ไซดา มูนา ทาสนีม “ผู้หญิงวันนี้เสมอภาค”

ไซดา มูนา ทาสนีม “ผู้หญิงวันนี้เสมอภาค”

 

 

 

CHANGE Agent  นันทยา เนื่องนิยม

 

เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย

ไซดา มูนา ทาสนีม  “ผู้หญิงวันนี้เสมอภาค”

 

ภายหลังที่ ไซดา มูนา ทาสนีม  (Ms.Saida Muna Tasneem)  เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เข้าพบปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) เพื่อหารือประเด็นด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ในงาน “Bangladesh Trade and Investment Conference 2016” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

นางสาวชุติมา เปิดเผยว่า ไทยและบังกลาเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน  และในปี 2559 นี้  ไทยและบังกลาเทศได้ตั้งเป้าที่จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ถึง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  นอกจากนี้  ฝ่ายไทยได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 4 ที่บังกลาเทศจะเป็นเจ้าภาพ  เพื่อหารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกัน  ในส่วนของ MOU ว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบังกลาเทศที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น ไทยยินดีหากบังกลาเทศจะต่ออายุ MOU ฉบับดังกล่าว แต่ต้องหารือกันในรายละเอียดเพื่อให้ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น

ด้าน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ  กล่าวด้วยว่า ฝ่ายบังกลาเทศจะมีการจัดงานแสดงสินค้าภายใต้ชื่อ “Bangladesh Trade and Investment Conference 2016” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ซึ่งภายในงาน  จะมีการสัมมนาในหัวข้อต่างๆ ด้านการค้าและการลงทุนที่กำลังอยู่ในความสนใจ รวมทั้งงานแสดงสินค้าจากบังกลาเทศ โดยผู้ประกอบการจากบังกลาเทศกว่า 50 บริษัท  ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยินดีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักธุรกิจไทยและประชาชนไปเข้าร่วมชมงานและอุดหนุนสินค้าของบังกลาเทศ

ทั้งนี้ บังกลาเทศเป็นคู่ค้าในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและปากีสถาน   ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมานี้  การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 965.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2558 การค้ารวมมีมูลค่า 902.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.2 ของการค้ารวมของไทย  สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังบังกลาเทศมาก อาทิ เม็ดพลาสติก  ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ปูนซิเมนต์ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนสินค้านำเข้าจากบังกลาเทศที่สำคัญ อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ประมง  สิ่งทอ เนื้อสัตว์ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ผักและผลไม้ ด้ายและเส้นใย และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

“ดิฉันอยากให้คนไทยได้ดูผ้าของบังคลาเทศเป็นยังไง โดยมีความเบา และใส่สบาย เป็นผ้าคอตตอน ที่จะมีการทอให้ดูภายในงานที่อยากให้เห็นว่าผ้ามีความแตกต่างจากไทยอย่างไร  เราใส่ผ้าแบบนี้ทุกวัน ซึ่งจะแตกต่างจากไทยที่จะแต่งชุดไทยเฉพาะวันสำคัญๆ  แม้ดิฉันจะเป็นคนสมัยใหม่ แต่ก็ยังใช้ผ้าพื้นเมืองของบังคลาเทศ ที่เป็นชุดประจำชาติ  เราไม่รู้สึกอาย แต่รู้สึกภูมิใจมากกว่า  ผ้าไหมของไทยก็สวย เพราะที่ผ่านมาเราเห็น  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จไปต่างประเทศพระองค์จะใส่ผ้าไหมตลอดเลย ท่านจะใส่เพื่ออนุรักษ์และพระองค์ก็สวยมาก

“เมื่อครั้งไปเข้าเฝ้า  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่อัมพรสถาน ก็จะเห็นภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ก็ใส่ชุดผ้าไหมทั้งหมดดิฉันเห็นแล้วสวยมาก  ดิฉันเลยติดต่อไปยังสำนักพระราชวังแล้วถามว่า มีชุดฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมที่หาซื้อได้ที่ไหน คำตอบคือไม่ได้  เพราะดิฉันเห็นว่าในสมัยที่เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ก็ได้มีการนำชุดออกประมูลเป็นการกุศล ดิฉันก็คิดว่าการอนุรักษ์ผ้าไทยไว้เป็นเรื่องที่ดีมาก  ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้เกิดมิตรภาพระหว่างไทยกับบังคลาเทศ และทุกคนที่มาร่วมงานก็จะได้รู้จักวิธีการทอผ้าของชาวบังคลาเทศ แม้วันนี้ทุกอย่างจะทันสมัย แต่ดิฉันก็ยังอนุรักษ์ผ้าของบังคลาเทศ”

ไซดา มูนา ทาสนีม สำเร็จปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเทคโนโลยีบังกลาเทศ ปริญญาโทสาขานโยบายสาธารณะและการจัดการ วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ เคยเป็นอดีตอธิบดีกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งยังเคยเป็นทูตถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และเป็นอดีตเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน กระทั่งวันที่ 17 ก.ค.2557  ถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตบังกลาเทศประจำประเทศไทย

ก่อนจบการสนทนา “ไซดา มูนา ทาสนีม”  กล่าวทิ้งท้ายถึงบทบาทผู้หญิงในบังคลาเทศ “วันนี้ดิฉันอยากจะบอกว่าบังคลาเทศระหว่างผู้ชายและผู้หญิงมีความเท่าเทียมกัน เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน  ผู้นำรัฐสภาก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน เรียกว่าผู้หญิงในบังคลาเทศก็มีบทบาททางสังคมอย่างเท่าเทียมเช่นกัน”