ผอ.ใหม่ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าพัฒนาเป็นห้องสมุดทุกที่ ทุกเวลา (Library Everywhere, Library Every Time) เน้น สะดวก ครบครัน ทันสมัย

ผอ.ใหม่ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าพัฒนาเป็นห้องสมุดทุกที่ ทุกเวลา (Library Everywhere, Library Every Time) เน้น สะดวก ครบครัน ทันสมัย

 

 

 

ผอ.ใหม่ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าพัฒนาเป็นห้องสมุดทุกที่ ทุกเวลา (Library Everywhere, Library Every Time) เน้น สะดวก ครบครัน ทันสมัย





มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอกรินทร์ ยลระบิล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารคนใหม่ที่มาพร้อมแนวคิดในการพัฒนาห้องสมุดสู่องค์กรเพื่อการเรียนรู้แนวใหม่ เดินหน้าสานต่อนโยบาย “ห้องสมุดทุกที่ ทุกเวลา 
( Library Everywhere Library Every Time) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา สร้างความสะดวก เพิ่มรวดเร็วในการให้บริการมากยิ่งขึ้น” ผลักดันสู่ “สังคมแห่งการเรียนรู้แนวใหม่” 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอกรินทร์ ยลระบิล เกี่ยวข้องกับหอสมุดแห่งนี้มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ในฐานะผู้ใช้ห้องสมุด ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา มาจนถึงปัจจุบันในฐานะอาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารการปฏิบัติการ (Operations Management) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และล่าสุดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประสบการณ์คร่ำหวอดในด้านการบริหาร โดยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญหลายอย่าง อาทิ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโทด้านการจัดการ (MBA Thammasat) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่มการจัดสอบ SMART ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบด้านการจัดการแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (SMART Center@Thammasat) 




หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีห้องสมุดสาขาที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบถึง 9 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้ฯ อีก 1 แห่ง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหอสมุดฯ ได้ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนการเรียนการสอน การทำวิจัยของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้พัฒนานวัตกรรมบริการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับบริการ ซึ่งการเข้ามาบริหารห้องสมุดในครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการจัดการ และการปรับปรุงกระบวนการในการทำงาน ผลักดันการพัฒนาระบบการจัดการองค์กร และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 
เพราะต้องยอมรับว่าสิ่งสำคัญของหน่วยบริการในยุคปัจจุบัน คือ การเพิ่ม “ความสะดวก” ให้กับผู้รับบริการ 

ทางด้านนโยบายของห้องสมุด เน้นสนับสนุนงานของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของการทำให้สังคมธรรมศาสตร์ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้แบบใหม่ (Active Learning) ด้วยการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ให้นักศึกษาได้ค้นคว้าเพิ่มเติมความรู้ให้กับตนเองมากกว่าการเรียนในห้องเรียน หรือการฟังบรรยายจากอาจารย์ผู้สอนเพียงอย่างเดียว รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมบริการเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการห้องสมุดต่างๆ ให้แก่ประชาคมธรรมศาสตร์เพื่อสนับสนุนการเป็น ธรรมศาสตร์ทุกที่ ธรรมศาสตร์ทุกเวลา (Thammasat Everywhere Thammasat Every Time)

“หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็น Library Everywhere Library Every Time เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา สร้างความสะดวก เพิ่มรวดเร็วในการให้บริการมากยิ่งขึ้น” 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอกรินทร์ เริ่มต้นด้วยการสานต่อการขยายความร่วมมือกับห้องสมุด และหน่วยงานต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทรัพยากรสารสนเทศระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการให้บริการยืมระหว่างห้องสมุดออนไลน์กับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนแล้วถึง 8 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งบริการดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้รับบริการ 

การสร้างความร่วมมือดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในเรื่องการลดต้นทุนด้านการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการบอกรับฐานข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย และค่าทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่งบประมาณที่ห้องสมุดได้รับค่อนข้างจำกัด และไม่เพียงพอต่อการบอกรับฐานข้อมูลที่มีความจำเป็นได้ครบถ้วน 

“ขณะนี้หอสมุดฯ เริ่มศึกษาข้อมูลเพื่อหาโมเดลที่เหมาะสม สำหรับการบริหารจัดการงบประมาณที่มีจำกัดเพื่อการบอกรับฐานข้อมูลและการจัดหาการทรัพยากรสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การวิเคราะห์มูลค่าของฐานข้อมูลออนไลน์ที่มีการบอกรับอยู่ในปัจจุบัน รูปแบบการสร้างความร่วมมือระหว่างห้องสมุดเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในการบอกรับฐานข้อมูล และการเจรจาทางการค้ากับตัวแทนจำหน่ายฐานข้อมูลต่างๆ เป็นต้น เชื่อว่าในอนาคตจะทำให้การใช้งบประมาณด้านการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดเป็นไปอย่างคุ้มค่า 

สุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือบุคลากรห้องสมุด เนื่องจากงานห้องสมุดเป็นงานบริการ Service Mind จึงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งการที่จะทำให้บุคลากรมี Service Mind ได้ ก็คงต้องเอาใจใส่ดูแลให้เขามีความสุขกับตัวงาน สุขกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน สุขกับสวัสดิการที่เหมาะสม ผมเชื่อว่า บุคลากรผู้ให้บริการมีความสุข ผู้รับบริการก็จะมีความสุข” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เอกรินทร์ กล่าว