สักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ณ ท้องสนามหลวง
สักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว ณ ท้องสนามหลวง อัญเชิญมาถึงประเทศไทยวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ร่วมกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ พระเขี้ยวแก้วจากวัดหลิงกวง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานที่ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน
โดยจะเปิดให้ประชาชนสักการะระหว่าง วันที่ 4 ธ.ค. 2567-14 ก.พ.2568 เป็นเวลา 73 วัน ณ ท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 07.00 - 20.00 น. และจะอัญเชิญกลับประเทศจีน ในวันที่ 15 ก.พ.2568
ทั้งนี้ พิธีสักการะจะมีขึ้นทุกวันแบ่งเป็น พิธีเจริญพระพุทธมนต์ช่วงเช้า เวลา 10.00 น. – 12.00 น. และช่วงเย็น เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป และพิธีเจริญจิตตภาวนาซึ่งจะมีขึ้นทุกวันพระ
ชมคลิปประวัติพระเขี้ยวแก้ว
https://youtu.be/bR56Y3DKvek?feature=shared
ความเป็นมาของ “พระเขี้ยวแก้ว” ที่มีเพียง 2 องค์ในโลก พระเขี้ยวแก้ว คือพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี มีการกล่าวถึง “มหาปุริสลักขณะ” หรือผู้ที่เกิดมามีลักษณะพิเศษของบุคคลสำคัญไว้ มีระบุถึงลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของมหาบุรุษว่า “เขี้ยวทั้งสี่งามบริสุทธิ์” และมีความเชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ด้วยกัน
แล้วเหตุใดพระเขี้ยวแก้วจึงมีเพียง 2 องค์ในโลก? เพราะเชื่อกันว่าพระเขี้ยวแก้วอีก 2 องค์ ได้ประดิษฐาน อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และที่ภพพญานาค แห่งละ 1 องค์นั่นเอง ส่วนพระเขี้ยวแก้วที่ประดิษฐานอยู่บนโลกนั้นมีอยู่ 2 องค์ ได้แก่ องค์ที่ 1 พระเขี้ยวแก้วที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ที่ศรีลังกา เรียกกันว่า พระเขี้ยวแก้วศรีลังกา
สำหรับพระเขี้ยวแก้วศรีลังกา มีที่มาความเชื่อจากคัมภีร์มหาวงศ์ ที่บันทึกถึงการมาเยือนศรีลังกาของพระพุทธเจ้าเอาไว้ 3 ครั้ง ถือเป็นรากฐานศาสนาพุทธมาจนถึงปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วที่เป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้าจึงเชื่อกันว่า หากผู้ใดครอบครองจะเป็นผู้มีอำนาจดุจราชา ด้วยเหตุนี้ พระเขี้ยวแก้วศรีลังกาจึงประดิษฐานอยู่ประเทศศรีลังกามายาวนานกว่า 1,700 ปี และมีผู้คนเข้ามาสักการะอยู่เสมอ และไม่เคยถูกนำไปประดิษฐานที่อื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว
องค์ที่ 2 พระเขี้ยวแก้วที่วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน วัดที่มีความเป็นมาอันยาวนานกว่า 1,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1955 ภายในเจดีย์โบราณใกล้เมืองซีอาน ก่อนนำมาประดิษฐานวัดหลินกวง และมีการอัญเชิญไปประดิษฐานในประเทศต่าง ๆ มาแล้ว 16 ครั้ง
โดยประเทศไทยเคยได้ประดิษฐานครั้งแรกเมื่อปี 2545 ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์สำคัญอันเป็นสิริมงคลหนึ่งของประเทศไทย ในส่วนของพระเขี้ยวแก้วจากวัดหลิงกวง เชื่อกันว่า ผู้คนต่างมองเห็นพระเขี้ยวแก้วในลักษณะและสีที่แตกต่างกัน บางคนเห็นเป็นสีทองล้วน บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วนหรือขาวหม่น ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พระเขี้ยวแก้วถือเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเดิม เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาและการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
#มูลนิธิธรรมดี Line @dfoundation