากข่าวที่ว่ามีการยกเลิกใบขน ก็เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทให้เสียแค่ภาษีน้ำมัน แต่ไม่ต้องเสียค่าปรับที่ได้สำแดงใบส่งออกเป็นเท็จ และข้าราชการที่กล้าทำผิดได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งนั้นเป็นเรื่องจริง ต้องถือว่ามีการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยทุจริตผิดมาตรา157 ของประมวลกฎหมายอาญา ใช่หรือไม่
กรณีที่ข้าราชการในกรมศุลกากรที่ให้คำปรึกษากับบริษัทเอกชนหลบเลี่ยงภาษี และการยกเลิกเอกสารใบขนย่อมเข้าข่ายมีความผิดเช่นเดียวกับกรณีของอดีตผู้บริหารกรมสรรพากรที่ตอบข้อหารือเอกชนให้หลบเลี่ยงการเสียภาษีในการซื้อขายหุ้น และน่าจะร้ายแรงกว่าเพราะมีพฤติกรรมทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก หากไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้นมา การหลีกเลี่ยงภาษีก็จะยังคงทำต่อเนื่องไปอีกไม่มีกำหนด และรัฐย่อมได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล
การทุจริตของเอกชนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการช่วยเหลือจากข้าราชการ และผู้มีอำนาจ ใช่หรือไม่
จึงขอเรียกร้องท่านนายกฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนโดยเร่งด่วนเอาผิดข้าราชการที่ประพฤติชั่วเหล่านี้เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการอื่นต่อไป และต้องสอบสวนเอาผิดเอกชนโดยให้เสียค่าปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อเอกชนรายอื่นที่จะทำผิดเช่นกรณีนี้อีกต่อไปด้วย
กรณีดังกล่าวสมควรที่ปปช.จะยกเรื่องขึ้นมาตรวจสอบโดยไม่ต้องรอให้มีการร้องเรียน เพราะเป็นกรณีที่มีลักษณะแบบเดียวกับคดีที่อดีตผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรที่ให้คำแนะนำเอกชนไม่เสียภาษีในการซื้อขายหุ้น ที่ปปช.ได้ส่งฟ้องศาลและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาจำคุกอดีตข้าราชการดังกล่าวแล้วเป็นเวลา3ปีโดยไม่รอลงอาญา
รสนา โตสิตระกูล
15 พ.ย 2560