บ้านปูฯ และมหิดลจัด “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 10”

บ้านปูฯ และมหิดลจัด “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 10”

 

 

 

  

บ้านปูฯ และมหิดลจัด “ค่ายเพาเวอร์กรีน ปีที่ 10”

สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เรียนรู้ “ความหลากหลายทางชีวภาพ”

พร้อมประกาศผลโครงงานชนะเลิศ ก่อนส่งเยาวชนผลงานดีเด่นไปทัศนศึกษา ณ ประเทศอินโดนีเซีย

 

 

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (แถวหน้า ที่ 2 จากขวา)

และ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 10 (แถวหน้า ขวาสุด) กับทีมเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1
กับโครงงาน “หญ้าคาพาร่มเย็น” ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาเส้นใยธรรมชาติจากหญ้าคาและยางพาราเป็นฉนวนกันความร้อนแทนใยแก้ว
โดยใช้เกล็ดมุกที่ได้จากเปลือกหอยแมลงภู่มาเคลือบเพื่อสะท้อนความร้อน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งใน 20 อันดับแรกของโลกที่ยังคงมีผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่เกื้อหนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีเยาวชนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะผลักดันการพัฒนาประเทศต่อไปได้อย่างยั่งยืน  ดังนั้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกันจัดโครงการค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ “ค่ายเพาเวอร์กรีน” ปีที่ 10  ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายทางชีวภาพ กับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน” (Biodiversity for Environmental Development and Sustainability) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 สายวิทยาศาสตร์ รวม 70 คนจากทั่วประเทศ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการ “เรียนรู้สู่การปฏิบัติ” พร้อมไฮไลต์กิจกรรมการเดินป่าและสำรวจความหลากหลายของพืชและสัตว์จากภูเขาถึงทะเล ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี

 

นางอุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-องค์กรสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บ้านปูฯ เชื่อว่าการเรียนรู้เป็นพลังสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ดังนั้น การให้โอกาสเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในหลากหลายรูปแบบจะเป็นการขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในหัวข้อเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานการดำเนินธุรกิจของเราที่ว่า “อุตสาหกรรมที่ดีจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม” ดังจะเห็นได้จากโครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่เหมืองบารินโตและเหมืองอินโดมินโค ภายใต้การดูแลของ บริษัท PT.Indo Tambangraya Megah (ITM) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบ้านปูฯ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ตั้งแต่การเริ่มทำแผนการทำเหมือง เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ระหว่างและหลังการทำเหมือง และสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป”

 

รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 10 อธิบายว่า “โครงการค่ายเพาเวอร์กรีน 10 ส่งเสริมการเรียนรู้รอบด้านที่ไม่จำกัดอยู่เพียงทฤษฎีในห้องเรียนเท่านั้น แต่มุ่งให้เยาวชนสามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และนำมาปฏิบัติจริง ด้วยการลงพื้นที่เดินป่าและสำรวจความหลากหลายของพืชและสัตว์จากภูเขาถึงทะเล ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ และศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จังหวัดชลบุรี  ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้กับไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอุดมสมบูรณ์มากที่สุดในโลก”

 

หลังจากได้ร่วมเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 8 วันในค่าย เยาวชนทั้ง 70 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ก็ได้จัดแสดงนิทรรศการโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมต่อคณะกรรมการโครงการและประชาชนทั่วไป โดยได้รับทุนการศึกษารวมกว่า 30,000 บาท  ซึ่งหลังจากนี้ คณะกรรมการจะทำการคัดเลือกเยาวชนที่มีผลงานดีเด่นไปทัศนศึกษาเพื่อเจาะลึกเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2559 เพื่อเป็นการต่อยอดประสบการณ์การเรียนรู้ของเยาวชนไทยให้กว้างขึ้นต่อไป

 

สำหรับโครงงานกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในปีนี้ ได้รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท คือ โครงงานวิทยาศาสตร์ “หญ้าคาพาร่มเย็น” ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาเส้นใยธรรมชาติจากหญ้าคาและยางพาราเป็นฉนวนกันความร้อนแทนใยแก้ว โดยใช้เกล็ดมุกที่ได้จากเปลือกหอยแมลงภู่มาเคลือบเพื่อสะท้อนความร้อน เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยโครงงานดังกล่าวมีความโดดเด่นในการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพมาช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศในเชิงอนุรักษ์ ด้วยการหยิบยกประเด็นด้านภูมิอากาศของประเทศมาเป็นโจทย์ และนำวัชพืชและสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะมาใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างชาญฉลาด   

 

นางสาวธิรดา นิลพนาพรรณ หรือ กีกี้ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4  จากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร ในฐานะตัวแทนโครงงานกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ กล่าวถึงแรงบันดาลใจของโครงงานว่า “เนื่องจากพวกเราอาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศร้อน บ้านทุกหลังจึงจำเป็นต้องมีฉนวนกันความร้อน หลังจากที่เราได้ศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะในประเทศไทย จึงเกิดความคิดนำหญ้าคาซึ่งเป็นวัชพืชที่มีคุณสมบัติทนต่อความร้อนและแสงแดดได้ดีและหาพบได้ทั่วไปตามที่รกร้าง มาพัฒนาต่อยอดร่วมกับวัสดุที่หาได้ง่ายในภูมิภาคนี้และมีราคาถูกอย่างยางพารา กรดน้ำส้มยาง และสารสกัดสีเกล็ดมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยสะท้อนความร้อนได้ดี จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ สร้างสรรค์ขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนเพื่อทดแทนใยแก้วที่ใช้กันอยู่ เพิ่มทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคและช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอีกด้วย”

 

“จนถึงวันนี้ นับเป็นปีที่ 10 ที่ค่ายเพาเวอร์กรีนได้สร้างเครือข่ายเยาวชนที่ใส่ใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่า 700 คน ทั่วประเทศ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีที่ 10 นี้เราจะได้เห็นผลงานคุณภาพของเยาวชนที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์และการพัฒนาที่ยั่งยืนของคนไทยและสังคมไทยในอนาคต” นางอุดมลักษณ์ กล่าวปิดท้าย

 

###

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

วลัยสมร ผึ้งน้อย   02.627.3501 ต่อ 222
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
พริมา ผู้พัฒน์   02.627.3501 ต่อ 204

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

รินทร์ลิตา  ศรีโรจนภิญโญ    02.694.6892
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

กัญขจี มี้เจริญ    02.694.6786

This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.